นำร่องฟื้นป่าถูกบุกรุกกว่า 3 พันไร่ เปลี่ยนป่ายางพาราสู่ป่าเศรษฐกิจ

Logo Thai PBS
นำร่องฟื้นป่าถูกบุกรุกกว่า 3 พันไร่ เปลี่ยนป่ายางพาราสู่ป่าเศรษฐกิจ
กรมป่าไม้พลิกฟื้นผืนยางพาราสู่ป่าเศรษฐกิจ นำร่อง จ.พิษณุโลก กว่า 3,000 ไร่ ต้นแบบการฟื้นฟูนผืนป่าอย่างยั่งยืน

วันนี้ ( 7 ก.พ.2560 ) หลังจากกรมป่าไม้เดินหน้ามาตรการยึดคืนผืนป่า ตั้งแต่ปี 2557-2559 จนสามารถยึดผืนป่าได้กว่า 300,000 ไร่ จึงเข้าสู่มาตรการต่อไปคือการฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกให้คืนสู่สภาพป่าที่สมบูรณ์

นายจงคล้าย วรพงศธร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แนวทางการฟื้นฟูป่า โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีการบุกรุกเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทั้งข้าวโพด ปาล์มและยางพารา โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.นครไทย อ.วังทอง และ อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ที่มีการบุกรุกป่าโดยนายทุนจากภาคใต้เข้ามาปลูกยางพาราเป็นจำนวนมาก

จากการยึดคืนพื้นที่ดังกล่าว สำนักส่งเสริมการปลูกป่า ได้ใช้แนวทางเพื่อคงป่าอนุรักษ์ และเพิ่มป่าเศรษฐกิจ โดยนำร่องในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขากระยาง บ้านแก่งไฮ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก รวมพื้นที่กว่า 3,110 ไร่ โดยพลิกฟื้นป่ายางพาราเป็นป่าเศรษฐกิจ ด้วยแนวทางตัด 3 เว้น 2 โดยการตัดต้นยางพารา 3 แถว และปลูกไม้เศรษฐกิจแทรก 2 แถว โดยพันธุ์ไม้ที่ปลูกเสริมได้ แก่ มะฮอกกานี ยางแดง ยางนา หว้า ประดู่ป่า ตะเคียนทอง สัก พะยูง มะม่วงป่า หวาย มะขามป้อม อินทนิล และราชพฤกษ์

"เราเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อสร้างป่าธรรมชาติ และทำให้กลายเป็นป่าเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถสร้างป่าที่ยั่งยืนได้ รวมถึงเป็นการสร้างสัญลักษณ์ให้รู้ว่าป่าอยู่ระหว่างการฟื้นฟูของเจ้าหน้าที่" นายจงคล้าย กล่าว

ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ กล่าวว่า นอกเหนือจากแนวทางการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ที่ยึดคืนมาแล้วนั้น การดูแลผืนป่าไม่ให้ถูกบุกรุกซ้ำในพื้นที่เดิมคือ การติดตั้งศูนย์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เพื่อดูแลพื้นที่และสร้างแนวร่วมเป็นประชาชนในพื้นที่ โดยพื้นที่ใน จ.พิษณุโลก จะมีการบุกรุกเพื่อปลูกยางพาราจำนวนมาก ซึ่งการยึดคือ จะตัดโค่นต้นยางพารา ที่อายุไม่เกิน 4 ปี ส่วนต้นยางพาราอายุระหว่าง 4-19 ปี จะใช้แนวทางตัด 3 เว้น 2 เพื่อทำให้เป็นป่าเศรษฐกิจ และต้นยางพาราที่อายุ 20 ปี ขึ้นไปจะไม่ตัด เนื่องจากมีความสมบูรณ์แล้ว ทั้งหมดนี้เป็นการฟื้นฟูป่าต้นน้ำน่าน

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง