ปลัด สธ.คุมเข้มไวรัสซิกา 4 จังหวัด-เชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2 คน

สังคม
5 ก.ย. 59
19:26
534
Logo Thai PBS
ปลัด สธ.คุมเข้มไวรัสซิกา 4 จังหวัด-เชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2 คน
ปลัด สธ.สั่งเฝ้าระวังสถานการณ์โรคติดเชื้อไว้รัสซิกาเข้มงวดใน 4 จังหวัด หลังพบหญิงตั้งครรภ์เข้าข่ายเฝ้าระวังโรค 30 คน ขณะที่ จ.เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2 คน แพทย์คาดหากไวรัสซิการะบาดในไทยและสิงคโปร์คนละสายพันธุ์กับอเมริกาใต้ ลดโอกาสคลอดทารกศีรษะเล็ก

วันนี้ (5 ก.ย.2559) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณะสุข (สธ.) เปิดเผยหลังการประชุมทางไกลผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์เกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาว่า ขณะนี้ต้องเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มงวดใน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.เพชรบูรณ์ จ.จันทบุรี และ จ.บึงกาฬ เนื่องจากพบหญิงตังครรภ์เข้าข่ายเฝ้าระวังโรคถึง 30 คน ในจำนวนนี้คลอดแล้ว 6 คน และไม่พบทารกมีสมองเล็กผิดปกติเช่นที่พบในประเทศแถบละตินอเมริกา แต่หญิงตั้งครรภ์ที่เหลือ 24 คนต้องเฝ้าระวังและดูแลอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ได้กำชับให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มงวด โดยเน้นค้นหาและติดตามผู้ป่วยที่มีอาการเป็นไข้ มีผื่นแดง ตาแดง ปวดข้อ โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์

นอกจากนี้ยังย้ำให้ทุกจังหวัดดำเนินการมาตรการ 3 เก็บ คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ และเก็บแหล่งกักน้ำ เพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคนี้

ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข หรือ EOC จังหวัดเชียงใหม่ ยืนยันว่ามีผู้ติดเชื้อเพื่มเมื่อวานนี้อีก 2 คน ทำให้ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 11 คน ทั้งหมดอยู่ใน อ.สันทราย ในจำนวนนี้ 3 คนเป็นหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ

นพ.ไพศาล ธัญญาวินิชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของโรคครอบคลุมทั้งจังหวัดเพื่อป้องกันไวรัสซิกาและไข้เลือดออกพร้อมๆกัน พร้อมยืนยันว่าขณะนี้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัดแล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือผู้ที่ถูกยุงกัดถึงร้อยละ 80 จะไม่แสดงอาการ จึงอาจมีการแพร่เชื้อไปพื้นที่อื่นโดยไม่รู้ตัว

ส่วนหญิงตั้งครรภ์ 3 คนที่ติดเชื้อไวรัสซิกา เจ้าหน้าที่ได้เฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด แม้จะหายจากอาการป่วยแล้วก็ตาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเทศไทยยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ และยังไม่มีรายงานผลการวิจัยเชื้อไวรัสซิกาว่าเป็นชนิดใด ซึ่งหากเป็นชนิดเดียวกับที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศสิงคโปร์ แพทย์ระบุว่าอาจลดโอกาสเสี่ยงที่หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อคลอดทารกมีศีรษะเล็กผิดปกติ เพราะเป็นคนละสายพันธุ์กับที่ระบาดในแถบประเทศอเมริกาใต้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง