สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา-เมืองเพชรบุรีปกติแล้ว กรมชลฯ เตือนใต้รับมือฝนตกหนัก

ภัยพิบัติ
9 พ.ย. 59
14:36
167
Logo Thai PBS
สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา-เมืองเพชรบุรีปกติแล้ว กรมชลฯ เตือนใต้รับมือฝนตกหนัก
สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว น้ำ4 เขื่อน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 9,863 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอสำหรับการสนับสนุนด้านต่างๆในฤดูแล้งนี้ ส่วนพื้นที่ภาคใต้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนัก

วันนี้ (9 พ.ย.2559 )ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน (8 พ.ย.) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 49,762 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกัน ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2558 จำนวน 8,737 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 26,236 ล้านลูกบาศก์เมตร

เฉพาะ 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำใช้การได้ 3,115 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 4,838 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 912 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 998 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้ง 4 เขื่อน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 9,863 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับการสนับสนุนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอื่นๆ ตลอดในช่วงฤดูแล้งปี 2559/60

สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย.

สำหรับสถานการณ์น้ำในจังหวัดเพชรบุรี ภายหลังจากเขื่อนเพชรได้ลดการระบายน้ำลง ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย.เป็นต้นมา ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ต่ำกว่าตลิ่งแล้วตลอดทั้งลำน้ำ สภาพน้ำท่วมในบริเวณตัวเมืองเพชรบุรี น้ำแห้งเกือบหมดแล้ว สำนักงานชลประทานที่ 14 และหน่วยงานต่างๆ ได้เข้าช่วยเหลือในพื้นที่ ดำเนินการซ่อมคันดินที่เสียหาย และเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีน้ำท่วมขัง โดยใช้เครื่องสูบน้ำ รวมทั้งสิ้น 31 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 12 เครื่อง พร้อมด้วยรถแบ๊คโฮ 2 คัน และเตรียมรถบรรทุกน้ำ ไว้สนับสนุนการอุปโภคบริโภค 2 คัน

ขณะที่พื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบันได้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว กรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำ รวมทั้งให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำ ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที

พร้อมกับให้ตรวจสอบระบบป้องกันน้ำท่วมของหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในส่วนของจังหวัด เทศบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากพบว่ามีปัญหาหรือมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถรองรับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมปรับปรุงให้สามารถใช้งานป้องกันอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง