นายกฯ หวังใช้นวัตกรรมพาไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง เดินหน้าปฏิรูปการศึกษา

การเมือง
26 ส.ค. 59
21:22
316
Logo Thai PBS
นายกฯ หวังใช้นวัตกรรมพาไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง เดินหน้าปฏิรูปการศึกษา
นายกรัฐมนตรีเรียกร้องประชาชนช่วยกันใช้นวัตกรรมนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง เผยรัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาใน 3 มิติ เพื่อสร้างคนที่มีคุณภาพและคุณธรรม พร้อมระบุสังคมไทยขัดแย้งและแตกแยก เพราะไม่เข้าใจหลักประชาธิปไตยพื้นฐานที่ถูกต้อง

วันนี้ (26 ส.ค.2559) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้ประชาชนว่า ขอขอบคุณและชมเชยทั้งเจ้าหน้าที่ และประชาชน ทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายโครงการหลายอย่างที่ประสบความสำเร็จมาตามลำดับขั้น ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนไทยทั้งหมด แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ ก็ตาม แต่เล็กๆ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ อาทิเช่น การกำจัดผักตบชวา การช่วยกันกำจัดขยะชุมชน การทำเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรผสมผสานตามคำแนะนำ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการปลูกพืช และมีหลายๆ ส่วน หลายพื้นที่ที่ได้ใช้วิธีการของโครงการเกษตร “1 ไร่ 1 แสน” มีการทดลองปฏิบัติทำไปบ้างแล้ว ก็ได้ผลดีตามที่แนะนำไป ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำ ขอบคุณทุกส่วนช่วยกันดูแลตั้งแต่ผู้ว่าฯ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำให้มีผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด มีอยู่บ้างแน่นอนครับ อาจจะขังท่วมบ้าง แต่ต้องเร่งระบายให้ได้โดยเร็ว ปีนี้นับว่าเป็นการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม พันกันไปทั้งคู่ เศรษฐกิจไม่ดี เนื่องจากแรงซื้อ กำลังซื้อลดลงจากต่างประเทศ ทำให้กระบวนการภายในเกิดปัญหาในด้านการผลิตแล้วทำให้สังคมมีปัญหาตามไปด้วย ไม่ว่าจะเรื่องยาเสพติด ไม่ว่าจะเรื่องการลักเล็กขโมยน้อย อะไรต่างๆ เหล่านี้ เพราะงั้นทุกคนจะต้องช่วยกันเฝ้าระวังให้มากขึ้น อย่ามาโทษกันไปกันมา เจ้าหน้าที่ก็ต้องทำอย่างเต็มที่ ขอความร่วมมือด้วย

ในด้านการต่างประเทศ วันนี้ก็มีผู้มาขอพบผมในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นจำนวนมาก หลายประเทศด้วยกัน ทุกคนก็มีความเห็นว่าเราก็มีการเดินหน้าประเทศไทยโดยการผ่านการทำประชามติ เป็นไปตามกระบวนการสากล แล้วก็ให้กำลังใจในการจะเดินหน้าต่อไปความขัดแย้ง การต่อต้านยังมีอยู่บ้าง ทั้งในประเทศ หรือต่างประเทศ บางครั้งก็เป็นคนกลุ่มเดียวกัน

ในเรื่องกระบวนการยุติธรรม หลายกระบวนการได้นำเข้าไปสู่การพิจารณาคดีแล้ว ไม่ได้เร่งรัด เป็นเรื่องของกระบวนการ ประเด็นเรื่องจำนำข้าวมีหลายคนออกมากล่าวอ้างว่าผมไปสั่งว่า ไม่ต้องสนใจกระบวนการยุติธรรม ความหมายไม่ใช่อย่างนั้น เพียงแต่บอกว่าในส่วนของหน้าที่ของคณะทำงานนี้ ก็มีหน้าที่ในการตรวจสอบหาหลักฐาน ในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมนี่ ก็เป็นเรื่องของศาลก็ให้เขาทำไป ไม่ได้หมายความบอกว่าไม่สนใจกระบวนการยุติธรรมอย่างที่กล่าวอ้างกันมา บางครั้งในการบันทึกต่างๆ เขามีความหมายของเขาอยู่แล้ว ก็ไปตีความกันอีกแบบหนึ่ง ผมคงไม่ปัญญาน้อยแบบนั้นนะครับ หลายอย่างผลสัมฤทธิ์ อย่างที่ผมกล่าวมาแล้ว หลายอย่างอาจจะไม่ได้กล่าวถึง ต้องขอบคุณ ขอบคุณอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับการเปลี่ยนผ่านประเทศในห้วงเวลานี้ มีอยู่หลายมิติ หลายเรื่อง หลายกิจกรรมที่เราจะต้องช่วยกันนะครับ ผมทำคนเดียวไม่สำเร็จหรอก จะนำไปสู่ “การปฏิรูปประเทศ” หลายคนก็ยังมีความขัดแย้ง หลายคนก็ยังเห็นต่าง ต้องหาทางร่วมมือกันให้ได้ หลักที่สำคัญก็คือทำอย่างไร เราถึงจะยอมรับการปรับเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นตัวคน บุคคล องค์กร หรือกระบวนการภายใน การบริหารราชการแผ่นดิน แล้วก็ข้าราชการ เพื่อที่จะให้ข้าราชการและหน่วยงานต่างๆ นั้นสามารถปฏิบัติงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพเราไม่ได้มุ่งเน้นบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียว เราต้องสร้างความเข้าใจ ทุกหน่วยงานจะต้องทำแบบนั้นให้ประชาชนเรียนรู้ เข้าใจ ถึงจะไปสู่การปฏิรูปได้ แล้วจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง ประเทศชาติมาก่อนเสมอ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกแผนงานและโครงการของรัฐบาลที่ผ่านมานั้น เราทำหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะในเรื่องของการมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเดิมๆ ซึ่งพันกันไปกันมา หลายขั้นหลายตอน หลายส่วนที่เกี่ยวข้อง และในเรื่องของการพัฒนาประเทศในช่วงนี้ ลงทุนประเทศ เพื่อจะรองรับในวันข้างหน้า สู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ หรือการพัฒนาประเทศที่ใช้งบประมาณสูงขึ้น เราต้องพัฒนารายได้ประเทศให้มากขึ้น ถึงจะก้าวไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน”

การดำเนินการดังกล่าวนั้น ผมว่าอาจจะต้องใช้เวลานะครับที่ผมทำมา 2 ปี นี่ก็อาจจะสำเร็จได้ในระยะหนึ่งหรือระยะแรก บางอย่างก็เริ่มต้นได้ บางอย่างก็เข้าไปครึ่งทางแล้ว อยากให้ทุกคนช่วยกันคิด ช่วยกันติดตามด้วย คือว่าเราจะร่วมมือกันอย่างไรนะครับ จากทุกภาคส่วนตามแนวทาง “ประชารัฐ” อย่ามาขัดแย้งกันอีกเลย ท่านทำหน้าที่ของท่าน ตามภาระหน้าที่ของท่านไม่ว่าจะเป็นพันธะกรณี หรือเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนของสากล ผมไม่ได้ขัดแย้งท่าน แต่อย่าลืมว่าสิ่งใดก็ตามที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อประเทศ หรือทำให้ประเทศนั้นมีปัญหานี่ ต้องคำนึงถึงประเทศชาติด้วย อยากให้มองประเทศชาติมาก่อน ในส่วนของการแก้ไข อะไรที่ไม่ถูกต้องก็มาว่ากัน พร้อมจะแก้ไขให้ได้ ไม่ใช่เอาประเทศไปประจานในสิ่งที่บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นข้อเท็จจริง

ตัวอย่างสำคัญประการหนึ่งก็คือ “โครงการทางพิเศษ สายศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร” เริ่มก่อสร้างในปี 2555แผนการก่อสร้าง 4 ปี แต่ด้วยความร่วมมือและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ไปจนถึงการบริหารจัดการ การให้บริการและด้านบำรุงรักษา รวมทั้งรัฐบาลนี้ขอความร่วมมือจากการทางพิเศษฯ (กทพ.) และบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ (BEM) ให้ช่วยเร่งรัดการก่อสร้างให้เร็วขึ้น ปัจจุบันสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ ในวันที่ 22 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา

เร็วกว่าแผนงานเดิมถึง 4 เดือน ถือว่าเร็วทันใจ ไม่งั้นก็ช้ากันไปเรื่อยๆ ทุกโครงการ ไปไม่ได้หมด ช้าตั้งแต่ต้นก็มีนะ จัดที่ดินไม่ได้ ผ่าน EIA ไม่ได้ HEIA ไม่ได้ นั่นคือความยากในการทำงานของรัฐบาล แม้ว่ารัฐบาลนี้จะมาแบบนี้ก็ตาม มีอำนาจ แต่ทำไม่ได้เพราะไม่อยากไปหักด้ามพร้าด้วยเข่า ทุกฝ่ายตระหนักดีว่าโครงการสะพานและเส้นทางเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่มีอยู่มากมายในด้านการคมนาคมขนส่งทางบก ที่จะต้องช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร เพื่อเป็นทางเลือก ลดระยะเวลาในการเดินทางของประชาชน “ในทางตรง” พร้อมทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นได้ “ในทางอ้อม”

ที่ว่าอ้อมคือเศรษฐกิจจะดีขึ้น จะประหยัดลง ใช้น้ำมันน้อยลง สร้างก๊าซเรือนกระจกน้อยลง แล้วทำให้ไม่สิ้นเปลือง ทั้งเวลา ทั้งเงิน แล้วก็ทำให้ปลอดภัย ก็ต้องทำแบบนี้ ค่อยๆ ทำไป เรางบประมาณจำกัด ทำทุกอย่างๆ เวลาเดียวกันแล้วก็ทำไม่ได้เพราะงบประมาณจำกัด เราเสียงบประมาณไปในช่วงที่ผ่านมาหลายเรื่องด้วยกัน ที่ไม่ค่อยมีผลเป็นรูปธรรมเท่าไร

การเชื่อมต่อ 1 สถานีระหว่างสถานีบางซื่อ สายสีน้ำเงิน กับสถานีเตาปูน สายสีม่วง ผมทราบดี ปัญหานี้มีมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ก่อนผมเข้ามา พยายามไปแก้มา 2 ปีแล้ว วันนี้ก็ต้องแก้ให้ได้ เข้าใจถึงความเดือดร้อน ทำได้ล่ะ ร่างสัญญามาแบบนั้น ผมก็ต้องหาวิธีการทำให้เกิดขึ้นให้ได้ อย่าเพิ่งว่ากันไปกันมาเลย ผมเข้ามาแก้ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตรนั้น เราไม่ได้นิ่งเฉยเลย เดินหน้าหาจุดลงตัวให้ได้ ทั้งการวางแผนให้ครบวงจร เรื่องปัญหาทางกฎหมาย ระเบียบกฎต่างๆ มีเยอะแยะไปหมดนะ เพราะงั้นเราก็อยากจะขอความร่วมมือผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ปัจจุบันเป็นขั้นตอนการกำหนดหลักเกณฑ์ ในเรื่องของส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสาร และการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าอีก 1 สถานี

พร้อมทั้งการรับฟังความเห็นของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเป็นข้อพิจารณานะครับ ในการที่จะให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนและคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพื่อใช้ในการกำหนดกรอบเวลา วางระบบเดินรถและเชื่อมต่อ 1 สถานี รวมถึงการเจรจากับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ (BEM) เพื่อให้เข้ามาบริหารการเดินรถส่วนต่อขยาย เชื่อมต่อโครงข่ายให้เป็นระบบเดียวกัน แล้วขอให้เร่งรัดทุกขั้นตอนให้เสร็จโดยเร็ว จะต้องคำนึงถึงความสะดวกของประชาชนเป็นอันดับแรกแล้วก็คำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐด้วย เพราะถ้าใช้เงินทุนจำนวนมาก อะไรที่ทำไม่ได้ ก็ต้องทำให้ได้ ต้องหาวิธีการจนได้นะ แต่ผมก็ต้องระมัดระวังเรื่องกฎหมาย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยิ่งกว่านั้น ทุกโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟทางคู่ –รถไฟฟ้า – รถไฟความเร็วสูง - ทางด่วน – ท่าเรือ – ท่าอากาศยาน รวมความถึงโครงสร้างพื้นฐานทาง ICT ด้วย เหล่านั้นจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศโดยรวม ประชาชนก็มีทางเลือก มีอาชีพการงานมากยิ่งขึ้น มีโอกาสนะครับมากขึ้น แล้วเราก็จะได้พร้อมกันที่จะสนับสนุนบทบาทร่วมกัน ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในทุกมิติในอนาคต ทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ เชื่อมต่อกันหลายทาง รถไฟทางคู่ก็ทำใช้ในประเทศ รถไฟความเร็วสูง ก็ดูความจำเป็นว่าจะเชื่อมไปไหนก่อน วันนี้เขาก็เชื่อมกันมาหมดแล้ว ก็รอต่อที่เราด้วย ประเทศเพื่อนบ้านก็สร้างแล้ว จะต้องต่อกันไม่งั้นสร้างไปก็ไร้ประโยชน์ ผมไม่ได้สร้างทุกเส้นในเวลาเดียวกันเมื่อไร อันนั้นเพื่ออนาคต ในประเทศก็ทำ ไม่ว่าจะเป็น 1 เมตร ไม่ว่าจะเป็นทางคู่ สวนไปมา เราก็ทำทั้งหมด ก็ต้องแบ่งงบประมาณในการทำ เพราะหยุดอันใดอันหนึ่งไม่ได้เลย ต้องย้อนถามกลับมา ที่ผ่านมาไปอยู่ที่ไหนกันล่ะ ทำไมไม่ทำแบบนี้

รัฐบาลกำลังพยายามแก้ไขหลายๆ เรื่องอยู่ แม้ว่าปัญหานั้นที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดจะเกิดจากการทำสัญญาไว้เดิมๆ ก่อนที่รัฐบาลนี้ หรือก่อนที่ผมเข้ามาก็ตาม เราต้องให้เวลากับเจ้าหน้าที่ ต้องรอบคอบ ทั้งเรื่องกฎหมายและการเจรจากับเอกชน ต้องคุ้มค่าที่สุด ไม่เอื้อประโยชน์อะไรต่างๆ เหล่านี้ อย่าไปมองอย่างเดียวนะ เจรจาแล้วเอื้อประโยชน์ ไม่ใช่หรอก รัฐจะต้องไม่เสียเปรียบ แล้วทำให้เร็ว ก็ไม่อยากให้ไปพูดจากันให้เสียหายต่อไป ไปเอื้อประโยชน์โน่นนี่ ก็ไม่มีใครทำหรอก ที่ผ่านมาสัญญาไม่ได้ระบุไว้ ใครจะทำก็เลยเกิดปัญหาขึ้น ต้องไปทำลูปขึ้นมาใหม่อีกลูปด้วยซ้ำไป

ทั้งนี้ สังคมไทย ควรเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ไว้ใจผม ไว้ใจคณะทำงานรัฐบาล เราพยายามจะแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ นั้นจะต้องเป็นบทเรียน ต้องนำไปสู่การปฏิรูป นำสู่การพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่ต้องวางไว้หลายๆ แผนต่อไป ทำงานให้เป็นระบบ ตามแผนงาน ตามยุทธศาสตร์ ทำให้ครบวงจร อย่าไปคิดเฉพาะต้นทาง แล้วก็ปลายทาง ตรงกลางก็สับสนอลหม่านกันไปหมดนะ ผมก็แก้ให้แทบตายอยู่นี่ บางอย่างก็สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ขออย่ามาต่อต้านกันอีกเลย พยายามทำทุกอย่างให้สำเร็จนั่นแหละ โดยไม่ได้มุ่งหวังผลประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ก็ขอฝากพี่น้องประชาชน รัฐวิสาหกิจ และสหภาพแรงงาน นักสิทธิมนุษยชนต่างๆ นั้นช่วยติดตาม หาความร่วมมือในการทำงานของ รัฐบาลนี้ และรัฐบาลต่อๆ ไปด้วย เพื่อความเป็นธรรม ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงกันเลยก็เกิดอะไรขึ้นไม่ได้ เหมือนเดิมนั่นแหละ ขัดแย้งกันอยู่ที่เดิมทั้งหมด ในขณะที่รอบบ้านเขาเดินหน้าไปได้เยอะแล้วนะ

ในการลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อจะไปติดตามการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล ผมก็พยายามเน้นในเรื่องของกลุ่มจังหวัด แล้วก็จังหวัดหลักที่มีขีดความสามารถ มีศักยภาพ ผมได้มีโอกาสประชุมร่วมกันรับทราบ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของ จ.ร้อยเอ็ด” ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันตามแนวทางประชารัฐ มีบริษัทประชารัฐจังหวัดแล้ว เพื่อจะมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับจังหวัด เนื่องจากวัยแรงงานร้อยละ 40 ละถิ่นฐาน จ.ร้อยเอ็ด ไปทำงาน แสวงโชคในต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ ทำให้เกิดการ “ขาดพลัง” ในการขับเคลื่อนจังหวัด

แนวคิดในการสร้างโอกาสสร้างรายได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องชาวร้อยเอ็ดในครั้งนี้ เป็นการสำรวจศัยกภาพที่แท้จริงของจังหวัด อันจะต้องเป็นปัจจัย “ภายใน” ที่สำคัญ แล้วนำมาเชื่อมโยงกับปัจจัย “ภายนอก” ซึ่งมีทั้งความเสี่ยงทางธรรมชาติ มีน้ำท่วม-น้ำแล้ง ทั้งนี้นโยบายรัฐบาล “ไทยแลนด์ 4.0” นั้นจะต้องสอดคล้องกับแนวโน้มของสถานการณ์โลกอีกด้วยในเวลาเดียวกัน ทุกอย่างเป็นห่วงโซ่ถึงกันทั้งหมด

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่เราค้นพบ คือ (1) ในเรื่องของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ “ทุ่งกุลาร้องไห้” วันนี้ไม่ร้องไห้แล้ว แต่ชื่อยังร้องไห้อยู่เกือบ 1 ล้านไร่ ใน จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งมี “ข้าวหอมมะลิ” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ แล้วได้รับการขึ้นทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ที่เรียกว่า GI สำคัญที่สุดนะครับเรื่องสินค้า GI นี่ ผมก็เร่งรัดกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้ว กระทรวงพาณิชย์ไปแล้ว ช่วยกันดำเนินการ ที่ผ่านมาอาจจะทำได้ช้าเกินไป ก่อนผมเข้ามา อันนี้เราจดไปแล้วตั้งแต่ปี 2550 ต่อไปก็ต้องส่งเสริมให้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI เหล่านี้ เช่น ข้าว หรืออะไรอย่างอื่นก็แล้วแต่ เพื่อส่งออกไปขายใน EU ต่อไป หลายๆ กลุ่มประเทศเขาต้องการ เราต้องทำให้ถูกต้องตามมาตรฐาน

นอกจากนั้น ต้องนำเอาวิทยาการสมัยใหม่ มาใช้ในการปรับโครงสร้างการผลิต การแปรรูป และการสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับ “ข้าวหอมมะลิแห่งทุ่งกุลาฯ” ด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ เชื่อมโยงกับเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ให้ได้ในอนาคต จ.ร้อยเอ็ด ของเรานั้นอาจเป็น “Rice Innopolis” ก็ได้ เกี่ยวกับเรื่องข้าว ต้องมองให้ครบวงจร ดูแลเรื่องของ New Start-up ไว้ด้วย แล้วก็การซื้อขายผ่านทาง Internet ชำระเงินผ่านระบบ Electronics เป็นต้น เหล่านี้นะครับ เราต้องทำเป็น 2 อย่าง ยังไงก็ตาม ก็ต้องมีทั้งการเกษตร มีทั้งอุตสาหกรรม เพื่อเป็นทางเลือก หรือเป็นอาชีพเสริม เราเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เลย แต่ทำอย่างไรจะไม่มีผลกระทบซึ่งกันและกัน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมไม่เสียหาย คนจะได้กลับมาสู่บ้าน ลูกอยู่กับพ่อกับแม่ ทำงานในจังหวัด เหล่านี้เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันหมด กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ ก็ไม่แออัด เราขยายเท่าไรก็ไม่พอหรอก ทางด่วน ทางรถไฟ รถไฟฟ้า ไม่มีพอ เพราะฉะนั้นผมว่าไปสร้างในแต่ละภูมิภาค แต่ละกลุ่มจังหวัด แต่ละจังหวัดดีกว่านะ ยังทำได้อยู่ เพราะพื้นที่ยังมีอยู่นะครับ ไม่งั้นในกรุงเทพฯ เวนคืนกันเสียหาย งบประมาณมากมาย ข้อขัดแย้งสูง

(2) คือเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยว ให้เป็น “Package” คือเชื่อมโยง เชื่อมโยงกันให้ได้ ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวมา จ.ร้อยเอ็ด ราว 700,000 คนต่อปี แต่วันพักเฉลี่ยเพียง 2 วัน แต่ถ้าเรามองตนเองเป็นศูนย์กลาง แล้วเชื่อมโยงเข้ากับเส้นทางและสถานที่ท่องเที่ยงอื่นๆ ในจังหวัดข้างเคียง ในกลุ่มจังหวัด ผมให้แนวทางไปอย่างนั้น มาร้อยเอ็ด แล้วต้องไปที่อื่นด้วย ได้หรือไม่ มีสถานที่ท่องเที่ยวที่ดึงดูดใจคนได้หรือไม่ ใช้เวลามากกว่านี้หน่อย ก็ได้ทุกจังหวัด เพราะบ้านเรานี่มีของดีๆ ทุกจังหวัด ถ้าทำลักษณะเป็น “แพ็กเก็จ ทัวร์” ก็น่าจะดีนะ สร้างแรงดึงดูดได้มากขึ้น กระทรวงการท่องเที่ยวรับไปแล้ว

เราก็อยากจะให้เป็นอย่าง ที่เขาเรียกกันว่า “สามเหลี่ยมท่องเที่ยวสาเกตนคร” คือชื่อเดิมของ จ.ร้อยเอ็ด ก็จะเป็นแนวคิดเริ่มต้น แล้วก็ต้องพัฒนาต่อไป จะได้ไปเชื่อมโยงกับ แพ็กเก็จของการท่องเที่ยวต่างประเทศด้วย มาประเทศเรา ไปประเทศเพื่อนบ้าน อะไรทำนองนี้ ในแต่ละ คลัสเตอร์นะของการท่องเที่ยว จะเพิ่มมูลค่า ทั้งการใช้จ่ายในพื้นที่ มูลค่าของรัฐ แล้วก็ช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านเขาด้วยนะ สนับสนุนซึ่งกันและกันนะครับ Stronger Together สิงที่สำคัญที่สุด คือเรืองของการปรับปรุงระบบการให้บริการ ความสุภาพเรียบร้อย การอำนวยความสะดวก การดูแลความปลอดภัย การทำบ้านเมืองให้ “สะอาดตา น่าอยู่” ปราศจากขยะอะไรเหล่านี้นะครับ หญ้ายาวๆ ข้างถนนนี่ต้องกำจัดให้หมด หน้าบ้าน หลังบ้านนะ จะสวยงามขึ้น ง่ายๆ ทุกคนทำบ้านตัวเองก็ช่วยกันแล้วล่ะ อย่ารอเจ้าหน้าที่อย่างเดียว เจ้าหน้าที่อาจจะไม่เพียงพอ

สำหรับโครงการอื่นๆ ขนาดใหญ่นะครับ อาทิเช่น โครงข่ายการคมนาคม และการบริหาจัดการน้ำนั้น ผมก็ได้รับเรื่องมาทั้งหมดแล้วก็สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่าอะไรอยู่ในแผนงานอยู่แล้ว อะไรที่ยังไม่อยู่ ผมก็ให้เสนองบประมาณเข้ามา ก็จะสนับสนุนงบกลางให้ทำให้ได้ แล้วก็จะเชื่อมโยงไปจังหวัดอื่นด้วย ที่เป็นกลุ่มจังหวัดเดียวกัน ไม่งั้นผมไปไม่ครบทุกจังหวัด บางจังหวัดก็เลยไม่ได้ ผมได้สั่งงานไปใหม่แล้ว ให้กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานเข้าไปดูงานของตัวเองในลักษณะเป็นกลุ่มจังหวัด แล้วผมไปที่ไหนก็ตาม กลุ่มจังหวัดเหล่านั้นก็จะได้ไปด้วย เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง นี่คือประเด็นของผม งบประมาณตรงนี่สำคัญ ส่วนภายในมีงบประมาณปกติอยู่แล้วก็ว่ากันไป ทุกจังหวัด งบบูรณาการก็ไปเอามาเพิ่มเติมกันในนั้น ในเรื่องเหล่านี้ รัฐบาลวางรากฐานไว้ทั้งหมด เราต้องต่อ “จิ๊กซอ” เหล่านี้ให้สมบูรณ์ เติมให้เต็ม ให้เป็นรูปร่างขึ้นมา ไม่ใช่ต่อกันเป็นตอนๆ ท่อนๆ แล้วก็เชื่อมกันไม่ได้ ก็เป็นภาพสวยงามไม่ได้ แหว่งๆ เว้าๆ ตรงโน้น ตรงนี้ทุกเรื่องไปเลย

สำหรับการนำพาประเทศไทยให้หลุดออกจากคำว่ากับดักรายได้ปานกลางนั้น ไม่ง่ายแล้วก็ไม่ยาก ถ้าเราช่วยกัน โดยใช้อาศัยคำว่า “นวัตกรรม” คือสิ่งที่เราคิดมาใหม่ ทำมาใหม่ เพิ่มมูลค่า ไม่ทำสิ่งเดิมๆ ขายเขาต่อไป เหล่านี้เป็นปัจจัยหลักในการที่จะพัฒนาท่ามกลางโลก “ยุคโลกาภิวัฒน์” คือโลกไร้พรมแดน วันนี้นะแคบลง มีการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร กลายเป็น “โลกไร้พรมแดน” สามารถจะส่งข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะดีจะร้าย จะถูกหรือผิด ทำได้ภายในเวลาเป็นวินาที หรือ “เสี้ยววินาที” เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวัง การที่จะใช้โซเชียลมีเดีย ใช้ต่างๆ พูดจา หรือเขียนในสิ่งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง หรือไม่มีหลักฐาน ออกไปถึงโลกข้างนอกด้วยแล้วเขาจะมองประเทศเราอย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าใครเจตนาบริสุทธิ์ ผมไม่ว่านะ แต่บางคนเจตนาร้าย เจตนาไม่บริสุทธิ์ บางทีก็ให้ร้ายประเทศตัวเอง บุคคลเหล่านี้ไม่น่าเจริญนะ เพราะฉะนั้นเราต้องค้นหาตนเองให้เจอ ต้องเร่งพัฒนาตนเอง เดินไปข้างหน้าด้วยความมุ่งมั่นและศรัทธา ความศรัทธาสำคัญ จะเอาชนะอุปสรรคทุกอย่าง ทั้งภายในและภายนอกให้ได้ ผมก็จะต้องเข้มแข็ง อดทนให้มากยิ่งขึ้นเพราะงานยังไม่เสร็จ

พล.ประยุทธ์ กล่าวว่า เราต้องอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยใช้สอยอย่างคุ้มค่า ก็ต้องฝากนักสิทธิมนุษยชนด้วย คือถ้าเราขัดขวางเรืองนี้เรื่องโน้นไปซะทั้งหมดเลย ก็เกิดอะไรขึ้นไม่ได้ แล้วน้ำก็ท่วม ฝนก็แล้ง สร้างอะไร อุตสาหกรรมไม่ได้ สร้างแหล่งพลังงานไม่ได้ แล้วทั้งหมดบอกจะต้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติแบบซ้ายสุด หรือขวาสุดนี่ ผมก็ลำบากนะ วันหน้าเราจะเดินประเทศลำบาก ผมไม่ได้หมายความว่าจะไปเอื้อประโยชน์ให้ใคร เพียงแต่ว่าต้องทำ 2 อย่างให้มีความสมดุล ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่า ต้องเดินไปด้วยกัน ไม่งั้นรายได้ประเทศไม่มีขึ้นหรอก แล้วใครจะผลิตล่ะ ปลูกข้าวอย่างเดียวจะพอไหม วันหน้าปลูกข้าวไม่พอกินด้วยซ้ำไป วันนี้อาหารการกินเขาก็เน้นเรื่องเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ของเราทำได้ไหมล่ะ เราทำได้โอเค จะไปขายใคร เพราะต่างประเทศเขาก็ทำเหมือนกัน บางประเทศเขาไปลงทุนปลูกในประเทศที่แรงงานถูก หนักขึ้นเรื่อยๆ เราจะสู้เขาไหวไหม ถ้าเราไม่ปรับปรุงตัวเองวันนี้ ไปไม่ได้แน่นอน เราจะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น โดยที่กลไกตลาดโลกต่ำ ผมก็ไม่เห็นวิธีการ วิธีการที่เขาทำผ่านมาก็เห็นแล้ว ปัญหาเกิดอะไรขึ้น

เราอย่าไปบิดเบือนเลย เรามาช่วยกันให้ทุกคนเข้มแข็งด้วยการสร้างพลัง ร่วมมือกันและแก้ไขตัวเอง เพราะฉะนั้นลูกหลานมาทำงานต่างจังหวัดมีปัญหา พ่อแม่ก็ไม่มีแรง ต้องเช่า ต้องซื้อ ต้องโทรศัพท์สั่งงานตลอด แล้วระหว่างนั้นก็ไม่มีเงินใช้ ต้องกู้หนี้ยืมสินเข้ามา ต้องขายข้าวเอาเงินมาใช้หนี้ แล้วถามว่าเมื่อไหร่จะเจริญเติบโตขึ้นมาได้ ลูกหลานก็ไม่ได้กลับบ้านกันพอดี

เหล่านี้เป็นปัญหาสังคมต่อไปด้วย เราจะต้องร่วมมือกันสร้างทรัพยากรมนุษย์ของเรา วันนี้สร้างด้วยการเรียนรู้ มันไม่สายเกินไปหรอกนะ มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ คนเฒ่าคนแก่ เด็ก ผู้หญิง คนชรา ได้หมด อ่านหนังสือ เรียนการศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) ที่กำลังเรียนอยู่ก็ไปมหาวิทยาลัย ไปอาชีวะนะ เราต้องสร้างทั้งคนดี คนเก่ง ฉลาด มีคุณค่า มีคุณธรรม เราถึงจะมีองค์กรที่มีจริยธรรม มีรัฐบาล หรือมีประเทศที่เป็นธรรมาภิบาล ทุกอย่างมันเริ่มจากคนทั้งสิ้นนะ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ก็ตาม เราต้องใส่ใจ ให้การสนับสนุนทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน เชื่อมโยงกัน เกื้อกูลกัน ทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ สตาร์ทอัพด้วย เอสเอ็มอีทั้งหมดหละ มันเป็นห่วงโซ่เดียวกันทั้งหมด ความต้องการ การผลิต ไปถึงวัตถุดิบ ไปถึงการแปรรูป สร้างนวัตกรรม เพิ่มมูลค่า ไปถึงการตลาดในประเทศ ในภูมิภาค ในต่างประเทศ มันโยงกันหมด เราไปหยุดอันใดอันหนึ่ง มันไม่ได้หรอก อยากให้เข้าใจด้วย เราถึงมีบริษัทประชารัฐเกิดขึ้นมาไง มันจะได้เชื่อมต่อไอ้รอยต่อเหล่านี้ ทุกคนจะต้องมีความเชื่อมั่นศรัทธา ยอมรับในการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน คิดแล้วก็ทำ หาวิธีในการทำให้ได้ ถ้าคิดแล้วไม่ทำ หรือคิดแล้วต่อต้านแบบเดิม ไม่มีไปรอดหรอก สำเร็จก็ไม่สำเร็จ

หลายคนเขาทำแล้ว เขาไม่ต่อต้าน เขาทดลองทำดู วันนี้เขารวยหมดแล้ว ปลูกกล้วย ปลูกถั่ว ปลูกอะไรต่างๆ แล้วแต่ แต่ปลูกข้าวก็ยังบ่นกับผมว่า แหม ขายข้าวไม่ได้ ขอให้รัฐบาลช่วย ผมจะช่วยอะไรได้ล่ะ ในเมื่อซื้อมาราคาสูงกว่าท้องตลาด แล้วมันจะไปขายใคร เงินของประเทศมันก็หมดไป การพัฒนาประเทศมันก็หายไป การช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มอื่นก็ไม่มีอีก การลงทุนก็ไม่เกิดอีก แล้วมันจะไปยังไง มันจะถอยหลังจากปานกลาง ลงไปรายได้ต่ำอีกหรือเปล่า เท่านั้นเอง เพราะมันล้มเหลว

เราต้องมองโลกไปด้วยในปัจจุบัน อย่ามองแค่ที่บ้านตัวเอง ที่จังหวัดตัวเอง ตำบล อำเภอ ผมว่าไม่พอ เราต้องเปิดตาให้กวาง เรียนรู้ ฟัง อ่าน เชื่อไม่เชื่อก็เรื่องของท่าน ถ้าเชื่อ แล้วทำ แล้วมันดี มันก็โชคดีของท่านไป ถ้าไม่เชื่อ หรือเชื่อ แล้วไม่ทำอะไรเลย มันก็ได้เท่าเก่า

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ต้องมองคนต่างชาติเขาด้วย เขาก็มุ่งจะมาลงทุนในประเทศไทย เขามาพบผมเกือบทุกวัน เขาอยากจะลงทุนที่นี่ ที่โน่น อยากให้คนไทยไปลงทุนบ้านเขา บ้านเรายังมีศักยภาพเป็นศูนย์กลาง เขาพูดกับผมแบบนี้ แล้ววันนี้บ้านเมืองเราก็สงบดี ก็สงสัยว่าทำไมมันยังมีกระแสเหล่าโน้นเหล่านี้แต่ผมอธิบายเขาไปแล้ว อยากให้เขามาดูตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2557 ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วผมเป็นคนทำหรือเปล่า แล้ววันนี้เราทำอะไรเสียหายกว่าเดิมหรือเปล่า มันก็เพียงแค่คำเดียวที่ทุกคนคิดว่ามันยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือคำว่าประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ซึ่งผมไม่เคยละเมิดใครเลย เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ประกาศไว้แล้วทั้งสิ้น

กฎหมายเขาไม่ยกเว้น ไม่ว่าจะเด็ก ผู้หญิง คนแก่ คนชรา กฎหมายเขาเขียนสำหรับมนุษย์ทุกคน เพียงแต่ว่ามากน้อย เกณฑ์การลงโทษมันก็ต่างกันออกไป อย่าฝืนกฎหมาย นะ มันให้อภัยกันไม่ได้ เพราะกระบวนการยุติธรรรมมันมีอยู่ ให้ไปแล้วก็ยังไม่สำนึกอ้ะบางคน ปล่อยออกมาให้ออกมาก็ยังทำตัวเหมือนเดิม เหมือนกับประเทศนี้ไม่มีขื่อมีแป สังคมเขาก็รังเกียจอยู่นะ ประชาชนเขาก็เบื่อหน่าย ผมก็ไม่รู้ท่านออกมาพูดอยู่ได้ยังไงนะ

ผมพยายามทำอย่างเต็มที่ ระมัดระวัง พยายามไม่ให้มีผลกระทบกับใคร คนบางคนก็ต่อต้านผมอยู่คนเดียว คนเดิมๆ ทำความเสียหายไม่รู้กี่ปีมาแล้ว สังคมดูเอาแล้วกันว่าจะฟังคนอย่างนี้ต่อไปหรือไม่ หรือจะฟังผมหรือจะไม่ฟังผมก็แล้วแต่ท่านเถอะ ยังไงผมก็ต้องทำอยู่ดีเพื่อประเทศของผม เราต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันนะครับอย่าหวาดระแวงกัน สร้างเงื่อนไข เราทอดทิ้งใครไม่ได้นะครับ ถึงแม้ว่าคนต่อต้านผม ผมก็ทิ้งเขาไม่ได้อีก แต่เขาอย่าทำผิดกฎหมายก็แล้วกัน วันหน้าเขาอาจจะเข้าใจผมก็ได้ คนที่ไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร แต่อย่าด่าผมมากนัก บางครั้งความอดทนผมก็จำกัดนะ กฎหมายมันก็มีอยู่

เราต้องมองเลยไปถึง 70 ล้านคน อย่างที่บอกแล้ว ไม่ใช่มองในบ้านตัวเอง หมู่บ้าน ตำบล ตัวเองเท่านั้น มันมีอีกตั้งเยอะแยะ 70,000 กว่าหมู่บ้าน นะ 6,000-7,000 ตำบล ทำนองนี้ตัวเลขกลมๆ อ้ะนะ มันเป็นขนาดนั้นนะ ไม่ใช่แค่บ้านท่านอย่างเดียว แล้วท่านบอกตรงนี้เดือดร้อน ที่อื่นเขาอาจจะมีเดือดร้อนเหมือนกัน แต่เดือดร้อนมากกว่า เนี่ยรัฐบาลต้องมองอย่างนี้ มองให้กว้าง มองให้ลึกแล้วแก้ปัญหาให้เป็นระบบ ไม่งั้นจะพันไปหมด ไอ้นี่ได้ ไอ้นี่ไม่ได้ แล้วจะทำยังไง วันหน้ามันก็พึ่งพาอาศัยกันไม่ได้ มันก็ดึงจูงกันไปทั้งประเทศนั่นแหละ

วันนี้เราต้องมองเลยไปแล้วว่า ในบ้านตัวเอง มองไปถึง 70 ล้านของคนไทยทั้งหมดนะครับต้องไปด้วยกัน แล้วก็มองต่อไปสู่ 250 ล้านคนใน CLMV ซึ่งเป็นตลาดร่วมของเราเนี่ยความร่วมมือทั้งหมด มองไป 600 ล้านคนในอาเซียน แล้วก็มองไปใน 7,500 ล้านคนทั้งโลกไม่ได้มีคนแค่นี้นะ นี่ยังไม่รู้มีโลกอื่นด้วยหรือเปล่าเลย เค้าสำรวจอยู่เนี่ย นะฉะนั้นทุกคนนั้น เป็นทั้งเพื่อนร่วมโลก ทั้งผู้ร่วมชะตา และก็เป็นลูกค้าของเรา ในเวลาเดียวกันด้วยนะ ทำยังไงเราจะแข่งขันกันน้อยลง ร่วมมือ สนับสนุน ช่วยกัน ไตรภาคี

ในด้านการผลิต ถ้าหากว่าเราผลิตออกมา ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม เราเน้นเรื่องการเพิ่มปริมาณการผลิตอย่างเดียว มันก็จะทำให้เกิดการส่งออกที่มีปัญหา เช่นในอดีต ต้องเน้นการวิจัยและพัฒนา สร้างนวัตกรรม ใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถสร้างสินค้าตัวใหม่เพื่อให้ไปสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้โดยเร็ว ไม่งั้นราคาสินค้าที่ขายออกมันก็ตกลงไปทุกวัน เพราะมันเป็นสินค้าเก่า ออกแบบก็ต้องใหม่ๆ ต้องไปดูเรื่องสไตล์ต่างๆ มัสไคลิสต์เข้ามาประกอบด้วยในเรื่องของการลงทุน การออกแบบ ทุกเรื่องต้องออกแบบหมด มีสตอรี่ต่างๆ แล้วมันจะขายของได้เอง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เราต้องลดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างประชาชนต่อประชาชนเอง ประชาชนต่อภาคธุรกิจ และทั้งหมดกับผม นะ กับรัฐบาล กับ คสช. เราจะได้เข้มแข็งไปด้วยกันนะครับ เปลี่ยนแนวความคิดต่อต้านอย่างเดียว มาเป็นความคิดที่จะเตรียมตัวเองให้พร้อมรับสถานการณ์ แล้วก็ทำให้ประเทศมีรายได้มากขึ้น ตัวเองก็จะดีขึ้นไปด้วย เราอาจจะใช้คำว่าอาจจะขยายฐานภาษีได้ในอนาคต เมื่อเรามีรายได้ดีขึ้น นะ เราจะได้มีเงินมาพัฒนาประเทศให้มากยิ่งขึ้น หลายอย่างต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น เพราะมันติดกับอยู่นานหลายปี หมดไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่องซะเยอะ เราต้องทำให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

วันนี้เราอาจทำเรื่องภาษีไม่ได้มากนัก ก็เห็นว่าทำเป็นสัญลักษณ์บ้างอะไรบ้างออกไป เพราะประชาชนเดือดร้อน แต่มีคนไปปลุกปั่นว่าเดี๋ยวจะโน่นนี่อะไรต่างๆ คงไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับภาษีในเกณฑ์ของคนที่ไม่ได้เสียภาษีซักอย่าง แต่ทุกคนอยากได้เงินกันหมด แล้วผมจะเอาเงินจากไหนมาให้ท่าน เพราะมันขึ้นภาษีไม่ได้ รัฐก็ได้เงินจากภาษีท่านแหละ มาทำงาน มาบริหาร เพียงแต่ว่าอย่าให้มันรั่วไหลก็แล้วกัน สำหรับตอนนี้ ผมก็พยายามเต็มที่นะ ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ร่วมมือกัน ทำต่อไป

ในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบเดิมๆ 5 ที่เรียกว่า เอสเคิร์ฟเดิม 5 อย่างเนี่ย ถ้าเราไม่ใช้เทคโนโลยีเพิ่มเติมไป ไม่ผลิตสินค้าตัวใหม่ มันก็จะมีปัญหาพันไปถึงเรื่อง ขายไม่ออก ไม่มีสินค้ารุ่นใหม่ ไม่มีแบบใหม่ๆ แข่งขันกับต่างประเทศแล้วไม่มีนวัตกรรม ไม่ตรงกับความต้องการของประเทศ เรามี 5 เอสเคิร์ฟเดิมกับ 5 นิวเอสเคิร์ฟใหม่ ที่มันทันต่อการเปลี่ยนแปลงของไทยแลนด์ 4.0 เนี่ย

โลกกำลัง 4.0 เราอยู่ 3.0 เราต้องทำ 3.0 วันนี้ให้เทคโนโลยีสูงขึ้น ใช้เครื่องจักเครื่องมือให้มากขึ้นเพราะวันหน้าเราอาจจะขาดแคลนแรงงานมากกว่านี้ก็ได้นะ ต้องคำนึงถึงแรงงานในประเทศด้วย วันนี้ใช้แรงงานเพื่อนบ้านซะเยอะนะ เพราะคนไทยไม่ชอบทำงานแบบนี้ คิดทั้งหมด รัฐบาลต้องคิดแบบนี้ ถ้าเราไม่มองไม่เตรียมคนไม่ศึกษาให้การศึกษาแล้วจบมาไม่ตรงตามความต้องการของประเทศ มันก็จะไปทำอะไรไม่ได้ทั้งหมด แล้วจะเรียนมาทำไม เสียเวลาเปล่านะ แข่งขันกับใครก็ไม่ได้ ทำงานไม่เป็น

ฉะนั้นหากเราใช้งบประมาณแบบเดิมจำนวนมาก ไปส่งเสริมสิ่งที่ล้าหลัง ให้พออยู่ได้ ไม่ล้มไม่อะไรต่างๆ แต่มัน ขายไม่ออกไงแล้วมันก็เท่ากับอุดรูรั่วที่มันไม่มีวันที่จะอุดได้สำเร็จ เพราะฉะนั้นเราต้องใช้งบประมาณส่วนหนึ่งไปส่งเสริมการพัฒนา ไม่ต้องการให้มันล้มไปทั้งหมด เปลี่ยนได้ก็เปลี่ยน เปลี่ยนให้ทันสมัย ไปทีละส่วนๆ เดี๋ยวคราวหน้ามันก็ทันสมัยใหม่ทั้งโรงงาน ถ้าของเดิมมันกำลังจะทรุด แล้วก็จะไปทับแบบเดิมอีก ไม่มีแผนงานในการปรับปรุงพัฒนามันก็จะล้มไปเหมือนเดิมแล้วก็ใช้เงินเสียหายเยอะแยะ

รัฐบาลก็ต้องให้เงินกู้ไป บางอย่างก็ต้องเป็นเอ็นพีแอล แล้วผมถามว่ายังไง ให้ก็เสียหายกับประเทศ ไม่ให้ก็หาว่าใจดำ วันนี้ทุกคนกลัวเอ็นพีแอล แต่เวลา วันนั้นไม่เห็นพูดเลยว่าการกู้เนี่ยหรือให้เงินไปแล้วเนี่ย ไม่ดีเพราะว่าจะมีปัญหา ก็คนที่จะมากู้ก็ต้องดูตัวเองว่าไปเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้หรือเปล่า มีรถยนต์เพื่อใช้งาน มีบ้านที่พอเพียง บางคนเป็นหนี้ครัวเรือนโดยที่หมดไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง โทรศัพท์ เที่ยวเล่น ดื่มสุรา ติดสุรา ก็มีหนี้ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้บัตรเครดิต มันเป็นธุรกิจ มันเป็นเสรีในการที่จะค้าขายในเรื่องเหล่านี้ ท่านก็ต้องมีภูมิคุ้มกันของท่าน รสนิยมสูง รายได้ต่ำมันไปไม่ได้หรอก เอารสนิยมพอสมควร มีภูมิคุ้มกันที่ดีก็แล้วกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้าเราร่วมมือไปกับรัฐบาล นำสิ่งที่รัฐบาลคิดที่รัฐบาลกำหนดเป็นยุทธศาสตร์เอาไปคิดไว้ล่วงหน้า ตามเราไปด้วยนะ เพื่อจะวางแผนทางธุรกิจของตนเอง ของครอบครัว ถ้าหารือกันด้วยความเข้าใจ สงสัยก็ถามพูดภาษาเดียวกัน ไม่ใช่พออ้าปากพูดก็ค้านกันแล้ว แล้วมันยังไม่รู้เลยว่าเค้าจะทำอะไร ค้านตั้งแต่ต้น อะไรที่คิดว่าตัวเองเสียเนี่ยไม่ได้เลย ก็ดูสิว่ามันเสียแล้วมันจะได้อะไรต่อมา

ไม่มีอะไรที่มันจะได้มาตั้งแต่ต้นโดยไม่เสียอะไรเลยไม่มีในโลกใบนี้ มีที่ไหน อย่าคิดอยู่ที่เดิม นับวันถ้าเราทำแบบเดิมๆ ก็จะขายใครไม่ได้ ต้องรีบสร้างมาตรฐาน สร้างสิ่งใหม่ๆ ไปแข่งขันในตลาดโลกให้ได้ อย่าไปฟังเสียงนกเสียงกา พูดทุกวันเนี่ย ฟังผมนี่ แล้วจะรู้ว่ามันจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดในวันที่ผมอยู่เนี่ย เกิดวันหน้ารัฐบาลเอาไปใช้ประโยชน์ทั้งสิ้นแล้วพยายามจะไม่ให้มันเกิดวันนี้ วันหน้าท่านจะเอาเงินที่ไหนไปพัฒนาประเทศ เท่ากับเหมือนเดิมนั่นแหละ ทำเหมือนเดิมก็ได้เหมือนเดิม ลำบากเท่าเก่า มากกว่าเดิมอีก เพราะโลกเขาพัฒนาไปแล้วไง

ฉะนั้นเราต้องเร่งในการเอาผลวิจัย มาพัฒนา มาขับเคลื่อนให้ได้โดยเร็ว สู่การผลิต สร้างแบรนด์ใหม่ สินค้าตัวใหม่ จะทำให้เราอยู่รอดได้ เราต้องมาพิจารณาร่วมกันว่าจะทำอย่างไร ภาคการผลิตขั้นต้น ซึ่งเป็นประชาชนผู้มีรายได้น้อย เป็นคนผลิตออกมา เช่น ปลูกข้าวเนี่ย ถ้าพัฒนาไปสู่นวัตกรรม เพิ่มมูลค่าแล้ว เขาจะได้อะไรกลับมา มากกว่าเดิมมั้ย ไม่ใช่เขาได้เท่าเดิม ไอ้ตรงกลางเนี่ยได้มากขึ้น มันต้องดูแลเขาด้วยสิ

การวิจัยและพัฒนาก็ต้องมีผลประโยชน์ตอบแทนนักวิจัย มาตรการ แรงจูงใจ อะไรเหล่านี้ มันทำใหม่ทั้งหมด ตอนนี้รัฐบาลทำทั้งหมด วันหน้าจะเล่าให้ฟังอีกที เรื่องวิจัยพัฒนา กองทุนวิจัยพัฒนา กองทุนการศึกษา ในประเทศ ต่างประเทศ รื้อทุกระบบ บางทีก็ไม่ได้เล่า หลายคนก็บอกไม่ได้ทำอะไร ไอ้ทำแบบนี้มันยากกว่าที่มันทำง่ายๆ เยอะแยะไป ที่ทำมาก่อน ง่ายๆ ได้หน้าได้ตา ผมไม่อยากได้หน้ามากกว่านี้อีกแล้ว พอแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในเรื่องของการสร้างชาติ ต้องคิดว่าเราเริ่มจาก”การสร้างคน” เราเริ่มจากการสร้างคนที่ไม่พร้อมไม่ได้ ชาติกับคนต้องแข็งแรงไปด้วยกัน และแผ่นดินเราถึงจะแข็งแรงเป็นแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง การศึกษาเป็นปัจจัยหลัก ที่สำคัญที่สุด 2 ปีที่ผ่านมานั้นแก้ทุกเรื่อง ปัญหาการศึกษามีการทำงานที่ผิดเพี้ยน ไม่สอดคล้อง ไม่บูรณาการไม่เกื้อกูล ภายในระบบการศึกษา ผมไม่ว่าใครบกพร่อง อยากให้ทุกคนปรับตัวและฟังในสิ่งที่ผมสำรวจมาแล้วเนี่ย มันบกพร่องอะไรบ้าง เช่น ผู้เรียนขาดทักษะในการทำงาน, ผลิตคนไม่ตรงกับความต้องการภาคการผลิตของประเทศ, ไม่รองรับโลกในตวรรษที่ 21 ไทยแลนต์ 4.0 เนี่ยนะ, ไม่ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา, ไม่เสริมสร้างนวัตกรรม หรือค่านิยมที่มุ่งเรียนสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ แล้วไม่มีงานทำ ทำให้เกิดการเสียสมดุลด้านแรงงาน, ขาดแรงขับเคลื่อนประเทศ เหล่านี้ เป็นต้น

ที่ผ่านมานั้น หลายสิบปีมาแล้ว การพัฒนาคน ทำได้ช้า ปัจจุบัน รัฐบาลนี้เดินหน้า “ปฏิรูปการศึกษา” ใน 3 มิติ คือ (1) โครงสร้างหน่วยงานและงบประมาณ (2) การบริหารทรัพยากรบุคคล แก้ปัญหาครูเกิน-ครูขาดอัตรา ครูสอนไม่ตรงสาขา และทำแผนการผลิตครู 10 ปีล่วงหน้า การพัฒนาโรงเรียน โรงเรียนขนาดเล็กจะทำอย่างไร โรงเรียนที่มีนักเรียนเพียงไม่กี่คน มีครู 5 คน มีเด็ก 15 คน มีผู้อำนวยการโรงเรียนเนี่ย จะทำยังไง ก็ต้องให้จบไปก่อน แล้ว ใหม่ก็พอแล้ว หลายคนก็บอก จะไปยุบหมด ทำไม่ได้มั้ง เด็กก็เกิดปัญหาหมด ย้ายคนไปเรียนที่โน้นที่นี่มันไม่ง่าย พ่อแม่ก็เป็นห่วงกังวล เพราะฉะนั้นวางระบบให้ได้ภายใน 6 ปีมั้ง ควรจะจบได้แล้ว โรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีคนเรียน คนเรียนน้อยมาก เป็นภาระ งบประมาณสูงมาก แต่ที่ผ่านมาท่านก็ทำได้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่มันไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

ในเรื่องที่ (3) คือเรื่องระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น อินเทอร์เน็ต – ดาวเทียมเพื่อการศึกษา ต้องปรับปรุงทั้งหมดนะครับให้เข้าถึงทุกโรงเรียน ทั่วประเทศ แม้จะอยู่ห่างไกลภายในปี 2559 เพื่อจะให้การศึกษาของไทย มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล มันเป็นการเริ่มต้น เพราะมันหยุดอยู่กับที่มานานแล้ว เพราะฉะนั้นการที่จะเริ่มต้นให้เร็ว มันอยู่ที่เราทุกคน ทั้งครู ผู้ปกครอง เด็กนักเรียน รัฐบาล ข้าราชการ ต้องร่วมมือกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ กระทรวงศึกษาธิการ หลายคนก็หาว่าไม่ได้ทำอะไร เขาทำไปหลายอย่าง มันถึงต้องมารวบขึ้นมาทำแล้วก็สั่งแก้ไปก่อน แล้ววันหน้าก็กลับที่เก่า คือมีการบริหารราชการปรกติอยู่แล้ว เราต้องมาดูหลายๆ เรื่องด้วยกัน ถ้าเราไม่ใช้คำสั่งมาตรา 44 ในการแก้ปัญหา วันนี้ก็แก้ไม่ได้หรอกครับ มันหลายหน่วยงาน หลายกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่า ไปสั่งโน่น นี่ นั่นได้อย่างเดียว มันต้องฟังเขาสิ เรียกเขามาแล้วก็ฟัง ที่ผ่านมาไม่ต้องฟังใครนี่ ต่างคนต่างทำ

แล้วก็ใช้แนวทาง “ประชารัฐ” เอาภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบทั้งระดับอนุบาล ประถม มัธยม อุดมศึกษา อาชีวะ กศน. การศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การอ่านหนังสือสำคัญที่สุด อ่านให้ออกนะ ไม่ใช่เรียนจบประถมยังอ่านหนังสือไม่ออก อย่างนี้ใช้ไม่ได้ อย่างนี้จะเรียกมาทำไม สร้างคนที่มีคุณภาพ และมีคุณธรรมด้วย รู้จักเผื่อแผ่แบ่งปัน เห็นอกเห็นใจคนอื่น มีจิตสำนึกดี เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญนะครับที่มันเกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งหมด อีกประการหนึ่ง ทะเลาะเบาะแว้งกันทุกวันเนี่ย ผมถามว่าเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยดีพอเพียงใด

ฉะนั้นต้องไปสอนหลักประชาธิปไตยพื้นฐานที่ถูกต้อง ที่มันควรจะเป็น ในห้องเรียนด้วย เช่น การทำงานเป็นทีม การคิดและทำไปด้วยกัน ใครมีข้อขัดแย้งเห็นต่างการให้เกียรติและรับฟังความเห็นต่าง ก็มาหาข้อสรุปกันให้ได้ ไม่ใช่ สอนให้ทะเลาะเบาะแว้งไปหมด คิดนอกรอบอย่างเดียว มันก็ไปไม่ได้หมด สังคมก็แตกแยกอยู่แบบนี้ มีคนมาปลุกปั่นนิดหน่อยก็ไปหมด

อ้างว่าจะต้องอะไรล่ะ เป็นสิทธิมนุษยชน สิทธิส่วนบุคคล ก็สิทธิส่วนบุคคลให้คนเหลือเยอะๆ คนจำนวนมาก เขาต้องการ ไอ้ไม่ต้องการอยู่ 2 คนเนี่ยแล้วจะฟังใครล่ะ นั่นแหละประชาธิปไตย มันง่ายๆ แต่นี้ ขณะเดียวกัน ต้องเอาอีก 2 คนมาแก้ให้เขาด้วย ให้เขายอมรับให้ได้ ไปกับ 10 คนที่ว่าเนี่ย มันก็ไปทั้ง 12 คนเนี่ย วันนี้พอรวม 12 คน มันแตกกันทั้ง 12 คน แล้วจะคุยกันรู้เรื่องมั้ย นั่นแหละคือความจำเป้นในการใช้อำนาจของผมในเวลานี้เท่านั้นเอง ให้เกียรติ รับฟังความคิดเห็น แต่อย่าผิดกฎหมาย อย่าสร้างแนวคิดที่เป็น “ปฏิปักษ์” ต่อกัน อยู่ร่วมกันในสังคมแล้ว ถ้าเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ปิดใจ ปิดหู ปิดตา ไม่เคารพความเห็นคนอื่น ไม่ได้หรอก

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ หาว่าผมปิดหูปิดตา ผมเปิดทุกตาผมเนี่ย เปิดจนตากว้างแย่อยู่แล้ว หูก็ใหญ่ขึ้น ปากก็กว้างขึ้น เพราะทั้งพูด ทั้งฟัง ทั้งคิด หัวโตขึ้นเยอะแล้วเนี่ย ต้องคิดทุกเรื่อง เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่มองแบบนี้ มันก็มองโลกแคบ สังคมก็แคบมันก็ไม่ทันการ คนอื่นเขา เราจะดูแลประชาชนได้อย่างไรล่ะ ถ้าไม่รู้ทุกข์สุขประชาชนทุกคน ก็ฟังทุกคนนั่นแหละ แต่ผมรับไม่ได้ตรงที่ไปพูดจาเสียหาย หรือไปฝ่าฝืนกฎหมายแค่นั้นเอง มองความสงบสันติส่วนรวมให้ได้ มองความก้าวหน้า มองการพัฒนาท้องถิ่น ไม่ชิดซ้ายหรือขวาไปจนสุดโต่ง มันต้องหาความพอดีกันให้ได้แล้วจะทำให้ประชาชนดีขึ้นได้อย่างไร จากปัญหาที่ผ่านมา

ใน 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำสิ่งใหม่ๆ หลายอย่างด้วยกัน หากติดตามดู แล้วก็ฟัง แล้วก็คิดตาม บางคนก็ไม่ค่อยได้ตามเท่าไหร่ก็เลยไม่ค่อยรู้ ไม่เป็นไร ผมก็จะพยายามพูดให้มากขึ้น คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับความขัดแย้งซะมากกว่า อะไรที่ทำดีดีถ้าไม่เกี่ยวกับตัวเอง ก็ไม่ฟัง นั่นแหละคือความยากง่าย นั่นคือการทำงาน ฉะนั้นทุกคนต้องเรียนรู้ไม่ว่าจะมีอาชีพอะไรก็แล้วแต่ พยายามต้องปรับปรุงตัวเองว่าต้องรู้ทุกเรื่อง แล้วเอาสิ่งที่เรารู้ทุกเรื่องมาคิดร่วมกัน มันถึงจะไปได้

ถ้าไม่รู้ทุกเรื่อง แต่ไปแสดงความคิดเห็น ในเรื่องที่ไม่รู้เลย มันก็ทะเลาะกันอยู่แบบนี้ เราจะใช้ความรู้สึกทำงานไม่ได้ เอาปัญหาทางการเมืองมาขัดแย้งกันอีก มันก็ยิ่งไปกันใหญ่ เราต้องกลับมาดูตัวเอง กลับมาดูบ้านเมือง ประเทศชาติของเรา ชุมชนท้องถิ่น บ้านเราจะเดินหน้าไปยังไง จะอยู่เดิมๆ หรือเปล่า จะติดกับดักตัวเองหรือไม่ รายได้เท่านี้เพียงพอมั้ย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องไปดูนะครับ ผมถึงบอกว่าเกษตร อุตสาหกรรม แล้วก็อื่นๆ มันต้องไปด้วยกันหมด ทุกพื้นที่มันถึงจะแข็งแรง เป็นพื้นที่ เป็นภูมิภาค เป็นกลุ่มจังหวัด แล้วก็เป็นจังหวัด ตำบล อำเภอ หมู่บ้าน รัฐบาลนี้ทำแบบนี้ ไม่ได้ทำตามคะแนนเสียงของใคร ของใคร ผมไม่ทำแบบนั้น ก็หลายคนก็ไม่ชอบแหละ แต่วันหน้ามันจะดีขึ้น ลองตามดูแล้วกันทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และการต่างประเทศ ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ อยู่ในประชารัฐทั้งหมดนั่นแหละ ต้องมาร่วมมือกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง