เปิด "ข้อดี-ข้อเสีย" แผนปฏิรูปรถเมล์ ขสมก.

เศรษฐกิจ
28 ก.ย. 59
20:19
8,950
Logo Thai PBS
เปิด "ข้อดี-ข้อเสีย" แผนปฏิรูปรถเมล์ ขสมก.
หลัง ครม.มีมติให้รถร่วม ขสมก.ต้องขอใบอนุญาตกับกรมการขนส่งทางบก และ ขสมก.จะมีหน้าที่เป็นเพียงผู้ประกอบการเดินรถรายหนึ่งเท่านั้น รวมถึงการกำหนดแนวทางปรับปรุงเส้นทางการเดินรถใหม่ทั้งระบบ แผนนี้มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร

รถร่วม ขสมก. สาย 8 เส้นทาง แฮปปี้แลนด์ ถึงสะพานพุทธ เป็นสายรถโดยสารสาธารณะที่ถูกประชาชนร้องเรียนและปรับปรุงมากที่สุด ก่อนคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ โยกอำนาจกำกับดูแลออกใบอนุญาตรถโยสารสาธารณะจาก ขสมก. เป็น กรมขนส่งทางบก

คนขับรถเมล์รายหนึ่งเผยว่า รู้สึกกังวลใจว่ามติดังกล่าวอาจกระทบสถานภาพและรายได้ในปัจจุบัน ที่ได้วันละ 500-600 บาท จากส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์ค่าตั๋วโดยสารและเจ้าของบริษัทเดินรถยังไม่ได้ชี้แจงอะไร

ขณะที่ นายวีระพงษ์ วงแหวน ประธานสหภาพ ขสมก. ระบุว่า แม้การปฏิรูปเส้นทางจะมีข้อดีแต่อาจมีข้อเสีย ในกรณีที่ถูกลดระยะลงจะส่งผลกับผู้ใช้บริการและความไม่ชัดเจนเรื่องการบริหารจัดการเส้นทางอาจกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน

นอกจากนี้ ยังไม่มีการรับประกันว่า ขสมก.จะสามารถลดภาระการขาดทุนได้ ขณะเดียวกันแผนปฏิรูปยังส่งผลต่อสัญญาสัมปทานเดิม ที่อายุสัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2561

ด้านนางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง เรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงความชัดเจนว่า จะมีแนวทางในการบริหารจัดการอย่างไร รวมถึงภาระหนี้ที่รถร่วมค้างอยู่กับ ขสมก.หากรัฐต้องการปรับปรุงเส้นทางก็ควรมีการอุดหนุนในเส้นทางที่ขาดทุน หรือ ใช้วิธีจ้างเอกชนมาเดินรถ ซึ่งเอกชนก็จะมีแรงจูงใจในการยกระดับการให้บริการ

ขณะที่ ผู้ใช้บริการรถร่วม ขสมก.บางส่วน คาดหวังว่า การปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะช่วยให้ได้ใช้บริการรถเมล์ที่มีสภาพดีขึ้น พร้อมเสนอว่า หากต้องปรับเส้นทางเดินรถก็ไม่ควรแตกต่างจากเดิมมากนัก เพราะอาจสร้างความสับสนและเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อย

ด้านกรมการขนส่งทางบก ในฐานะผู้กำกับดูแล ระบุว่า ขั้นตอนหลังจากนี้คือ กำหนดโครงข่ายเส้นทางใหม่ จัดสรรเส้นทางการเดินรถ กำหนดเงื่อนไขขอรับใบอนุญาต คัดเลือกผู้ประกอบการ และออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งใหม่ ซึ่งการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะช่วยแก้ไขปัญหาการเดินรถโดยสารประจำทางให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง