“สุกรี” อนาคตหมอสายตา ชีวิตดิ้นสู้ของเด็กยากจนจากชายแดนใต้

ภูมิภาค
29 ก.ค. 59
07:34
12,024
Logo Thai PBS
“สุกรี” อนาคตหมอสายตา ชีวิตดิ้นสู้ของเด็กยากจนจากชายแดนใต้
“ความยากจน” ปัญหาใหญ่ที่ฉุดรั้งไม่ให้เด็ก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปถึงความฝัน แต่ก็มีการสนับสนุนจากช่องทางอื่นๆ ที่ทำให้เด็กจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถเข้าถึงการเรียนในระดับอุดมศึกษาจนเกือบถึงฝั่งฝันแล้ว

สุกรี เจ๊ะโซะ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาทัศนมาตรศาสตร์ คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จ.ปทุมธานี เป็นเยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้คนหนึ่งที่ต่อสู้และฝ่าฟันจนเข้าใกล้ความฝันที่จะจบปริญญาตรีและประกอบอาชีพที่เขาต้องการได้ โดยได้รับทุนการศึกษาจากหลายหน่วยงาน รวมทั้งมูลนิธิปวีณาหงสกุล

คณะทัศนมาตรศาตร์เป็นคณะที่สอนเกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัย รักษาแก้ไข และฟื้นฟูความผิดปกติของสายตา รวมทั้งการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตาและสามารถป้องกันการสูญเสียสายตาจากสาเหตุสายตาผิดปกติ บัณฑิตที่จบจากคณะนี้สามารถประกอบอาชีพเป็นนักทัศนมาตรซึ่งขณะนี้ถือว่ายังขาดแคลนมากในประเทศไทย

เพื่อตอบแทนที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ ทุกเย็นวันจันทร์-ศุกร์ สุกรีจึงไปช่วยงานที่มูลนิธิปวีณาหงสกุล ซึ่งตั้งอยู่ย่านคลอง 7 อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี โดยมีหน้าที่ทำงานด้านเอกสารและรับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้ให้เบี้ยเลี้ยงเป็นค่าตอบแทนการทำงานในแต่ละวันด้วย

เสร็จจากงานที่มูลนิธิเวลาประมาณ 18.00 น. สุกรีจะกลับมาพักผ่อน อ่านหนังสือ หรือติวกับเพื่อน สุกรีต้องเข้าห้องเรียน 6 วันต่อสัปดาห์ วันที่ไม่มีเรียนเขาจะรับงานตรวจสินค้าที่ร้านขายยาของคนรู้จัก เพื่อหารายได้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวและส่งเงินไปให้ยายที่จ.นราธิวาส เป็นครั้งคราว

 

สุกรีทำงานพิเศษตั้งแต่เข้าเรียนชั้นปีที่ 1 บางวันพักผ่อนเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น โดยเฉพาะช่วงปีที่ 2 ที่ต้องทำงานหนักที่สุด เนื่องจากค่าเทอมสูงเกือบ 1 แสนบาท เขาจึงจำเป็นต้องหารายได้มาเสริมกับทุนที่ได้รับ

สุกรีเกิดที่บ้านบอเกาะ ต.สากอ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส อาศัยอยู่กับตาและยาย มาตั้งแต่เด็ก เขาเรียนระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาที่โรงเรียนภายในหมู่บ้าน จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.90 และเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ที่โรงเรียนสุไหงปาดี ระหว่างเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ต้องทำงานพิเศษไปด้วย เพราะครอบครัวยากจน

“ลำบากมากและต้องต่อสู้ดิ้นรนในช่วง ม.ปลาย ทั้งทำงานพาร์ทไทม์ในร้านอินเทอร์เน็ตช่วงหลังเลิกเรียนและสอบชิงทุนเรียนต่อ ม.4-6” สุกรี กล่าว

แม้ต้องดิ้นรนหาค่าใช้จ่ายระหว่างเรียน แต่สุกรีก็พยายามเรียนกระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.70 ก่อนจะยื่นสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐได้ 2 แห่ง คือที่ สาขาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่สอบสัมภาษณ์ไม่ผ่าน

 

“ตอนสอบสัมภาษณ์ ผมก็ตอบกับกรรมการสอบ ไปตรงๆ ว่า ไม่ได้เกิดในครอบครัวที่มีความพร้อมในเรื่องการเงิน ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้เรียนหนังสือเอง ตั้งแต่ชั้น ม.ปลาย ถ้าจะให้เรียนด้วยความสามารถ ความรู้ เราอาจเพิ่มความขยันได้ แต่เรื่องกำลังทรัพย์จะต้องดิ้นรนหาไปเรื่อยๆ ดิ้นรนกันต่อไป การสอบสัมภาษณ์ตกทำให้ผมไม่แน่ใจว่า เป็นเพราะความพร้อมด้านการเงินเป็นปัจจัยในการตัดสินของกรรมการหรือเปล่า เพราะการเรียนด้านแพทย์มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ซึ่งผมเข้าใจ” สุกรี กล่าว

จากนั้นสุกรีมาสอบเข้าเรียนที่ สาขาทัศนมาตรศาสตร์ คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยบอกว่า ตอนแรกไม่คิดว่าจะเรียนที่นี่ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรประมาณ 1,000,000 บาท แต่เมื่อคำนวณทุนที่ได้รับ ได้แก่ มูลนิธิร่วมจิตน้อมเกล้า ให้ทุนปีละ 8,000 บาท มูลนิธิปวีณาหงสกุล ให้ค่าเดินทางวันละ 200 บาท พร้อมที่พัก และมหาวิทยาลัยรังสิต ลดค่าเทอมให้ร้อยละ 25 ตลอดหลักสูตร ทำให้เหลือเพียงค่าครองชีพเท่านั้นที่ต้องหาด้วยตนเอง หากไม่ฟุ่มเฟือยก็น่าจะไหว จึงตัดสินใจเรียนที่นี่

สุกรียอมรับว่าเขาต้องปรับตัวในการใช้ชีวิตมาก เพราะเพื่อนในมหาวิทยาลัยแวดล้อมไปด้วยเพื่อนที่มีความพร้อมทางการเงินสูง เวลาที่เพื่อนชวนไปกินอาหารที่ราคาแพง เขามักจะปฏิเสธและบอกเพื่อนว่าไปไม่ได้เพราะต้องไปทำงานพิเศษ

แม้ว่าจะต้องทำงานเพื่อหารายได้พิเศษ แต่สุกรีก็พยายามอ่านหนังสือทุกวันๆ ละไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง และไม่ละเลยที่จะเข้าร่วมทำกิจกรรมของคณะและมหาวิทยาลัย สุกรีเป็นประธานรุ่น และประธานคณะในช่วงชั้นปีที่ 1-2 และเป็นหัวหน้าทีมนักกีฬาวอลเลย์บอลของคณะ รวมทั้งออกหน่วยอาสาสมัครตรวจตาให้กับประชาชนในพื้นที่ชนบทห่างไกลร่วมกับอาจารย์

 

“ตอนเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 รู้สึกท้อใจ ไม่อยากเรียนต่อแล้ว เพราะการหาเงินเพื่อมาจ่ายค่าเทอมหนักขึ้น ก็มีการขอทุนและทำงานเพิ่ม จนรวบรวมได้ จึงฮึดสู้อีกครั้ง” สุกรีกล่าว

สุกรีฝันถึงอนาคตว่า อยากเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ ด้านกล้ามเนื้อตาโดยตรง และกลับไปทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะปัจจุบันในพื้นที่ยังขาดบุคลากรทางด้านสุขภาพ อีกทั้งเป็นห่วงยายที่อายุกว่า 70 ปี และอยู่บ้านเพียงลำพัง เนื่องจากคุณตาเพิ่งเสียชีวิตตอนที่เขาอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 

สุกรีอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปลูกฝังให้เด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าใจความสำคัญของการศึกษา เพราะผู้ปกครองจำนวนหนึ่งเห็นว่า เมื่อเด็กเรียนจบแล้ว ก็กลับไปอยู่บ้าน ไม่มีงานทำ จึงแนะนำลูกว่า ไม่จำเป็นต้องเรียนต่อและให้มาทำงานรับจ้าง เช่น กรีดยาง

“อยากบอกถึงเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า อย่าคิดเพียงว่า ปัจจุบันชีวิตมีความสุขแล้ว อยากให้มองถึงอนาคต และเชื่อว่าการศึกษาจะสร้างความมั่นคง และยกฐานะครอบครัวได้ อุปสรรคนั้นเราสามารถฝ่าฝันไปได้ หากมีความมุ่งมั่นและเข้มแข็ง” สุกรีกล่าวด้วยสายตามุ่งมั่น

วรรณพร แก้วแพรก ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง