ซากพะยูนที่พบใน จ.ระยอง อาจเป็นตัวสุดท้ายในแถบอ่าวไทยฝั่งตะวันออก

Logo Thai PBS
ซากพะยูนที่พบใน จ.ระยอง อาจเป็นตัวสุดท้ายในแถบอ่าวไทยฝั่งตะวันออก
ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออกคาดว่าซากพะยูนเพศผู้ ขนาด 2.63 เมตร ที่มีการพบในพื้นที่ระหว่างเกาะทะลุและเกาะมันใน จ.ระยอง เมื่อวันที่ 25 พ.ย.อาจเป็นพะยูนตัวสุดท้ายในทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก

วันนี้ (2 ธ.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพของซากพะยูนถูกเผยแพร่และแชร์ต่อในสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก หลังจากที่ น.สพ.ภูมเมศ ชุ่มชาติ นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ศวทอ.) ลงพื้นที่เก็บซากพะยูน เพศผู้ มาตรวจสอบ

ผลการชันสูตรซากพะยูน พบรอยช้ำและเปื้อนเลือดบริเวณลำตัว แต่ไม่พบร่องรอยอวน หรือการถูกทำร้ายรุนแรงภายนอก แต่เมื่อผ่าพิสูจน์ซากพบร่องรอยการอักเสบและบวมช้ำในชั้นกล้ามเนื้อรอบลำตัว ตลอดจนถึงโพรงจมูก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าเกิดจากการกระแทกกับของแข็งก่อนตาย ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการกระแทกยังไม่สามารถสรุปได้

นอกจากนี้ ยังพบหญ้าทะเลในทางเดินอาหารทั้งในลำไส้และกระเพาะอาหาร แสดงว่าพะยูนยังคงหากินได้ปกติก่อนตาย และจากการเก็บข้อมูลซากพะยูนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมาตลอด 30 ปี ทำให้ทราบว่า พะยูนตัวนี้ เป็นตัวที่ 391 ที่ได้รหัสเรียกว่า DU-391

น.สพ.ภูมเมศ เปิดเผยว่า อีกไม่กี่วันต่อจากนี้จะมีการสำรวจร่องรอยในแนวหญ้าทะเลในพื้นที่ดังกล่าวอีกครั้ง เพราะร่องรอยกินหญ้าทะเลของพะยูนนั้นเป็นร่องรอยเฉพาะตัว หากเจอร่องรอยใหม่ๆ ก็เชื่อได้ว่าคงมีประชากรพะยูนหลงเหลืออยู่ให้เป็นความหวังสุดท้าย อาจจะยากแต่ก็อยากให้เชื่ออย่างนั้น

ด้านนายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า พะยูนเป็นสัตว์สงวน แต่ดูเหมือนยังไม่เพียงพอ เพราะมีการตายของพะยูนแบบผิดธรรมชาติ ส่วนซากพะยูนที่พบล่าสุดนี้ นายธรณ์ไม่ได้ยืนยันว่าเป็นตัวสุดท้ายของอ่าวไทยหรือไม่ แต่ภาวะที่เกิดขึ้นบอกได้ว่าเกิดวิกฤตกับพะยูน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง