กทพ.ถกปัญหาเที่ยวบินดีเลย์-เรียกนกแอร์ชี้แจงพรุ่งนี้

เศรษฐกิจ
6 ต.ค. 59
08:25
408
Logo Thai PBS
กทพ.ถกปัญหาเที่ยวบินดีเลย์-เรียกนกแอร์ชี้แจงพรุ่งนี้
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กำชับสายการบินทุกแห่งปฏิบัติตามมาตรฐานการบินโดยเฉพาะเรื่องความตรงต่อเวลา เตรียมเรียกนกแอร์ชี้แจงเรื่องดังกล่าววันพรุ่งนี้ (7 ต.ค.2559)

ความคืบหน้าการตรวจสอบใบอนุญาตผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ ล่าสุดทั้ง 25 สายการบินส่งเอกสารครบถ้วนแล้ว คาดว่าใบอนุญาตใบแรกจะออกได้ต้นปี 2560 โดยนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ยังระบุว่ามี 3 สายการบินที่ใบอนุญาตผู้ดำเนินการเดินอากาศหมดอายุ จึงคาดว่าทั้ง 3 สายการบินนี้จะเริ่มประเมินได้ช่วงเดือนเมษายน 2560

กพท.ยังได้กำชับให้สายการบินทุกแห่งปฏิบัติตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการตรงต่อเวลา หลังพบว่ามีบางสายการบินล่าช้า โดยมีรายงานว่าเบื้องต้นเตรียมเรียกสายการบินนกแอร์ เข้าชี้แจงในวันพรุ่งนี้ (7 ต.ค.2559) กรณีที่มีผู้โดยสารร้องเรียนถึงความล่าช้าของเที่ยวบินต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2559

ด้านนายพาที สารสิน โพสท์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุถึงความตรงเวลาของเที่ยวบินในช่วงเดือนกันยายน รวมถึงข้อความที่มีใจความว่า "หากไม่ปลอดภัย จะไม่ขึ้นบิน ยืนยันปฏิบัติตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยทุกข้อ"

ความล่าช้าของเที่ยวบินอาจเกิดจากหลายสาเหตุทั้งสภาพอากาศ ความพร้อมของสายการบิน หรือแม้แต่ผู้โดยสาร ซึ่งจากการรวบรวมสถิติการล่าช้าของสายการบินในไทย โดยคำนวนจากการถึงจุดหมายช้าเกิน 15 นาที พบว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ข้อมูลการล่าช้าของสายการบินหลักของไทยช่วงเดือนกันยายน 2559 จากเว็บไซต์ Flightstat.com ซึ่งรวบรวมข้อมูลด้านการบิน โดยพบว่า 4 สายการบิน ได้แก่ สายการบินนกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย บางกอกแอร์เวย์ และการบินไทย ซึ่งมีเส้นทางทั้งในประเทศและต่างประเทศและมีฮับอยู่ที่สุวรรณภูมิและดอนเมือง

โดยในเดือนกันยายน 2559 สายการบินนกแอร์ มีจำนวนเที่ยวบิน 5,150 เที่ยวและมีอัตราเที่ยวบินถึงที่หมายล่าช้าเกิน 15 นาที ร้อยละ 18.63 หรือประมาณ 950 เที่ยวบิน, สายการบินไทยแอร์เอเชีย มีจำนวนเที่ยวบิน 8,955 เที่ยวและมีอัตราการดีเลย์ร้อยละ 17.79, สายการบินบางกอกแอร์เวย์ มีจำนวนเที่ยวบิน 5,483 และมีอัตราการดีเลย์ร้อยละ 19.29 และการบินไทยที่มีเที่ยวบิน 6,057 เที่ยวและมีอัตราการดีเลย์ร้อยละ 24.83 หรือประมาณ 1,500 เที่ยวบิน ซึ่งหากเทียบกับค่าเฉลี่ยของสายการบินทั่วโลก พบว่าการล่าช้าไม่ได้แตกต่างจากสายการบินในประเทศอื่นๆมากนักที่เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20

 

หากต้องเผชิญกับเที่ยวบินล่าช้า ผู้โดยสารมีสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครอง โดยหากดีเลย์น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ผู้โดยสารไม่มีสิทธิ์ร้องขอใดๆได้ แต่สำหรับการดีเลย์ระหว่าง 2-3 ชั่วโมง ประกาศกระทรวงคมนาคม ระบุว่าสายการบินต้องรับผิดชอบด้วยการจัดหาอาหารและเครื่องดื่มให้ รวมทั้งหาช่องทางการติดต่อสื่อสารหากผู้โดยสารต้องการและหากผู้โดยสารประสงค์จะเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินหรือคืนเงิน สายการบินต้องเป็นผู้จัดการให้

ส่วนกรณีที่สายการบินล่าช้า ไม่มีข้อกำหนดให้ต้องเเจ้งล่วงหน้าแก่ผู้โดยสาร เช่น หากผู้โดยสารจะเดินทางในเวลา 09.00 น.วันนี้ สายการบินอาจแจ้งตอน 08.00 น. เมื่อเดินทางมาถึงสนามบินแล้วก็ได้ โดยรับผิดชอบไปตามประกาศของกระทรวงคมนาคม ขณะที่ฝั่งสหรัฐอเมริกาและยุโรป ส่วนใหญ่หากต้องล่าช้าเกินกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไปถึงจะได้รับการชดเชย แต่ลักษณะการชดเชยที่ได้รับจะแตกต่างกันไป เช่น หากบินออกจากสหภาพยุโรปล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง อย่างน้อยๆจะได้รับเงินค่าเสียเวลา 250 ยูโร หรือเกือบ 10,000 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง