"มีชัย" ยืนยันคำถามพ่วงผูกพันเฉพาะรัฐสภาชุดแรก

การเมือง
19 ส.ค. 59
15:44
228
Logo Thai PBS
"มีชัย" ยืนยันคำถามพ่วงผูกพันเฉพาะรัฐสภาชุดแรก
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แจง คำถามพ่วงที่กำหนดให้ ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกันเลือกนายกฯ ในช่วง 5 ปีแรกนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งและมีรัฐสภาชุดแรก ที่กำลังถูกตีความไปหลายทาง โดยประธาน กรธ.ยืนยันว่าคำถามนี้ผูกพันกับรัฐสภาชุดแรกเท่านั้น

วันนี้ (19 ส.ค.2559) ก่อนการหรือรือร่วมกันระหว่างตัวแทนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อทำความเข้าในที่ตรงกันถึงหลักการของคำถามพ่วงประชามติ นายมีชัยให้สัมภาษณ์ว่า ในฐานะผู้รับผิดชอบร่างรัฐธรรมนูญ การตีความจะเป็นการพิจารณาตามตัวอักษรเป็นสำคัญ และทุกคำมีความหมายไม่ต้องการให้เกิดปัญหา ยืนยันว่าคำถามพ่วงนี้ผูกกับรัฐสภาชุดแรกเท่านั้น

นายมีชัยระบุว่า คำถามพ่วงเขียนชัดว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ หมายถึงการครอบคลุมช่วงเวลา 5 ปี แต่ยังมีความสงสัยและไม่แน่ใจว่าช่วงไหนที่จะนับว่ามีรัฐสภาตามการตีความทางกฎหมาย เพราะเงื่อนไขการประกาศรับรอง ส.ส.และ ส.ว.อาจจะไม่ตรงกัน

ทั้งนี้คำถามพ่วงที่ผ่านการทำประชามติระบุว่า "ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี"

ส่วนความเข้าใจของ สนช.บางคนที่ เห็นว่าคำถามพ่วงนั้นตีความได้วว่า ส.ว.ควรมีสิทธิที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ หากเกิดกรณีที่ ส.ส.ไม่สามารถเลือกตามบัญชีพรรคการเมืองได้นั้น ประธาน กรธ.ระบุว่า "ควร คือความอยาก แต่ที่เขียนไปถึงหรือเปล่า" พร้อมเปรียบเปรยว่า คืนนั้นเจอสาวควรขอความรักแต่ไม่ได้ขอ

นายมีชัยระบุว่า การกำหนดถ้อยคำตามคำถามพ่วงประชามติ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มมาตราใหม่ เพราะอาจจะเกิดปัญหาความสับสนของประชาชน โดยอาจจะรวมไว้ที่บทเฉพาะกาลมาตรา 272 และการประชุมร่วม สนช.-กรธ. วันนี้ (19 ส.ค.) อาจจะยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่นอน แต่ยืนยันว่าเมื่อร่างถ้อยคำเสร็จแล้วจะเปิดเผยต่อสาธารณะ ก่อนที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ และหาก สนช.เห็นว่าที่ กรธ.กำหนดถ้อยคำไม่ตรงตามเจตนา นายมีชัยระบุว่า สนช.สามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ และศาลจะแจ้งมาว่าต้องเขียนอย่างไร

ส่วนกรณีที่มีบางฝ่ายตีความคำถามพ่วงว่า "ให้ที่ประชุมร่วมพิจารณา" ว่าให้สิทธิ ส.ว.เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอกได้นั้น นายมีชัยกล่าวในเชิงเปรียบเทียบว่า "เวลาไปร่วมเป็นสักขีพยานการแต่งงาน ไม่ได้แปลว่าแต่งด้วยนะ"

ทั้งนี้ตัวแทน สนช. ที่จะเข้าหารือร่วมกับกรธ.มีจำนวน 6 คน ประกอบด้วย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1,พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์, นายสมชาย แสวงการ ,น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ,นายธานี อ่อนละเอียด และนายอนุศาสตร์ สุวรรณมงคล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง