พลังพลเมือง พลิกวิกฤตจัดการ "ขยะน้ำท่วมใต้"

สิ่งแวดล้อม
14 ม.ค. 60
17:43
932
Logo Thai PBS
พลังพลเมือง พลิกวิกฤตจัดการ "ขยะน้ำท่วมใต้"
ถอดบทเรียนรับมือ "ขยะ" หลังน้ำท่วมปี 2554 สู่ชะอวดโมเดล จ.นครศรีธรรมราช พื้นที่นำร่องภารกิจกำจัดขยะตกค้าง 1,000 ตัน โดยใช้รูปแบบภาคประชาสังคม

แม้ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคใต้จะเริ่มคลี่คลายลง แต่ปัญหาใหม่ที่กำลังจะเข้ามาแทนที่คือปริมาณขยะมหาศาลที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วม เพื่อแก้ปัญหาใหม่ไม่ให้ซ้ำเติมปัญหาความทุกข์ร้อนเดิมที่มีอยู่ รายการเวทีสาธารณะเทปพิเศษ ชวนทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่ มาร่วมพูดคุยหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

"น้ำท่วม"ขยะเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ 10 – 20 เท่า

ยงยุทธ พนิตอังกูร ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14 กล่าวว่า จากการตรวจสอบสภาพพื้นที่น้ำท่วมใน 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เบื้องต้น แม้จะยังไม่สามารถคำนวณปริมาณขยะที่แน่นอนได้ แต่ก็มีการคาดการณ์ว่า ขยะน้ำท่วมจะเพิ่มปริมาณมากกว่าขยะที่จัดเก็บในช่วงเวลาปกติมากถึงประมาณ 10 – 20 เท่า และถ้าพื้นที่ใดยิ่งมีน้ำท่วมสูง พื้นที่นั้นก็จะมีขยะมากขึ้นตามไปด้วย สาเหตุที่ทำให้ขยะน้ำท่วมมีปริมาณมากขึ้น เนื่องจากขยะส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นใหญ่ เช่น ตู้ เตียง เฟอร์นิเจอร์ในบ้านเรือนของประชาชน หรือซากต้นไม้ที่ถูกน้ำซัดมา เป็นต้น

การแก้ปัญหาขยะน้ำท่วมที่กองอยู่ตามบ้านเรือนหรือถนนในชุมชน สิ่งสำคัญอันดับแรกที่ต้องทำ คือการเคลียร์ขยะเหล่านี้ออกจากพื้นที่ โดยการใช้รถขนขยะออกไป แต่ปัญหาที่พบในขณะนี้ก็คือ ท้องถิ่นหรือเทศบาลไม่สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้เพียงลำพัง ทั้งอุปกรณ์หรือเครื่องมือ เช่น รถที่มีขนาดเล็ก และไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะที่มีจำนวนมาก ดังนั้น สิ่งสำคัญที่หน่วยงานท้องถิ่นควรทำในขณะนี้คือ การประสานขอความช่วยเหลือไปยังภาคส่วนต่างๆ เพื่อระดมสรรพกำลังลงไปแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด


“ประเด็นหนึ่งที่ทางเทศบาลอาจจะประสบปัญหา เพราะว่าถ้าเป็นเทศบาลเล็กๆ รถขนขยะก็จะเป็นรถขนาดเล็ก ก็จะยิ่งมีปัญหาในการขนขยะ เพราะว่าขยะน้ำท่วมส่วนใหญ่ก็จะชิ้นใหญ่ๆ ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องที่เทศบาลต้องประสานไปที่จังหวัด เพื่อให้หน่วยไหนที่อาจจะมีรถขนาดใหญ่ หรือ อบจ.หรือทหารต้องมาช่วย มองว่าเป็นเรื่องที่อาจจะต้องประสานกัน คือการประสานทรัพยากรที่จังหวัดอาจต้องมาช่วย หรือท้องถิ่นต้องประสานหาหน่วยที่จะมาช่วยเก็บขยะออกจากพื้นที่ชุมชนให้เร็วที่สุด เพราะว่าหากทิ้งไว้นาน ก็จะเป็นแหล่งเชื้อโรคหรือพาหะนำโรคต่างๆ”

“ชะอวด” อ่วมขยะล้นบ่อฝังกลบ

ขณะที่ พฤนท์ ปานจีน นายกเทศมนตรีตำบลชะอวด หนึ่งในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ กล่าวว่า ปกติพื้นที่เทศบาลตำบลชะอวด มีขยะวันละ 9 ตัน แต่น้ำท่วมครั้งนี้มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นถึง 1,000 ตันต่อวัน ขณะที่เทศบาลมีรถขนขยะแค่ 3 คัน และมีพนักงานเก็บขยะแค่ 20 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะที่มีจำนวนมหาศาล ทำให้เทศบาลต้องจ้างเอกชนมาช่วยขนขยะ และต้องขอความช่วยเหลือทหารให้มาช่วยขนด้วยอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาพื้นที่รองรับขยะ เพราะบ่อทิ้งเดิมมีขยะสะสมเกือบเต็มแล้ว หากมีขยะจากน้ำท่วมครั้งนี้ไปเพิ่มอีก ก็อาจจะทำให้บ่อขยะที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับได้ และที่สำคัญบ่อขยะนี้ไม่ได้รองรับแค่ขยะจากพื้นที่เทศบาลตำบลชะอวดเท่านั้น แต่ต้องรองรับขยะจากพื้นที่อื่นด้วย ซึ่งก็จะยิ่งทำให้ขยะล้นบ่อเร็วมากขึ้น

ถอดบทเรียนกำจัดขยะน้ำท่วมปี 2554

ณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ ผอ.สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ บอกว่า จากประสบการณ์การจัดการปัญหาขยะน้ำท่วมกรุงเทพมหานครในปี 2554 สามารถถอดเป็นข้อเสนอในเชิงหลักการจัดการปัญหาขยะน้ำท่วมได้ 4 ข้อ ได้แก่ 1. ต้องลดและแยกขยะออกจากแหล่งกำเนิด 2. ไม่ให้มีขยะตกค้างในชุมชนเกิน 2 วัน 3. คำนึงถึงบทบาทครัวเรือน ผู้ประกอบการ ชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่น ในการเข้าไปช่วยกันแก้ปัญหา และ 4. กำหนดกลไกการมีส่วนร่วมและประสานงานที่ดี

“โมเดลที่ใช้ตอนนั้นก็คือ มาจาก 3 องค์ประกอบใหญ่ เรื่องแรก ต้องมีการวางแผนโดยใช้ความรู้ ตอนนั้นได้ภาควิชาผังเมืองของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาช่วยวางระบบการจัดการ ว่าขยะจากจุดหนึ่งจะไปอีกจุดหนึ่งได้อย่างไร อันที่สอง เรื่องของเครือข่ายอาสาสมัคร ตอนนั้นได้ร่วมกับไทยพีบีเอส คือก่อนหน้าจะจัดการขยะ เรามีการทำเรื่องรู้ทันน้ำ ซึ่งก็ได้สร้างพลังคน 200 – 300 คน ที่ค่อนข้างมืออาชีพเข้ามาช่วยกัน และอันที่สาม คือรูปแบบความร่วมมือ เพราะหลังจากที่พยายามคลี่คลายปัญหา เราพยายามไม่ไปติดข้อจำกัดของภาครัฐ ก็พยายามไปหาความร่วมมือกับภาคเอกชน ตอนนั้นประสานกับบริษัท SCG ซึ่งมีความต้องการที่จะใช้เชื้อเพลิงอยู่แล้ว รูปแบบการจัดการก็จะเป็นลักษณะว่า ทำอย่างไรที่ขยะจากครัวเรือน มีคนและอาสาสมัครเข้าไปบริหารจัดการ แยกขยะส่วนที่เป็นเชื้อเพลิง และภาคเอกชนก็มารับจัดการทันที คือไม่ต้องไปหลุมฝังกลบอีก ตอนนั้นเป็นโมเดลที่เรียกว่าอาศัยความร่วมมือทั้ง 3 ฝ่าย คือประชาชน ภาควิชาการ และภาคเอกชน เข้ามาร่วมกัน”

ลงมือปฏิบัติการจริง ภายใต้ชะอวดโมเดล

นอกจากประสบการณ์การจัดการขยะน้ำท่วมเมื่อปี 2554 นายสุวรรณ นันทศรุต รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ขณะนี้มีการสั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ของกรมติดตามปัญหาขยะน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด โดยนอกจากปัญหามลพิษที่อาจรั่วไหลจากบ่อขยะเดิมที่ถูกน้ำท่วมในพื้นที่ ยังประสานภาคส่วนอื่นๆ ให้เข้ามาช่วยจัดการกองขยะใหม่ที่เกิดจากน้ำท่วมด้วย

“เรื่องความร่วมมือจากภาคประชาชนหรือใครก็ตามที่มีความพร้อม ก็เป็นมาตรการที่มีความสำคัญ โดยกรมได้มีการหารือกับผู้บริหาร SCG ซึ่งมีโรงปูนอยู่ที่ทุ่งสง ดังนั้น ขยะที่เป็นขยะใหม่ที่ออกจากบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ตอนนี้ทาง SCG ก็มีความพร้อม ก็ต้องใช้กลไกหลายๆ ส่วน ความร่วมมือจากภาคเอกชน จากอาสาสมัครหรือเครือข่าย รวมทั้งสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้”

นายโกเมศร์ ทองบุญชู ภาคประชาชนจากเครือข่ายจัดการภัยพิบัติภาคใต้ สรุปว่า จากการประมวลสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ บวกการเรียนรู้ประสบการณ์การจัดการของภาคประชาสังคมเมื่อปี 2554 และความพร้อมประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกิดขึ้น จึงสรุปรูปแบบการจัดการปัญหาขยะน้ำท่วมในพื้นที่เทศบาลตำบลชะอวด โดยมีทั้งข้อเสนอการจัดระบบการทำงานให้มีหลายฝ่ายเข้าไปช่วยมากขึ้น การประสานภาคเอกชนใน การนำขยะไปเป็นเชื้อเพลิงแทนการนำไปทิ้งที่บ่อขยะ รวมทั้งการแบ่งพื้นที่จัดการปัญหา หรือโซนนิ่ง ซึ่งภาคประชาชนก็เห็นว่า หากเป็นไปในแนวทางนี้ ภาคประชาชนก็พร้อมช่วยเหลือและดำเนินทันที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง