"วันแรงงานข้ามชาติสากล" กับสารพัดปัญหาของแรงงานข้ามชาติในไทย

สังคม
18 ธ.ค. 59
19:35
882
Logo Thai PBS
"วันแรงงานข้ามชาติสากล" กับสารพัดปัญหาของแรงงานข้ามชาติในไทย
แม้มาตรการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติของภาครัฐจะทำให้แรงงาน 3 สัญชาติ คือ เมียนมา กัมพูชา และลาว มีใบอนุญาตทำงานแต่ก็ยังมีข้อจำกัดและช่องว่างให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนเรียกรับผลประโยชน์จากกลุ่มแรงงาน และนี่เป็นเพียงหนึ่งในปัญหาของแรงงานข้ามชาติ

มาตรการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติมีจุดประสงค์เพื่อจัดระเบียบแรงงานให้ทำงานได้ตรงตามประเภทกิจการที่ขึ้นทะเบียนไว้ แต่ที่ผ่านมาพบความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะกรณีการออกใบอนุญาตทำงานหรือ "บัตรสีชมพู" ที่กำหนดว่าแรงงานไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดที่ขึ้นทะเบียนได้ กลายเป็นช่องว่างให้เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน เรียกรับผลประโยชน์จากกลุ่มแรงงาน

นี่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ตัวแทนแรงงานข้ามชาติใน จ.สมุทรสาคร สะท้อน ผ่านกิจกรรมที่องค์กรด้านแรงงานข้ามชาติจัดขึ้นเนื่องใน "วันแรงงานข้ามชาติสากล" ซึ่งตรงกับวันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี

"การคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐมีเช่น ขอดูบัตรอนุญาตและเอกสารต่างๆ แล้วบอกว่าเอกสารบางอย่างผิด แล้วเรียกรับผลประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องการเดินทางข้ามเขตซึ่งเป็นช่องว่างให้เจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์มหาศาล" นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ระบุ

การถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง, การไม่ได้รับค่าจ้างขึ้นต่ำ 300 บาท, การเข้าไม่ถึงสิทธิประกันสังคม ทั้งที่นายจ้างเรียกเก็บเงิน แต่กลับไม่นำแรงงานส่งเข้าสู่ระบบ, แรงงานประมงถูกละเมิดสิทธิ์ ตลอดจนกระบวนการนำเข้าแรงงานในระบบ MoU ล้วนเป็นปัญหาที่แรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อยยังต้องเผชิญ

นายสมัคร ทัพธานี หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองสิทธิและป้องกันการค้ามนุษย์ LPN กล่าวว่าในปี 2559 พบว่ามีการนำเข้าแรงงานตามที่ข้อตกลงความเข้าใจ (MoU) ระหว่างประเทศ แต่เมื่อนำแรงงานเข้ามาแล้วกลับพบว่ามีการทำผิดสัญญากัน คือ ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของ MoU เช่น ค่าจ้างและระยะเวลาการทำงาน

ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ทัศนะว่า ปัญหาแรงงานข้ามชาติหลายประเด็นจะได้รับการแก้ไขได้ ส่วนหนึ่งภาครัฐและสังคมอาจจำเป็นต้องยกระดับความเข้าใจเรื่องแรงงานข้ามชาติร่วมกัน

"การที่จะแก้ปัญหาให้ได้ทั้งหมดก็เป็นเรื่องยาก เราต้องยกระดับความเข้าใจให้ทันกับปัญหา ตอนนี้เราไม่ค่อยเท่าทันทั้งเรื่องปัญหาสิทธิ การศึกษาของเด็กที่เป็นลูกแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น ถ้าเราสร้างความเข้าใจระหว่างแรงงาน คนไทย คุ้นเคยกันมากขึ้น ปัญหาก็อาจจะแก้ได้ง่ายขึ้น" ศ.สุริชัยกล่าว

นายสมัคร หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองสิทธิและป้องกันการค้ามนุษย์ LPN ประเมินว่าปีหน้า แรงงานข้ามชาติยังมีแนวโน้มที่ต้องเผชิญกับปัญหาการขึ้นทะเบียนจ้างงานผิดประเภท ขณะที่การนำเข้าแรงงานประมงและแรงงานข้ามชาตินอกระบบ เช่น กรรมกรและแม่บ้านจะเพิ่มขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องเร่งกำหนดแนวทางดูแล และคุ้มครองด้านสวัสดิภาพ เพื่อลดปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบ และ การละเมิดสิทธิแรงงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง