เวทีถกแถลงประชามติ ภาค ปชช.ชี้ร่าง รธน. "มีชัย" เขียนระบบประกันสุขภาพ "ไม่ถ้วนหน้า"

การเมือง
20 ก.ค. 59
18:13
463
Logo Thai PBS
เวทีถกแถลงประชามติ ภาค ปชช.ชี้ร่าง รธน. "มีชัย" เขียนระบบประกันสุขภาพ "ไม่ถ้วนหน้า"
ภาคประชาชนติดตามระบบประกันสุขภาพ ระบุร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ เปลี่ยนเจตนารมณ์บัตรทอง กลายเป็นระบบสุขภาพไม่ถ้วนหน้า นักวิชาการมองภาพอนาคตหลังประชามติ ระบุหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านควรเปิดพื้นที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ "ฉันทามติ"

วันนี้ (20 ก.ค.2559) สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเครือข่ายภาคีจากทั่วประเทศ จัดเวทีสาธารณะ ในหัวข้อ "ประชาชนถกแถลง มองไปข้างหน้า หลังประชามติ" เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบเปิดกว้างต่อร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนถึงวันออกเสียงลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559

นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มองว่า ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการลงประชามติหรือไม่ จะไม่มีผลต่อช่วงเวลาการเลือกตั้ง แต่ทั้งนี้เห็นว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะมีผลกระทบในเชิงการเมืองอย่างมาก เนื่องจากรัฐเองได้ใช้กลไกทุกด้านเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ ทั้งนี้มองว่ารัฐบาล คสช.จะไม่นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และ 50 มาใช้ แต่มองว่าอาจมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 57 เพื่อให้มีการเลือกตั้งได้ในปี 2560 เนื่องจาก คสช.ไม่ต้องการอยู่นาน

ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงภาพอนาคตหลังการลงประชามติว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติผ่าน ยังจะต้องมีการร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญอีก 10 ฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายที่นัยยะสำคัญต่อการปฏิรูป เช่น กฎหมายการประเมินผลกระทบโครงการขนาดใหญ่ กฎหมายการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ในกรณีที่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน นายบัณฑูร กล่าวว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องมีกระบวนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นฉบับฉันทามติ ที่ทุกฝ่ายยอมรับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ต้องเปิดพื้นที่มีส่วนร่วมอย่างเช่น โมเดลการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ผ่าน สสร.นายบัณฑูร ยังเรียกร้องไปถึง กรธ.ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติแล้ว ในช่วงที่พ้นจากระยะการเปลี่ยนผ่านประเทศตามที่ กรธ.และรัฐบาล สนับสนุนให้ประชาชนลงประชามติรับร่าง หากประชาชนต้องการแก้ไขเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นจะมีกลไกใดที่เปิดช่องให้ทำได้

“ต้องการคำอธิบาย จาก กรธ.ว่าหากประชาชนโหวตให้ร่าง รธน.ผ่าน เพราะว่าเหตุผลคำอธิบายในระยะเปลี่ยนผ่าน แต่เมื่อถึงช่วงที่ประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องความจริง เป็นประชาธิปไตยจะสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้อย่างไร ในเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้การแก้ไขแทบจะเป็นไปไม่ได้ ตรงนี้จะเป็นคำถามว่าเมื่อเราพ้นระยะการเปลี่ยนผ่านที่รัฐบาลพยามอธิบายพยายามโน้มน้าวให้ยอมรับ เมื่อเปลี่ยนผ่านจริงๆ จะทำอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”นายบัณฑูร กล่าว

 



ขณะที่นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญในประเด็นสิทธิด้านสุขภาพในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะมีการลงประชามติ มาตรา 47 ที่ระบุว่า บุคคลยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุข โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นการทำให้เปลี่ยนระบบประกันสุขภาพให้ไม่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม และเปลี่ยนเจตนารมณ์จากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นบุคคลยากไร้ จากเดิมที่ให้สิทธิเสมอภาคแก่คนทุกกลุ่ม ขณะเดียวกันมองว่า การบริการสาธารณสุขให้ประชาชนให้เป็นไปในลักษณะสงเคราะห์มากขึ้น

"รัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และ 50 มีการพูดถึงระบบประกันสุขภาพแก่ผู้ยากไร้เช่นกัน แต่ก็มีการรับรองสิทธิของทุกคน ร่างร้ฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ระบุไว้เพียงการรับร้องสิทธิของผู้ยากไร้ เป็นแนวคิดของกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขที่ยกเรื่องการร่วมจ่ายในการรับบริการสาธารณสุขจากรัฐ”

 

 

นายนิมิตร์ ยังเรียกร้องให้ กรธ.ชี้แจงความชัดเจนของเอกสารคำอธิบายร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.ว่าข้อความที่ระบุว่า “บัตรทองไม่หายไปไหน” เนื่องจากในร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าต้องเป็นบุคคลยากไร้ “ประชาชนจะได้รับการคุ้มครองที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นคำพูดที่เลื่อนลอยเหมือนขายฝัน หลอกให้ประชาชนไปลงประชามติ มันจะดีขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อสิทธิของประชาชนหายไป ส่วนที่เขียนว่าประชาชนจะได้รับการดูแลป้องกันโรคอันตรายฟรี ในระบบบัตรประกนสุขภาพทุกวันนี้จัดให้อยู่แล้ว และไม่ใช่แค่โรคอันตราย” นายนิมิตร์ ระบุ

นอกจากนี้ภาคประชาชนยังมีข้อกังวลเรื่องบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ บทบาทของการปกครองท้องถิ่น รวมถึงอำนาจขององค์กรอิสระที่กำกับควบคุมองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง