เครือข่ายปชช.ใต้ 30 องค์กร ชี้ “ประชาธิปไตยใต้บงการ” แนะคสช.ยุติบทบาทหลังประกาศใช้

การเมือง
8 ส.ค. 59
21:50
2,784
Logo Thai PBS
เครือข่ายปชช.ใต้ 30 องค์กร ชี้ “ประชาธิปไตยใต้บงการ” แนะคสช.ยุติบทบาทหลังประกาศใช้

วันนี้ (8 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดสัมมนาของเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคใต้ 30 องค์กร และช่วงท้ายได้จัดแถลงข่าวพร้อมข้อเสนอ ต่อคสช.แถลงการณ์ถึงผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา เครือองค์กรประชาชน และองค์กรชุมชนภาคใต้ 30 องค์กร ขอประกาศยอมรับ แต่อย่างไรก็ดี การลงประชามติที่สังคมยัง “ไม่ตกผลึกทางความคิดมากพอ” อันเนื่องมาจากการจำกัดพื้นที่การถกเถียง การผลิตซ้ำ ตอกย้ำความขัดแย้ง การทุจริตคอร์รัปชั่นในอดีต ทำให้เกิดการตัดสินใจบนฐาน “ความหวาดกลัวอดีตที่หลอกหลอน” มากกว่าการคำนึงถึงการสร้าง/กำหนดกติกาที่เสมอภาค เท่าเทียม เป็นธรรม และเป็นประชาธิปไตยสากล

 

เครือข่ายองค์กรประชาชนและองค์กรชุมชนภาคใต้ 30 องค์กร จึงขอเรียกร้อง ดังนี้ (1) ต้องไม่นำเหตุผลร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการรับรอง มาสร้างความชอบธรรมฝ่ายเดียวในการดำเนินนโยบายทางการเมือง โครงการพัฒนาที่อาจส่งผลกระทบกับประชาชน ปิดกั้น และ/หรือคุกคามผู้เห็นต่าง และเรียกร้องให้เปิดพื้นที่การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้โดยปราศจากความหวาดกลัว และ/หรือวิตกกังวลกับการคุกคาม และยอมรับว่า “ผู้เห็นต่างก็ปรารถนาร่วมสร้างอนาคตการเมืองและประชาธิปไตย” เช่นกัน

(2) กติกาใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาธิปไตยไทยตกอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยใต้บงการ” ทำให้เกิดแรงเสียดทาน และสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ารอบใหม่ เครือข่ายฯ ขอยืนยันว่าประชาธิปไตยที่แท้จริง คือ ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เคารพสิทธิและเสรีภาพ

(3) ผลสืบเนื่องจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติที่ส่งผลต่อการแย่งชิงทรัพยากรอย่างขนานใหญ่และรุนแรง ผ่านนโยบาย โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ และแรงขับเคลื่อนของรัฐและทุน ดังนั้นการดำเนินการใดๆต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชนสากลอย่างเคร่งครัด


(4) เครือข่ายฯ ยืนยันข้อเสนอที่ขอให้ คสช.ประกาศต่อสาธารณะว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ หลังการเลือกตั้ง

เครือข่ายองค์กรประชาชน และองค์กรชุมชนภาคใต้ 30 องค์กร ขอยืนยันและสานต่อข้อเรียกร้อง ด้วยการเร่งขยายเครือข่ายประชาชน ชุมชน เพื่อร่วมกันติดตาม รณรงค์ และจะจับตา ติดตามร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐธรรมนูญ การปฏิรูป และ พ.ร.บ.ที่อยู่ในการพิจารณาของ สนช. เช่น พ.ร.บ.แร่ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม อย่างใกล้ชิด

วันชัย พุทธทอง รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง