นปช.จี้รัฐหยุดชี้นำให้สังคมเชื่อว่าเป็นผู้ก่อเหตุใน 7 จังหวัดภาคใต้

อาชญากรรม
14 ส.ค. 59
22:26
309
Logo Thai PBS
นปช.จี้รัฐหยุดชี้นำให้สังคมเชื่อว่าเป็นผู้ก่อเหตุใน 7 จังหวัดภาคใต้
นปช.ออกแถลงการณ์ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดหลายจุดใน 7 จังหวัดภาคใต้เมื่อวันที่ 11-12 ส.ค.2559 ขณะที่ครอบครัวอดีต นปช.ในภาคใต้ที่ถูกคุมตัววอนขอความเป็นธรรม

วันนี้่ (14 ส.ค.2559) กลุ่มแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ออกแถลงการณ์ต่อเหตุระเบิดและวางเพลิงใน 7 จังหวัดภาคใต้ ยืนยันว่า นปช.ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการวางระเบิดและวางเพลิงในครั้งนี้ และยินดีสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อจับกุมตัวผู้ก่อเหตุมาดาเนินคดีโดยเร็วที่สุดต่อไป

แถลงการณ์ของกลุ่ม นปช.มีประเด็นสำคัญ 5 ข้อ คือ
1. นปช.ไม่เห็นด้วยและประณามการกระทำความรุนแรงที่ทาให้มีคนเสียชีวิต 4 คนและบาดเจ็บจำนวนมาก
2. นปช.ประณามทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายการเมืองที่ฉวยโอกาสใช้สถานการณ์นี้กล่าวใส่ร้ายผู้มีความเห็นต่างหรือฝ่ายที่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติว่าเป็นผู้กระทำความรุนแรงครั้งนี้โดยปราศจากหลักฐานและข้อเท็จจริง
3.นปช.ไม่เห็นด้วยและคัดค้านการจับกุมคุมขังประชาชนฝ่ายหนึ่งแบบเหวี่ยงแหโดยใช้อำนาจพิเศษ ไม่เปิดโอกาสให้พิสูจน์ตัวเองตามกระบวนการยุติธรรม ชี้นำให้เกิดความเชื่อว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุสร้างความหวาดระแวงและขัดแย้งในสังคม
4.จากการตรวจสอบท่าทีและการรายงานของสำนักข่าวระหว่างประเทศ เช่น BBC โดยฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มไอเอชเอส – เจนส์ มีความเห็นถึงกลุ่มที่ปฏิบัติการต้องมีศักยภาพและมีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่สำนักข่าวเบอร์นามาของมาเลเซียได้แจ้งข่าวว่า หน่วยงานความมั่นคงไทยขอความร่วมมือกับทางการมาเลเซียตรวจสอบโทรศัพท์มือถือที่พบในที่เกิดเหตุที่ภูเก็ต พบว่ามีซีเรียลนัมเบอร์จากมาเลเซีย จึงเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการสืบสวนสอบสวนด้วยความโปร่งใส ไม่ตั้งธงล่วงหน้า และรายงานความคืบหน้าต่อประชาชนอย่างตรงไปตรงมา
5. นปช.ยืนยันว่าใช้วิธีการเคลื่อนไหวโดยสันติวิธี ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการชี้นำและทำให้มีการวางระเบิดและเผาอาคารในสถานการณ์นี้


ครอบครัวอดีต นปช.ที่ถูกสอบสวนวอนขอความเป็นธรรม

ครอบครัวของอดีตสมาชิกกลุ่ม นปช. ใน จ.ตรัง และ จ.นครศรีธรรมราช ร้องขอความเป็นธรรม หลังจากทั้ง 2 คน ถูกเชิญตัวไปสอบสวนความเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดจนกลายเป็นจำเลยสังคม

นางวรรณี โรจนภิทักษ์ ภรรยาของนายประภาส โรจนภิทักษ์ อดีตข้าราชการครู ที่อาศัยอยู่ที่ ต.โคกหล่อ อ.เมืองตรัง อยู่ในความวิตกกังวลหลังจากที่เจ้าหน้าที่เชิญสามีของเธอไปสอบสวนถึงความเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดหลายจุดในภาคใต้เมื่อวันที่ 11-12 ส.ค. โดยนางวรรณียืนยันว่า วันเกิดเหตุเธอและนายประภาสสอนพิเศษเด็กอยู่ที่บ้าน

นางวรรณียืนยันสามีเป็นคนจิตใจดี และเป็นไปไม่ได้ที่จะก่อเหตุรุนแรงในสถานการณ์เช่นนี้ เพื่อนบ้านหลายคนก็ไม่เชื่อว่านายประภาสจะเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรง เพราะเป็นคนจิตใจดี แต่การเชิญตัวไปครั้งนี้ ก็เป็นโอกาสให้นายประภาสได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์จึงไม่อยากให้สังคมด่วนตัดสิน

ขณะที่ลูกชายของนายวิเชียร เจียมสวัสดิ์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 6 อดีตกลุ่มนปช.ถูกเชิญตัวไปสอบสวนเมื่อวานนี้ (13 ส.ค.) แต่ครอบครัวไม่มั่นใจในความปลอดภัยมากนัก จึงกล่าวเพียวสั้นๆ ว่า รู้สึกดีใจหากมีคนเข้าใจในความบริสุทธิ์ของพ่อ ซึ่งในวันเกิดเหตุก็อยู่ภายในบ้านพักใน อ.เมืองนครศรีธรรมราช และเป็นเพียงคนหาเช้ากินค่ำ

นายวิโรจน์ รอดเจริญ เป็นอดีตสมาชิกกลุ่ม นปช.อีกคนหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าถูกเชิญตัวไปสอบถาม แต่เมื่อเดินทางไปที่บ้านหมู่ 2 ต.ลานสกา อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นที่พักของนายวิโรจน์ ผู้ใหญ่บ้านบอกกับทีมข่าวไทยพีบีเอสว่า นายวิเชียรไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์ของคนในหมู่บ้าน ซึ่งมีประชากร 752 คน

มีรายงานว่า อดีตสมาชิก นปช.ที่ถูกเชิญตัวไปสอบปากคำบางคนถูกนำตัวไปสอบสวนเพิ่มเติมที่กรุงเทพฯ ซึ่งบางคนเคยถูกเชิญตัวเพื่อไปปรับทัศนคติหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 มาแล้ว

ด้านนายถาวร เสนเนียม อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ มองว่า การเชิญตัวผู้ต้องสงสัยเป็นขั้นตอนปกติในการสอบสวน ส่วนการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือที่นำมาจุดชนวนระเบิด ที่มีหมายเลขประจำเครื่อง หรือ serial number ในประเทศมาเลเซีย ทำให้เห็นความเชื่อมโยงของกลุ่มก่อเหตุครั้งนี้กับผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีทั้งผู้สั่งการ ผู้ว่าจ้าง ผู้ประกอบระเบิด และฝ่ายปฎิบัติ ซึ่งในแต่ละขั้นอาจถูกตัดตอน ทำให้การสาวถึงตัวการใหญ่ทำได้ยาก 

"วัตถุระเบิดที่เอามาประกอบเป็นระเบิด มีลักษณะเดียวกับผู้ก่อความไม่สงบใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้" นายถาวรตั้งข้อสังเกต

นายเด่น โต๊ะมีนา อดีต ส.ส.กลุ่มวาดะห์ เชื่อว่าเหตุการณ์นี้น่าจะเป็นผลมาจากการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2559 คือมีผู้ที่ต้องการแสดงความไม่เห็นด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง