ใครเสี่ยงติด " ไข้หวัดใหญ่" สายพันธ์ุ เอ

สังคม
7 ก.พ. 60
11:40
2,793
Logo Thai PBS
ใครเสี่ยงติด " ไข้หวัดใหญ่" สายพันธ์ุ เอ
พบ 5 กลุ่มเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ ระบุปี 2559 มีคนป่วย 167,220 ราย เสียชีวิต 44 ราย ส่วนในปีนี้คาดจะมีผู้ป่วยพุ่ง 2 เท่าหรือราว 300,000 ราย

โรคไข้หวัดใหญ่นั้นสาเหตุส่วนหนึ่งที่เกิดการระบาดขึ้น เป็นเพราะเชื้่อสามารถล่องลอยไปในอากาศได้ เมื่อคนที่มีเชื้อไอ หรือจาม เชื้อก็จะปลิวไป และทำให้ผู้อื่นรับเชื้อได้ง่ายๆ คนที่ติดเชื้อ ตอนแรกจะยังไม่แสดงอาการ หรือคนที่มีอาการช่วงแรกอาจจะยังไม่ป่วยหนักมาก บางคนก็ยังไม่หยุดเรียน หรือยังฝืนไปทำงาน ซึ่งก็ทำให้แพร่เชื้อให้คนอื่นได้ง่าย


โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจาก "เชื้อไข้หวัดใหญ่" หรือ (Influenza virus) ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีอยู่ 3 ชนิด คือ เอ บี และซี

ซึ่งชนิดเอ มักจะก่อให้เกิดอาการรุนแรง อาจพบระบาดได้กว้างขวาง และสามารถกลายพันธุ์แตกแขนงเป็นสายพันธุ์ย่อยๆ ได้ เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 (สายพันธุ์เก่า) เคยระบาดใหญ่ทั่วโลกในปี พ.ศ.2461-2462 ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 20-40 ล้านคน อีกสายพันธุ์คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 สายพันธุ์ใหม่ (หรือสายพันธุ์ 2009) ระบาดใหญ่ทั่วโลกในปี พ.ศ.2552 สายพันธุ์นี้มีสารพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่พบในหมูสัตว์ปีก และคน จึงรุนแรงกว่าสายพันธุ์เก่า และอีกสายพันธุ์ คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H5N1 หรือที่เรียกว่าไข้หวัดนก  เป็นต้นเหตุการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีกและติดต่อมาสู่คนหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้

ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดบีนั้น จะก่อความรุนแรงและการระบาดของโรคได้น้อยกว่าชนิดเอ สามารถกลายพันธุ์ได้ แต่ไม่มากเท่าชนิดเอ ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดซี จะก่อให้เกิดอาการเพียงเล็กน้อยและมักไม่ค่อยพบการระบาด

เชื้อไข้หวัดใหญ่จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย ดังนั้นคนที่หายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะ ที่ผู้ป่วยไอหรือจามออกมา ก็เสี่ยงติดเชื้อได้ หรือถ้าสัมผัสสิ่งของของผู้ป่วยที่มีเชื้อติดอยู่ ก็อาจติดเชื้อได้ โรคไข้หวัดใหญ่จึงสามารถระบาดได้อย่างรวดเร็ว  เชื้อจะแพร่กระจายสูงสุดในช่วง 1 สัปดาห์แรกของการเจ็บป่วย ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนแสดงอาการใช้เวลาประมาณ 1-4 วัน

ส่วนอาการของโรคนั้นผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง 38-41 องศาเซลเซียส ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะมากปวดกระบอกตา อ่อนเพลียมาก อาจมีอาการเจ็บในคอ คัดจมูก น้ำมูกใส ไอแห้ง ๆ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย อาการไข้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-7 วัน ส่วนอาการไอและอ่อนเพลีย อาจเป็นอยู่ประมาณ 1-4 สัปดาห์ แม้ว่าอาการอื่น ๆ จะทุเลาลงแล้ว

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักหายจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่มีบางส่วนน้อยที่อาจมีภาวะแทรกซ้อน ที่พบได้บ่อย คือ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบหูอักเสบ แต่ที่แทรก ซ้อนรุนแรง คือ อาการปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ชัก ซึ่งกลุ่มที่เสี่ยงจะเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงก็คือเช่น เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ, ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี, สตรีตั้งครรภ์, ผู้ที่สูบบุหรี่จัด

 

 

ไข้หวัดใหญ่ ป้องกันได้ด้วยการไม่เข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วย ถ้าจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่บ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสมือกับผู้ป่วย และไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกันผู้อื่น

 ในช่วงที่มีการระบาดของโรค ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด ผู้ป่วยควรแยกตัวออกห่างจากผู้อื่น อย่านอนปะปนหรือคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเสมอ เวลาเข้าไปในที่ที่มีคนอยู่มากๆ หมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ


ปัจจุบันก็มีวัคซีนที่สามารถวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ไม่ว่าจะเป็น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ ทั้ง H1N1 สายพันธุ์เก่า และ H3N2 ไวรัสชนิดบีและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ใช้แล้ว โดยมักใช้ฉีดในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อเหล่านี้

หากไม่มีการระบาดโรค แพทย์จะไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนแก่ประชาชนทั่วไป ยกเว้นคนในเสี่ยง ทั้งเด็ก ผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี สตรีตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เป็นต้น
ซึ่งการฉีดวัคซีนแต่ละครั้งสามารถป้องกันโรคได้ 1 ปี เนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่จะเปลี่ยน แปลงตัวเองตลอดเวลา ดังนั้น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่อาจมีการเปลี่ยนไปทุกปีตามเชื้อที่เปลี่ยนไป ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจึงควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพื่อให้ได้ผลดีในการป้องกันโรคมากที่สุด

ทีนี้มาดูสถิติการป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ในบ้านเรา อย่างที่บอกว่าเป็นโรคที่ติดต่อง่าย ระบาดเป็นวงกว้างได้รวดเร็ว ดังนั้นบางปีจึงพบการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งก็จะมีคำเตือนจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งตอนนี้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครก็เริ่มเฝ้าระวังกันแล้ว และเฝ้าระวังกันทุกปี ซึ่งจากสถิติ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-27 ธ.ค.59 พบผู้ป่วยจำนวน 167,220 ราย เสียชีวิต 44 ราย

ตั้งแต่วันที่ 1-31 มกราคม 2560 มีผู้ป่วย 4,875 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยมากในกลุ่มเด็กอายุแรกเกิด-14 ปี เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณเดือนละ 13,000 ราย คาดว่าในปี 2560 จะมีผู้ป่วยมากกว่า 300,000 รายซึ่งมากกว่าปีที่แล้วร่วมเท่าตัว

หลายคนเลือกที่จะป้องกันไม่ให้ผู้อื่นติดเชื้อหรือป้องกันตัวเอง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย แต่อย่าลืมว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ ติดต่อง่ายเพียงสัมผัสกับของที่ติดเชื้อ ก็มีโอกาสเสี่ยง ดังนั้นหน้ากากอนามัย ก็เป็นตัวการแพร่เชื้อได้เหมือนกัน จึงมีคำแนะนำว่า คนที่ใช้หน้ากากอนามัย ก็ต้องระมัดระวังโดยเวลาที่จะทิ้่งก็ให้ใส่ถุงพลาสติก มัดปิดปากถุงให้แน่น ก่อนทิ้งถังขยะ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง