ประชามติที่ชายแดนใต้ ปัตตานีไม่คึกคัก-ยังไม่เห็นร่างรัฐธรรมนูญ

ภูมิภาค
17 ก.ค. 59
19:39
629
Logo Thai PBS
ประชามติที่ชายแดนใต้ ปัตตานีไม่คึกคัก-ยังไม่เห็นร่างรัฐธรรมนูญ
นับถอยหลังอีกเพียง 20 กว่าวันก่อนการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 7 ส.ค.2559 ชาวปัตตานีจำนวนไม่น้อย--ตั้งแต่โต๊ะครู คนกรีดยาง นักธุรกิจในเมืองปัตตานีไปจนถึงนักกิจกรรมภาคประชาสังคม บอกว่าพวกเขายังไม่เคยได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ

"คนที่ปัตตานีส่วนใหญ่รู้แค่ว่าวันที่ 7 ส.ค.จะมีการลงประชามติ และชาวบ้านก็ไม่ค่อยได้สนใจเรื่องนี้" นายลุกมัน ชาวสวนยางใน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เล่าถึงบรรยากาศโค้งสุดท้ายก่อนการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559

"ส่วนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บอกว่าจะจัดพิมพ์ก็ไม่เคยเห็น ไม่เห็นมีใครเอามาแจก ที่ผ่านมาก็อาศัยฟังจากข่าว"

ลุกมันบอกว่าเขายังไม่ตัดสินใจว่าจะไปออกเสียงลงประชามติหรือไม่ "ถ้าไม่ไปลงประชามติแล้วไม่เสียสิทธิ์ก็คิดว่าจะไม่ไป เพราะคิดว่าไม่ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็มีผลเท่ากันคือรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คงจะต้องอยู่ในอำนาจต่อไปอีกระยะหนึ่ง"

โต๊ะครูวัย 47 ปี เจ้าของโรงเรียนปอเนาะแห่งหนึ่งใน ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี บอกเช่นกันว่าเขายังไม่เคยได้รับแจกเอกสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โต๊ะครูบอกด้วยว่าหากไม่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญก็คงจะตัดสินใจไม่ได้ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

"เหมือนคนจะรักกันก็ต้องรู้จักกันก่อน จะรับร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องรู้เนื้อหาก่อน นี่เรายังไม่รู้เนื้อหาเลย เขาพิมพ์แจกด้วยหรือ ทำไมโต๊ะครูไม่ได้รับ แสดงว่าแจกไม่ทั่วถึง จริงๆ แล้ว เจ้าหน้าที่อำเภอ ปลัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้านต้องเอามาแจกประชาชนนะ นี่ไม่มีเลย ช่วงที่ผ่านมากำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็มาคุยกันบ่อยๆ แต่ไม่เคยมีใครเอาร่างรัฐธรรมนูญมาให้" โต๊ะครูกล่าว

ก่อนหน้านี้ กกต.ระบุว่า เอกสารร่างรัฐธรรมนูญที่จะแจกจ่ายให้ประชาชนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม 1.2 ล้านฉบับ 2. สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 6 ล้านฉบับ และ 3.ย่อสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแนบส่งให้เจ้าบ้าน 17 ล้านฉบับ ซึ่งจัดพิมพ์เป็น 4 สีแจกทุกครัวเรือน

นอกจากครูสอนศาสนาและชาวบ้านที่อยู่นอกเมืองแล้ว กลุ่มนักธุรกิจในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีบอกกับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" เช่นกันว่ายังไม่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ

นายอติชาติ สุวรรณสุข อายุ 50 นักธุรกิจ บอกว่าทราบข่าวว่า กกต.พิมพ์สรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มแจกหลายล้านเล่ม แต่เขาเองยังไม่เคยเห็นเอกสารเหล่านั้นเลย

"ผมไปใช้สิทธิ์อยู่แล้ว ส่วนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญตอนนี้ก็ฟังจากการวิเคราะห์ในสื่อเพื่อประกอบการตัดสินใจ" นายอติชาติกล่าว

นายจำลอง บุญรอดชู อายุ 47 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัวในเทศบาลเมืองปัตตานีบอกว่าเขา "รู้สึกเฉยๆ" กับการลงประชามติที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ส.ค.นี้ "ถ้าไม่ติดธุระอะไรก็คงไปลงประชามติ เราค้าขายอยู่ที่นี่ก็อยากจะมีส่วนร่วมแสดงความเห็นเหมือนกัน"

ด้านนายแวอิสมาแอ แนแซ ผู้อำนวยการวิทยาลัยประชาชน ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการสร้างองค์ความรู้ทางการเมืองและกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่าภาคประชาสังคมใน จ.ปัตตานี ให้ความสนใจร่างรัฐธรรมนูญเฉพาะบางประเด็นที่อาจส่งผลกระทบ อย่างเช่น กลุ่มนักการศึกษาแสดงความกังวลต่อมาตรา 54 ของร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุว่ารัฐจะดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี แทนที่จะสนับสนุนจนจบชั้นมัธยมปลาย ซึ่งจะทำให้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเดือดร้อนมากเพราะจะทำให้ขาดงบประมาณสนับสนุนที่เคยได้รับ 

                   แวอิสมาแอ แนแซ ผู้อำนวยการวิทยาลัยประชาชน

"เยาวชนร้อยละ 80 ใน จ.ปัตตานี เรียนที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม มีแค่ร้อยละ 20 ที่เรียนโรงเรียนประถมและมัธยมของรัฐ ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามขยายตัวมากขึ้น สอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมปลาย เพราะโรงเรียนเหล่านี้ตอบโจทย์การเรียนทั้งศาสนวิถีและสายสามัญได้ เพราะฉะนั้นถ้าตัดงบประมาณ ก็กังวลว่าจะกระทบต่อการศึกษาในพื้นที่" นายแวอิสมาแอให้ความเห็น

นายแวอิสมาแอกล่าวว่า นอกจากเรื่องวัน-เวลาลงประชามติแล้ว ประชาชนใน จ.ปัตตานี ได้รับข้อมูลอย่างอื่นน้อยมาก โดยเฉพาะเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่างจากการลงประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีการส่งร่างรัฐธรรมนูญไปให้ทุกบ้าน

บรรยากาศก่อนการทำประชามติก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไม่ค่อยกระตือรือกับการลงประชามติในครั้งนี้

"ถ้าเทียบกับการลงประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 บรรยากาศการลงประชามติครั้งนี้แตกต่างกันมาก ในครั้งนั้นมีการจัดเวทีในมหาวิทยาลัยและในหมู่บ้านให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การปกครองพื้นที่พิเศษ แต่บรรยากาศนั้นไม่เกิดขึ้นในตอนนี้ คนปัตตานีส่วนใหญ่ก็เลยคิดว่าไม่มีอะไรที่ต้องสนใจมาก จริงอยู่ว่าเขาก็อยากกำหนดอนาคตของตัวเอง แต่การกำหนดอนาคตตัวเองนี้ไม่อาจทำได้โดยการไปลงคะแนนรับหรือไม่ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น" ผู้อำนวยการวิทยาลัยประชาชนกล่าว

นายแวอิสมาแอกล่าวเพิ่มเติมว่า การปิดกั้นการแสดงความเห็นหรือการดำเนินคดีกับผู้ที่วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้คนไม่กระตือรือร้นหรือสนใจการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2559

"องค์กรภาคประชาสังคมรวมทั้งประชาชนบางส่วนในปัตตานีรู้สึกเบื่อและกลัวที่จะเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ เพราะขนาดที่กรุงเทพฯ มีการจัดกิจกรรมแสดงความไม่เห็นด้วยต่อร่างรัฐธรรมนูญนิดหน่อยก็ถูกจับดำเนินคดีแล้ว ทำให้คนที่นี่กลัว นักศึกษาและอาจารย์ที่กรุงเทพฯ ยังถูกจับเพราะรณรงค์เรื่องนี้ แล้วที่ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษด้วยแล้วจะทำได้อย่างไร" เขากล่าว

ทางด้านเจ้าหน้าที่ กกต.จังหวัดปัตตานี ชี้แจงกรณีที่ประชาชนระบุว่ายังไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญว่า คาดว่าขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดส่ง เพราะก่อนหน้านี้ กกต.จังหวัดได้แจกจ่ายเอกสารสรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญให้ทางอำเภอไปหมดแล้ว ขณะนี้เป็นหน้าที่ของทางอำเภอจะต้องนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนอย่างทั่วถึง

"กกต.ส่วนกลางส่งสรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญให้ กกต.จังหวัด 25,000 เล่ม เราก็กระจายให้อำเภอตามสัดส่วนประชากร และให้วางไว้ที่ที่ทำการกำนัน หมู่บ้านละ 3-4 เล่ม นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ของกรมการปกครองไปอธิบายเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญให้ชาวบ้านฟัง" เจ้าหน้าที่ กกต.จังหวัดปัตตานีระบุ พร้อมกับให้ข้อมูลว่า จ.ปัตตานี มีประชาชนผู้ที่มีสิทธิออกเสียงประชามติประมาณ 400,000 คน และประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติจะได้รับหนังสือแจ้งเจ้าบ้านและเอกสารเกี่ยวกับความรู้การออกเสียงประชามติและสรุปย่อคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติม โดยไปรษณีย์ไทยจะจัดส่งถึงบ้านภายใน 15 วันก่อนออกเสียงประชามติหรือวันที่ 22 ก.ค.2559

จ.ปัตตานีมีหน่วยลงประชามติทั้งหมด 802 หน่วย เลือกตั้งนอกเขตจังหวัด 4 แห่ง คือ 1) องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี อ.เมือง 2) หอประชุมอำเภอยะรัง 3) หอประชุมอำเภอโคกโพธิ์ และ 4) หอประชุมอำเภอสายบุรี ส่วนการเตรียมความปลอดภัยนั้น ตำรวจและทหารจะเป็นคนดูแล หน่วยลงประชามติในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหน่วยละ 4 คน ซึ่งมากกว่าในจังหวัดอื่นที่จะมีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยลงคะแนนหน่วยละ 2 นาย

กุลธิดา สามะพุทธิ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง