คาดระบบ "เอ็นทรานซ์ 4.0" เด็กแห่เรียนกวดวิชาเพิ่ม

สังคม
4 ก.ย. 59
19:33
1,632
Logo Thai PBS
คาดระบบ "เอ็นทรานซ์ 4.0" เด็กแห่เรียนกวดวิชาเพิ่ม
แม้ระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่ที่กำหนดให้สอบเพียงรอบเดียวจะแก้ปัญหาการวิ่งรอกสนามสอบ แต่มุมตรงกันข้ามยิ่งเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนเรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงมากขึ้น

นักเรียนชั้น ม.ปลายจำนวนไม่น้อย ต้องทุ่มเวลาให้กับการเรียนกวดวิชาไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมงในวันหยุด เพื่อให้พร้อมสำหรับมหกรรมการสอบที่จะเกิดขึ้น โดยการสอบวิชาความถนัดทั่วไป (GAT) และ การทดสอบวิชาความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (PAT) ครั้งที่ 1 จะเริ่มสอบในช่วงปลายเดือน ต.ค.ถึง ต้นเดือน พ.ย.นี้ ปลายเดือน ธ.ค. สอบ 9 วิชาสามัญ และเมื่อขึ้นสู่ปี 2560 ในเดือน ก.พ.คือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปิดท้ายด้วยการสอบแกท แพท ครั้งที่ 2 ในเดือน มี.ค.ยังไม่นับรวมการสอบรับตรงของหลายๆ มหาวิทยาลัย

 

 

การสอบหลายครั้งในรอบ 6 เดือน คืออุปสรรคทำให้ทั้งเด็กและผู้ปกครอง ส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับรูปแบบใหม่การคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ที่เตรียมใช้ในปี 2561 ซึ่งกำหนดการสอบเพียงครั้งเดียว แม้ไม่ต้องเหนื่อยกับการวิ่งรอกสอบและช่วยลดค่าใช้จ่ายแต่ยอมรับว่า โอกาสสอบเพียงครั้งเดียวยิ่งทำให้เครียดและเมื่อไม่สามารถคาดหวังกับความรู้ในห้องเรียนจึงหนีไม่พ้นการมุ่งเรียนกวดวิชาให้มากขึ้น

 

 

สำหรับการสอบที่ยังคงรูปแบบเดิมทั้งหมด ไม่ได้สร้างความกังวลให้กับสถาบันกวดวิชาเพราะเนื้อหาที่ใช้สอนส่วนใหญ่ แทบทุกที่จะใช้การเก็งข้อสอบย้อนหลัง สอดแทรกวิธีลัดต่างๆ เพื่อให้จดจำและเข้าใจได้ง่ายขึ้น พร้อมเชื่อด้วยว่า รูปแบบใหม่อาจไม่ทำให้เด็กกวดวิชาเพิ่มขึ้นแต่ความกังวลคือข้อสอบในวิชาหลักอย่างภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคม ที่มีอยู่ในทุกการสอบ อาจสร้างความยากลำบากให้กับเด็ก เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่ข้อสอบส่วนกลาง จะแบ่งแยกให้ตรงตามความต้องการของแต่ละคณะ

 

 

การคัดเลือกรูปแบบใหม่ คือนำแอดมิชชัน และเอ็นทรานซ์ มาผสมกัน นักเรียนจะได้สอบรอบเดียวในช่วงเดือน มี.ค. หลังจบการศึกษาชั้น ม.6 สอบเหมือนเดิมคือ แกท แพท วิชาสามัญ และโอเน็ต คะแนนที่ได้จะนำไปเลือกคณะ-สาขา 4 อันดับ เพื่อเข้าสู่การเคลียร์ริ่งเฮาส์ 2 รอบ หากติดรอบใดรอบหนึ่ง ระบบจะตัดสิทธิ์ผู้นั้น ไม่สามารถยื่นซ้ำได้

ส่วนมหาวิทยาลัยถูกห้ามจัดสอบรับตรงแต่โควต้าที่ไม่ใช่การสอบยังคงอยู่และในวันพรุ่งนี้ (5 ก.ย.2559) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) พร้อมตัวแทนมหาวิทยาลัยราชภัฏ ราชมงคล และ เอกชน จะหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง