"เพราะเป็นหนี้ เลยหยุดทำนาไม่ได้" ความในใจของชาวนา ยุคราคาตกต่ำ

ภูมิภาค
10 พ.ย. 59
12:51
426
Logo Thai PBS
"เพราะเป็นหนี้ เลยหยุดทำนาไม่ได้" ความในใจของชาวนา ยุคราคาตกต่ำ
แม้อาชีพชาวนาจะประสบปัญหาขาดทุน และทำให้เกษตรกรมีหนี้สินมาโดยตลอด สาเหตุหลักมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นสวนทางกับราคาข้าว แต่ชาวนาจังหวัดนครสวรรค์ ยังคงยืนยันที่จะทำนาต่อไป เพราะไม่รู้จะไปประกอบอาชีพอะไรและไม่มีเงินไปใช้หนี้

วันนี้ (10 พ.ย.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนันต์ เสือเขียว ชาวนาบ้านคลองตาสอน หมู่ที่ 6 อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ แสดงหลักฐานหนี้สินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จำนวนกว่า 500,000 บาท ที่ยังไม่สามารถหาเงินไปใช้หนี้ได้ จึงจำเป็นที่นายอนันต์ ต้องเตรียมลงมือทำนาในฤดูกาลต่อไปอีกครั้ง แม้จะเสี่ยง เพราะยังไม่รู้ว่าราคาข้าวที่ทำในฤดูกาลหน้า เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตออกมาแล้วจะขายได้ตันละกี่บาท

นายอนันต์ กล่าวว่าวิถีชีวิตของชาวนาส่วนใหญ่มีหนี้สินที่สะสมมาอย่างยาวนานแทบทุกช่วงของฤดูกาลผลิต และจะประสบกับปัญหาขาดทุน เพราะมีทั้งค่าเช่าที่นา ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรงและค่าเครื่องจักรต่างๆ เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้น สวนกระแสกับราคาข้าวในปัจจุบันที่ตกต่ำลงต่อเนื่อง แต่ในใจก็ยังหวังว่าโอกาสข้างหน้าราคาข้าวเปลือกจะสูงขึ้น และให้ชาวนาสามารถลืมตาอ้าปากได้บ้าง

“หนี้สินมันก็มีต่อเนื่องมาเรื่อย ถ้าจะห้ามทำนา ทำไม่ได้ ต้องทำต่อไป เพราะเป็นหนี้ ธกส. แต่ขอฝากให้รัฐพยุงราคาข้าว”

เช่นเดียวกับครอบครัวของนางศรีสุวรรณ สูย่านาง ชาวนาบ้านห้วยถั่วใต้ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ แม้จะกำลังจ้างรถเกี่ยวข้าวหอมมะลิในแปลงนาที่ปลูกไว้ เพื่อนำไปขายให้กับโรงสีในพื้นที่ แต่ได้เพียงตันละ 6,000 บาทเท่านั้น เพราะไม่มีลานตากแห้งและไม่มียุ้งฉางเก็บข้าวเปลือก จึงไม่เข้าร่วมโครงการของรัฐบาล ประกอบกับหนี้สินร้านค้าที่เคยยืมมาช่วงเริ่มต้นฤดูกาลผลิต ทำให้ต้องขายข้าวเพื่อนำเงินไปใช้หนี้ แม้จะขายในราคาต่ำก็ตาม

“ยังไม่ทราบราคาเลย ต้องไปฟังที่โรงสีอีกทีว่าเขาจะให้ราคาแบบไหน เพราะชาวนาตีราคาเองไม่ได้ ต้องรอให้เขาตีราคา ชาวนาเสียเปรียบทุกอย่าง เวลาเราไปซื้อของจากร้านค้า เราก็ต้องซื้ออย่างที่ร้านค้าเขาตั้ง แต่เวลาเราไปขายข้าว เรากลับต้องให้โรงสีตีราคา ทั้งๆ ที่ข้าวเป็นของเราเอง พอใจ หรือไม่พอใจ ก็ต้องขาย เพราะรายจ่ายมันบังคับเราไว้” นางศรีสุวรรณ กล่าว

สำหรับ จ.นครสวรรค์ มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมากกว่า 75,000 ราย พื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 2 ล้าน 1 แสนไร่ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวมากเป็นอันดับ 8 ของประเทศและเป็นอันดับที่ 1 ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ชาวนากล่าวว่า การทำนาที่ผ่านมายังคงวนเวียนกับชะตากรรมปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำและปัญหาหนี้สิน สิ่งที่ต้องการคือให้หน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยเหลือและแก้ปัญหาทั้งระบบ เพื่อให้อาชีพชาวนามั่นคงและยั่งยืนอยู่คู่กับประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง