“สาระประชามติ” : ศาลรัฐธรรมนูญแก้วิกฤต

การเมือง
2 ส.ค. 59
19:51
1,228
Logo Thai PBS
“สาระประชามติ” : ศาลรัฐธรรมนูญแก้วิกฤต
รายการ "สาระประชามติ" วันที่ 2 ส.ค.2559 รังสิมันต์ โรม, ไพบูลย์ นิติตะวัน, อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี และวัฒนา เมืองสุข ร่วมถกประเด็น "อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ" ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ

วันนี้ (2 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า “อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นประเด็นที่ 7 ใน 10 ประเด็น ที่รายการ สาระประชามติ หยิบมาเป็นหัวข้อในการถกแถลงและเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ โดยในประเด็นนี้มี นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ เป็นตัวแทนฝ่ายเห็นด้วย ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม โฆษกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และนายวัฒนา เมืองสุข อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนฝ่ายไม่เห็นด้วย

นายวัฒนา กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญในร่างฉบับนี้มีการขยายอำนาจมากขึ้น ทั้งที่การปกครองระบอบประชาธิปไตย มีอำนาจอธิปไตยอยู่ 3 อำนาจ คือ บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ แต่รัฐธรรมนูญนี้มีโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลง โดยให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญปกป้อง กำหนดกฎเกณฑ์ และควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหาร ซึ่งมันผิด เพราะโดยหลักแล้วหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญคือการดูกฎหมายต่างๆ ไม่ให้มาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น การควบคุมต้องเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งต้องมาจากประชาชนด้วยกัน ดังนั้นเราจึงเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่มากเกินกว่าที่ควรจะเป็น

ขณะที่นายไพบูลย์ แย้งว่าศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอำนาจตามความเหมาะสมแล้ว “ผมมองว่าศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นองค์กรศาล 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตย คือมีอำนาจฝ่ายตุลาการ นิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ฝ่ายตุลาการ และเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เขียนไว้แล้วว่าเป็นกฎหมายสูงสุดบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งไม่ได้ ก็ต้องมีการตีความอยู่แล้ว ว่ากฎหมายใดมีอำนาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหากมีการกระทำบางประการที่ฝ่าฝืนกับที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้จะให้ศาลอื่นมาตีความก็ไม่ได้ ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย”

ส่วน นายรังสิมันต์ มองว่า อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมน้อยลงและไม่ยึดโยงกับประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น “อีกประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือ มาตรา 5 ที่มีการกำหนดให้องค์กรที่จะมาร่วมในองค์ประชุมทั้งหมด 8 องค์กร คือประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานองค์กรอิสระ นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตัวแทนที่มาจากการเลือกของประชาชนจริงๆ ก็มีแค่นายก ผู้นำฝ่ายค้าน และประธานสภาผู้แทนราษฎร แล้วที่เหลือเป็นตัวแทนจากศาลฎีกา ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ทั้งที่ผลวินิจฉัยจะมีความผูกพันกับทุกองค์กร แต่ดูเหมือนว่าเปอร์เซ็นขององค์กรที่มีความชอบธรรมน้อยกว่า เพราะฉะนั้นความชอบธรรมทางประชาธิปไตยจึงมีน้อยกว่า”

ในทางตรงกันข้าม นายอรรถวิชช์กล่าวว่า ตัวแทนจากบางองค์กรแม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็มีความสามารถไม่แพ้กัน และบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งอาจเป็นประเด็นของความขัดแย้ง ทั้งนี้ยังยืนยันว่า มาตรา 5 และบทบัญญัติของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะช่วยหลีกเลี่ยงรัฐประหารได้อีกด้วย

“หลังจากที่คุณยิ่งลักษณ์ออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทำให้เกิดความขัดแย้งจนเกิดปรากฏการณ์คนเป็นล้านออกมาเดินขบวน เมื่อหลุดจากตำแหน่ง ไม่มีนายกรัฐมนตรี และพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงสมัครเลือกตั้ง 28 เขต ทำให้เลือกตั้งไม่ได้ กปปส.จึงขอให้คุณสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รักษาการประธานสว. ช่วยวินิจฉัยตามมาตรานี้เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ แต่คุณสุรชัยไม่กล้า ในที่สุดจึงเกิดรัฐประหารขึ้น... แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุไว้ในมาตรา 5 บอกให้ทำได้โดยให้ประธานแต่ละสภามารวมกัน เพื่อหาข้อสรุปร่วม ผมจึงคิดว่าหากประเทศเดินเข้าสู่ทางตันอีกครั้ง มาตรา 5 จะช่วยหลีกเลี่ยงการฉีกรัฐธรรมนูญและป้องกันรัฐประหารในอนาคตได้”

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในรายการ สาระประชามติ คืนนี้ (2 ส.ค.) เวลา 21.00 น. และชมย้อนหลังในวันที่ 3 สิงหาคม เวลา 13.00 น. ทางไทยพีบีเอส

พิชญาพร โพธิ์สง่า ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง