สนช.ลงมติรับร่าง พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญาฯ

การเมือง
10 พ.ย. 59
14:44
489
Logo Thai PBS
สนช.ลงมติรับร่าง พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญาฯ
สนช.ลงมติ 202 เสียงรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พร้อมตั้งคณะกรรมการวิสามัญ เสนอแปรญัตติภายใน 15 วัน

วันนี้ (10 พ.ย. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาวาระแรก ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. ... เป็นเรื่องด่วน ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ระบุในหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ฯ ว่า เป็นกฎหมายที่จะส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาเพื่อสร้างความเป็นธรรมตามหลักสากล พร้อมสร้างความร่วมมือและพัฒนาศักยภาพในการผลิต ผลิตผล หรือบริการทางการเกษตรอย่างยั่งยืน ส่งผลให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางรายได้ ขณะที่ ผู้ประกอบธุรกิจก็จะได้รับผลิตผลที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน

ผู้สื่อข่าวรายงานต่ออีกว่า เดิมทีเกษตรพันธสัญญามีลักษณะเป็นแค่ สัญญาใจระหว่างผู้ประกอบการกับเกษตรกร และมีลักษณะผสมผสานทั้งการจ้างทำของ จ้างแรงงาน และสัญญาซื้อขาย ซึ่งมีควมซับซ้อนและยุ่งยาก ส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยที่เป็นคู่สัญญามีอำนาจต่อรอง น้อยกว่าผู้ประกอบการ รวมถึงมีความเสี่ยงในการปฏิบัติตามสัญญา

ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. ... จะกำหนดให้ผู้ที่จะประกอบธุรกิจเกษตรพันธสัญญา ต้องจดแจ้งการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สำคัญผู้ประกอบธุรกิจต้องทำเอกสารชี้ชวนให้เกษตรกรทราบล่วงหน้า ก่อนทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา และต้องส่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เก็บไว้ตรวจสอบ

ทั้งนี้ ตัวสัญญาต้องมีรายละเอียดอย่างชัดเจน ทั้งคู่สัญญา วัตถุประสงค์ ระยะเวลา ราคา และวิธีการคำนวณ รวมถึงราคาวัตถุดิบ วันกำหนดชำระเงิน ไปจนถึงการเยียวยาการเสียหายจากการผิดสัญญา ซึ่งหากพบว่าสัญญาไม่เป็นธรรมจะไม่มีผลบังคับใช้

วันนี้จึงเป็นการพิจารณาวาระ 1 แต่หากกฎหมายฉบับดังกล่าวผ่านการพิจารณาของ สนช. ตัวบทเฉพาะกาลกำหนดให้สัญญาที่มีอยู่ก่อน มีผลจนสิ้นสุดสัญญา แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี นับแต่กฎหมายบังคับใช้

ด้าน สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่ อภิปรายเห็นด้วยในหลักการสำคัญ แต่มีข้อคิดเห็นเรื่องโครงสร้างของคณะกรรมการและการให้เกษตรกรมีส่วนร่วมมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่ประชุม สนช.ลงมติรับหลักการ ด้วยคะแนน 202 เสียง งดออกเสียง 3 และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 22 คน เพื่อแปรญัตติภายใน 15 วัน หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของ สนช.บทเฉพาะกาล กำหนดให้สัญญาที่มีอยู่ขณะนี้ มีผลต่อไปจนสิ้นสุดสัญญา แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี นับแต่กฎหมายบังคับใช้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง