ความสำคัญของกาพย์เห่เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค

สังคม
26 ต.ค. 59
09:46
14,984
Logo Thai PBS
ความสำคัญของกาพย์เห่เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นกระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ ซึ่งการเตรียมการพระราชพิธีมีหลายหน้าที่สำคัญ หนึ่งในนั้นคือบทกาพย์เห่เรือ โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ทำหน้าที่ผู้ประพันธ์กาพย์เห่เรือนั้นต้องผ่านคณะกรรมการหารือร่วมหลายฝ่าย

น.อ.พิเศษ ทองย้อย แสงสินชัย อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ และเป็นผู้ประพันธ์บทกาพย์เห่เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ถึง 6 คราว ได้บอกเล่าถึงความสำคัญของบทกาพย์เห่เรือ

บทกาพย์เห่เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีความสำคัญอย่างไร

อันดับแรกต้องเรียกให้ถูกก่อนคือ "กาพย์เห่เรือ" ซึ่งคนสมัยใหม่มักเรียกผิดว่า กาพย์แห่เรือ โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคจะมีระยะทางไกลและมีเรือหลายลำ ซึ่งจะต้องพายเพื่อให้เรือเคลื่อนตัว ทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อย จึงต้องหาวิธีที่จะไม่ทำให้เหนื่อยนั่นก็คือวิธีเห่เรือ หรือการร้องเพลง ภาษาชาวบ้านคือพายเรือไปด้วยร้องเพลงไปด้วย ตรงนี้เรียกว่ากาพย์เห่เรือ ซึ่งเป็นศิลปะในการลดความเหนื่อยและเพิ่มความพร้อมเพรียงในการพาย ซึ่งเป็นศิลปะที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

บทกาพย์เห่เรือ ต้องเปลี่ยนทุกครั้งหรือไม่

เท่าที่ผมมีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ปีกาญจนาภิเษก พ.ศ.2539 เป็นต้นมา เมื่อรัฐบาลมอบหมายให้กองทัพเรือจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค คณะกรรมการที่กองทัพเรือตั้งขึ้นจะประชุมพิจารณาว่ากระบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้จะใช้กาพย์อะไร ยกตัวอย่างเมื่อครั้งปีกาญจนาภิเษก กองทัพเรือสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ขึ้นเป็นโครงการถวายและมีการประกวดกาพย์เห่เรือ ในครั้งนั้นผมได้ส่งเข้าประกวดด้วยและได้รับรางวัลชนะเลิศ คณะกรรมการของกองทัพเรือที่จัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคก็ปรึกษากันว่าจะใช้กาพย์เห่เรือที่ชนะเลิศ

ในครั้งนั้นมีกาพย์เห่เรือเพียงบทเดียวและความยาวของกาพย์เห่เรือก็ไม่เพียงพอกับระยะทางจากท่าวาสุกรีไปถึงวัดอรุณราชวราราม คณะกรรมการจึงปรึกษากันอีกว่าจะใช้บทเห่เรือเพิ่มและจะให้ใครเป็นผู้แต่ง ในที่สุดจึงให้ผู้ที่ชนะในการประกวดครั้งนั้นเป็นผู้แต่ง ซึ่งผมก็ได้รับหน้าที่แต่งกาพย์เห่เรือมาตั้งแต่ปีกาญจนาภิเษก

ก่อนการประพันธ์บทกาพย์เห่เรือแต่ละครั้งต้องมีการกำหนดโจทย์หรือหัวข้อหรือไม่

แบบฉบับของการแต่งกาพย์เห่เรือ ถ้าเราศึกษากาพย์เห่เรือสมัยกรุงศรีอยุธยาจะเห็นได้ว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องมีคือ การชมเรือ หรือที่สำนวนเก่าเรียกว่า "ชมเรือกระบวน" ซึ่งในการเสด็จทางชลมารคส่วนใหญ่จะไปถวายผ้าพระกฐิน ซึ่งจะต้องมีการบรรยายถึงบุญกฐินอีกบทหนึ่ง นอกจากนั้นก็จะมีบทชมเมืองและที่ขาดไม่ได้คือการสรรเสริญพระบารมี ซึ่งต้องบรรยายให้รู้ว่าประเทศเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีความสำคัญและผูกพันกับจิตใจของคนไทย ทั้งหมดนี้คือขอบเขตของกาพย์เห่เรือ ซึ่งในแต่ละครั้งก็จะไม่เหมือนกัน เช่น ปีกาญจนาภิเษกก็จะบรรยายว่าทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี บ้านเมืองเป็นอย่างไร มีความสุขหรือมีปัญหาอย่างไร เป็นต้น แต่หากเป็นงานอื่นๆ เนื้อหาก็จะเปลี่ยนไป แต่บทที่ต้องมีประจำคือการชมเรือ ชมบ้านเมือง

ตลอดการเสด็จพระราชดำเนิน ผู้ประพันธ์ต้องคำนวณระยะทางและความหมายของแต่ละบทอย่างไร

ก่อนจะเริ่มแต่งกาพย์เห่เรือ ต้องมีการปรึกษากันระหว่างผู้แต่งกับพนักงานเห่ ยกตัวอย่างกรณีเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน โดยเริ่มต้นจากท่าวาสุกรีไปที่วัดอรุณราชวราราม ก็จะต้องคำนวณว่ามีระยะทางเท่าไหร่และจะผ่านอะไรบ้าง ซึ่งกองทัพเรือจะคำนวณแบบละเอียดจนกระทั่งถึงวันจริงว่ามีน้ำขึ้นน้ำลงขนาดไหน พายทวนน้ำหรือพายตามน้ำ ซึ่งในครั้งนั้นมีการปรึกษากันว่าจะแต่ง 5 บท แต่ก็ใช้จริงเพียง 3 บท ประกอบไปด้วย โคลงสี่สุภาพ 1 บท และกาพย์ยานี ประมาณ 15-20 บท รวมกันแล้วเรียกว่ากาพย์เห่เรือ 1 บท ซึ่งบทหนึ่งจะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที เพราะฉะนั้นในกระบวนพยุหยาตราในครั้งหลังๆนี้ ผมและพนักงานเห่จะตกลงกันที่ 3 บท แต่ถ้าหากไม่เพียงพอกับระยะทางก็จะนำบทใดบทหนึ่งมาเห่ซ้ำ เพราะเสียงเห่จะขาดไม่ได้

รู้สึกอย่างไรที่ได้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท

ผมคิดว่าในแผ่นดินไทยนี้มีผู้ที่มีความสามารถในการแต่งกาพย์เห่เรืออีกหลายคน แต่โชคดีที่กองทัพเรือได้รับมอบหมายให้จัดกระบวนพยุหยาตราและกองทัพเรือก็มีคนที่พอจะใช้งานได้ ซึ่งผมดีใจที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้แต่งกาพย์เห่เรือ ได้รับใช้สนองพระเดชพระคุณด้วยความภูมิใจและทำอย่างเต็มที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง