กสทช.แนะปชช.ตั้งคำถามเข้ารหัสยากป้องกันโดนล้วงข้อมูล

สังคม
8 ก.ย. 59
12:50
257
Logo Thai PBS
กสทช.แนะปชช.ตั้งคำถามเข้ารหัสยากป้องกันโดนล้วงข้อมูล
ปัญหาใหญ่ที่เสี่ยงต่อการโจรกรรมในการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตและมือถือ ทำให้ กสทช.ออกมาเตือนประชาชนให้ตั้งคำถามเข้ารหัสให้ยากขึ้นเพื่อป้องกันการโดนล้วงข้อมูล พร้อมจี้ธนาคารและค่ายมือถือรับผิดชอบร่วมหากเจ้าของบัญชีเกิดความเสียหาย

วันนี้ (8 ก.ย.2559) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดเสวนา NBTC Public Forum เรื่อง "ขโมยเงินมือถือ : จากกรณีปัญหาสู่มาตรการแก้ไขเชิงระบบ" โดยนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า การทำธุรกรรมต่างๆผ่านทางอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคอาจต้องปรับตัว เพราะมีการทำธุรกรรมต่างๆเข้ามาเพิ่มมากขึ้นและที่ผ่านมาอาจเกิดปัญหาที่สร้างความไม่มั่นใจให้ผู้ใช้งาน ซึ่งฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทำระบบให้เกิดความปลอดภัย

ส่วนการกำหนดให้การทำธุรกรรมต้องผ่านการสแกนลายนิ้วมือนั้น อาจต้องกำหนดประเภทธุรกรรม หรืออุตสาหกรรมให้ชัดเจนว่า จำเป็นต้องใช้สแกนลายนิ้วมือหรือไม่ ซึ่งการกำหนดความชัดเจนเรื่องลายนิ้วมือ กสทช.จะต้องทำประกาศร่างการออกซิม เพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะและอาจต้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมด้วย ซึ่งปัญหาที่สร้างความไม่มั่นใจให้ผู้บริโภค เป็นสิ่งที่ผู้ทำระบบจะต้องสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคอย่างไรเพื่อให้การเข้าระบบต่างๆมีความปลอดภัย

"การขโมยไอดีนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้มาก ซึ่งอาจเกี่ยวกับการใช้ก่ออาชญากรรม โดยเสนอให้ ธปท.หรือสถาบันการเงิน มีข้อแนะนำกับผู้สมัครให้ชัดเจนว่ามีกระบวนการป้องกันอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา" นายประวิทย์ กล่าว

สอดคล้องกับ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช ที่ระบุว่า การใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนไปจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ขยายเข้าสู่การทำธุรกรรมในชีวิตประจำวันมากขึ้นและอาจทำให้บางคนประสบปัญหาจากการโดนขโมยข้อมูลและขโมยเงินผ่านธุรกรรมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐทั้ง กสทช., ธปท.และหน่วยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้บริโภคจะได้ร่วมแก้ปัญหา

 

ด้านนายธนะสิทธิ์ สรรพโชติวัฒน์ ผู้บริหารส่วน ส่วนตรวจสอบความเสี่ยง ฝ่ายตรวจสอบความเสี่ยงและเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการเกิดภัยคุกคามในการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง เกิดจากผู้ใช้งานไม่ได้ป้องกัน เช่น การตั้งรหัสล็อคในโทรศัพท์, การตั้งรหัสผ่านง่ายเกินไป จนทำให้คนร้ายเดาและขโมยข้อมูลได้ เป็นต้น โดยปี 2559 มีลูกค้าโมบายสูงกว่าอินเทอร์เน็ตโมบายแบงค์กิ้ง เพิ่มขึ้น 4,000,000 ราย นับจากการเปิดโมบายแบงค์กิ้งปีแรกที่มีผู้ใช้งานจำนวน 13 ล้านราย

โดยภัยที่เกิดจากการทำธุรกรรมทางโทรศัพท์มือถือ คนร้ายจะแอบเข้าล้วงข้อมูลได้จากการประชาชน ใช้งานผ่านไวไฟฟรีที่คนร้ายหลอกเปิดชื่อไวไฟสาธารณะ เพื่อให้คนกดเข้าไปใช้งานแล้วทำให้หลอกใช้ข้อมูลได้ จึงขอแนะนำว่าพยายามใช้เครือข่ายสาธาณะให้น้อยที่สุด รวมถึงการหลอกผ่านทาง SMS เช่น การบอกว่า "คุณเป็นผู้โชคดี ให้ติดต่อกลับไป" ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความพยายามล้วงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ และการกดลิ้งค์ต่างๆในเว็บไซต์ที่แนะนำ เพราะอาจถูกเชื่อมไปยังเว็บไซต์อื่นที่คนร้ายต้องการการเชื่อมต่อข้อมูลจากผู้ใช้งาน ดังนั้นผู้ใช้งานควรติดตั้งระบบป้องกัน หรือสแกนไวรัส เพราะจะทำให้คนร้ายเข้าขโมยข้อมูลได้ยากขึ้นและหากพบความผิดปกติจากการใช้งาน เบอร์โทรศัพท์ ให้รีบติดต่อธนาคารเพื่อระงับการทำธุรกรรมต่างๆ

สำหรับการตรวจสอบของ ธปท.จะตรวจสอบว่าผู้ให้บริการการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต มีความพร้อมในการให้บริการและการแก้ปัญหาอย่างไรทั้งเชิงป้องกันและดูแล โดย ธปท.จะพยามยามปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง