ห่วงรัฐธรรมนูญใหม่ยิ่งเป็นเงื่อนไขขัดแย้ง ย้ำยิ่งต้องสร้างความมั่นใจในกระบวนการสันติภาพ

ภูมิภาค
8 ส.ค. 59
20:18
594
Logo Thai PBS
ห่วงรัฐธรรมนูญใหม่ยิ่งเป็นเงื่อนไขขัดแย้ง ย้ำยิ่งต้องสร้างความมั่นใจในกระบวนการสันติภาพ

วันนี้ (8 ส.ค.) โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) www.deepsouthwatch.org/dsj/9234 เปิดเผยบทสัมภาษณ์ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ วิเคราะห์ 3 เหตุผลที่คนชายแดนใต้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ห่วงยิ่งเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งเพิ่ม ย้ำรัฐต้องยิ่งสร้างความมั่นใจในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

ผลการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ปรากฏว่า คนส่วนใหญ่ไม่รับ ซึ่งแตกต่างกับพื้นที่ส่วนอื่นของภาคใต้หรือส่วนอื่นของประเทศ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

โดยผลการลงคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ดังนี้ จ.นราธิวาส ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ เห็นชอบ 38.16 % ไม่เห็นชอบ 61.84% ประเด็นคำถามพ่วง เห็นชอบ 37.37 % ไม่เห็นชอบ 62.63 %

จ.ปัตตานี ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ เห็นชอบ 34.86 % ไม่เห็นชอบ 65.14% ประเด็นคำถามพ่วง เห็นชอบ 34.18 % ไม่เห็นชอบ 65.82 %

จ.ยะลา ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ เห็นชอบ 40.46% ไม่เห็นชอบ 59.54% ประเด็นคำถามพ่วง เห็นชอบ 39.72% ไม่เห็นชอบ 60.28 %

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ วิเคราะห์ว่า ที่เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นลักษณะพิเศษสำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องทางการเมือง ซึ่งมีองค์ประกอบอัตตลักษณ์ ชาติพันธุ์ ศาสนา ชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเรื่องที่เกี่ยวกับอัตตลักษณ์ โดยจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น มาตรา 67 หรือมาตรา 70 ที่เกี่ยวกับศาสนา อัตตลักษณ์และวัฒนธรรม ที่ไม่มีความชัดเจนที่เกี่ยวกับการพัฒนาในเรื่องอัตลักษณ์และศาสนา ซึ่งเน้นเรื่องศาสนาพุทธนิกายเถรวาท

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องกระจ่ายอำนาจนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ตัดโอกาสที่จะให้ท้องถิ่นจัดการตัวเองได้ มีการให้ความหมายใหม่ในการกระจายอำนาจเป็นการบริหารท้องถิ่นหรือการบริหารสาธารณะ ซึ่งไม่มีความหมายเรื่องอัตตลักษณ์หรือความเป็นตัวของตัวเอง การเข้ามามีส่วนร่วนของประชาชนในการแก้ปัญหามีขีดจำกัดมาก มาตราที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจชัดเจน มาตรา 270, 268, 269 มีขีดจำกัดมาก ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาก

“ผมคิดประเด็นเรื่องอัตตลักษณ์ การมีส่วนร่วมของประชาชน และการกระจายอำนาจ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่รับในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กระแสในความรู้สึกในเรื่องนี้แรงมาก จากการที่ผมลงพื้นที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี พบอย่างชัดเจนว่า ประชาชนไม่รับ” ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ดร.ศรีสมภพกล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นการศึกษาก็มีส่วนด้วยเช่นกัน เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้รัฐอุดหนุนการศึกษา 12 ปี ทำให้รัฐไม่สามารถสนับสนุนจนถึงระดับมัธยมปลายได้ อาจจะทำได้เฉพาะนโยบายของแต่ละรัฐบาล ซึ่ง คสช.แก้ปัญหาด้วยการใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมาโดยตลอด

ส่วนคำถามที่ว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ในช่วงก่อนวันลงประชามติมีผลทำให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่

ผศ.ดร.ศรีสมภาพตอบว่า ในพื้นที่มีสัญลักษณ์พิเศษของการปฏิเสธหรือการไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ เช่น การพ่นสีตามถนนหรือป้ายต่างๆ ทำให้มีผลสองอย่าง คือ คนจำนวนไม่น้อยซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ คือ vote no อีกส่วนหนึ่งคือไม่มาลงประชามติ หรือ No vote หรือถ้ามาก็อาจจะทำให้คะแนนเสีย เนื่องจากมีจำนวนบัตรเสียสูง

คำถามต่อไปคือ เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะกลายเป็นเงื่อนไขทำให้ความรุนแรงหรือความขัดแย้งในพื้นที่เพิ่มขึ้นหรือไม่

ดร.ศรีสมภาพ ตอบว่า น่าเป็นห่วงอยู่ เพราะมันมีความเสี่ยง มีความอ่อนไหว เพราะเป็นรอยร้าวหรือรอยแยกในทางการเมืองที่ว่า คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความแตกต่างกับคนอื่นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะในภาคใต้เอง คือคนภาคใต้ตอนบนคิดอย่างหนึ่งส่วนภาคใต้ตอนล่างคิดอีกอย่าง

ดร.ศรีสมภพกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ความชอบธรรมทางการเมืองในส่วนของรัฐธรรมนูญ รูปแบบของรัฐบาล การบริหารประเทศภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มันจะถูกลดทอนไปด้วย ซึ่งอาจจะให้รัฐบาลมีทางออกที่เน้นการควบคุม เน้นความมั่นคง เน้นการจัดการความรุนแรง ซึ่งมันจะมีผลกระทบด้านลบไปอีก หรือถ้าปรับก็จะมีปัญหากับรัฐธรรมนูญ

“มันหาทางออกยาก โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งข้อเสนอของฝ่ายขบวนการคือต้องการให้การพูดคุยสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ มันจะเจอทางตันหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง” ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ผศ.ดร.ศรีสมภพกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม การพูดคุยสันติภาพหรือการพูดคุยสันติสุขต้องเดินหน้าต่อไป ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญยังไม่เปิดโอกาส เพราะว่ากระบวนการสันติภาพหรือกระบวนการทางเมืองยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ รัฐกับฝ่ายความมั่นคงก็ต้องตระหนักว่า นี่คือลักษณะพิเศษของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีแนวโน้มไม่ยอมรับกติกาที่ใช้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ใช้กับคนที่นี่มีขีดจำกัด ซึ่งรัฐจะทำอย่างไร ที่จะต้องการปรับทั้งเรื่องนโยบายหรือวิธีการ หรือปรับรัฐธรรมนูญในวาระต่อไปหากมีโอกาส

ต่อคำถามที่ว่า ผลที่ออกมาจะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ต้องทำงานหนักขึ้นหรือไม่ ดร.ศรีสมภพตอบว่า คงทำงานหนักขึ้น โดยเฉพาะการป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถที่จะอุดได้ทั้งหมด อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ สะท้อนให้เห็นว่าวิธีการทางการเมืองเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาได้ ต้องยอมรับและต้องยืนยันในแนวทางนี้

“ทำอย่างไรที่จะให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจกับประชาชนให้มากขึ้น ต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ให้มีความเข้มแข็งและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นภาระหนักพอสมควร เพราะนี่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น และยังรักษาอัตตลักษณ์นี้ไว้จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งสะท้อนผ่านการลงคะแนนเสียงประชามติ” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

มูฮำหมัด ดือราแม โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง