ประมวลเหตุการณ์ดาราศาสตร์ในรอบปี 2559

Logo Thai PBS
ประมวลเหตุการณ์ดาราศาสตร์ในรอบปี 2559
ในรอบปีที่ผ่านมา มีเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นทางดาราศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย วันนี้ จะพาไปย้อนดูเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เห็นได้ทั่วโลก สะท้อนถึงความก้าวหน้าของมนุษยชาติ กับการส่งยานอวกาศไปถึงขอบสุริยะ และความพร้อมของเมืองไทยก้าวสู่เวทีดาราศาสตร์ระดับโลก

วันนี้ (29 ธ.ค.2559) ไทยพีบีเอสรวบรวมเหตุการณ์ดาราศาสตร์ในรอบปี 2559 ซึ่งมีเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นเกิดขึ้นมากมาย โดยจะพาไปย้อนดูเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เห็นได้ทั่วโลก สะท้อนถึงความก้าวหน้าของมนุษยชาติ กับการส่งยานอวกาศไปถึงขอบสุริยะ และความพร้อมของเมืองไทยก้าวสู่เวทีดาราศาสตร์ระดับโลก เริ่มจากต้นปีที่ผ่านมา 9 มีนาคม 2559 เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเคลื่อนผ่านมหาสมุทรอินเดีย สู่มหาสมุทรแปซิฟิก หลายพื้นที่ของอินโดนีเซีย ทั้งเกาะสุมาตรา เกาะกาลิมันตัน เกาะสุลาเวสี และหมู่เกาะโมลุกกะ ที่แนวคราสพาดผ่านช่วงที่เป็นแผ่นดิน 3 นาที และในช่วงนั้น ประเทศไทยมองเห็นสุริยุปราคาบางส่วน แม้ไทยจะไม่เห็นเต็มดวง แต่ที่มองเห็นมากสุดถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และจะเกิดเต็มดวงที่ไทยอีกครั้ง พาดผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 11 เมษายน 2613 หรืออีกกว่า 50 ปีข้างหน้า

 

 

 

31 พฤษภาคม ดาวอังคารโคจรใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ระยะห่างประมาณ 75 ล้านกิโลเมตร ดาวอังคารจะมาใกล้โลก ทุกๆ 2 ปี เป็นช่วงที่ดาวอังคารอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์มากที่สุด ผู้สังเกตการณ์บนโลกจะเห็นดางอังคารสว่างมากกว่าปกติ และถ้าหากใช้กล้องโทรทรรศน์จะพอสังเกตพื้นผิวอันขรุขระของดาวอังคารได้ โดยเฉพาะขั้วน้ำแข็ง และจะใกล้โลกครั้งต่อไป วันที่ 31 กรกฎาคม 2561

 

 

 

4 กรกฎาคม ของสหรัฐอเมริกา หรือ 5 กรกฎาคม ตามเวลาในไทย เป็นวันประวัติศาสตร์ที่โลกจารึกอีกครั้ง เมื่อยานอวกาศจูโน ของนาซา เดินทางไปสำรวจและเข้าสู่วงโคจรของดาวพฤหัสบดี ดาวเคาะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ หลังจากที่เดินทางรอนแรมนานถึง 5 ปี ระยะทางกว่า 2,766 ล้านกิโลเมตร ภารกิจครั้งนี้ใช้เครื่องมือ 8 ตัว เก็บข้อมูลของดาว เพื่อศึกษาองค์ประกอบ แรงโน้มถ่วง ของดาวก๊าซขนาดใหญ่ อันจะนำมาซึ่งคำตอบของการกำเนิดดาวเคราะห์ในระบบสุริยะในยุคแรกเริ่ม

 

 

 

 

14 พฤศจิกายน วันลอยกระทงของไทย เกิดปรากฏการณ์ Super Full Moon ดวงจันทร์โคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปี ระยะทางกว่า 356,000 กิโลเมตร เห็นดวงจันทร์โตกว่าปกติ 14 เปอร์เซ็นต์ และสว่างกว่าเดิม 30 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีปรากฏการร์มินิมูน ดวงจันทร์ห่างจากโลกในรอบปี ที่ระยะห่างกว่า 406,000 กิโลเมตร จะเกิดอีกครั้ง 22 เมษายน ปี 2560 และฝนดาวตกที่มาประจำแต่ละช่วงเวลาในรอบปี ที่ทำให้ผู้สังเกตการณ์เห็นความงดงามบนท้องฟ้า

 

 

 

นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังเดินหน้าสร้างหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ เป็นศูนย์รวบรวม ค้นคว้า วิจัยข้อมูลทางดาราศาสตร์ และเปิดให้ประชาชนทั่วไป ร่วมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์บนท้องฟ้า เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ พัฒนาบุคลากรด้านดาราศาสตร์ ผู้มีบทบาทสำคัญวางรากฐานองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์นี้ คือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยในดาราศาสตร์ และมีพระราชปรารภอยากให้ประเทศไทยของเรามี "หอดูดาว" และสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงสืบสานพระราชปณิธาน

 

 

 

นับเป็นแรงบันดาลใจสำคัญอย่างยิ่ง ผลักดันให้เกิดการจัดตั้งหน่วยงานดาราศาสตร์ของชาติในนาม "สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ" ดาราศาสตร์ที่พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยมาแต่เยาว์วัย บัดนี้หยั่งรากบนแผ่นดินไทยอย่างมั่นคง งอกงามแล้ว วางรากฐานองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์เป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค สู่เวทีดาราศาสตร์ระดับโลก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง