ทีมสัตวแพทย์อุทยาน วางแผนรักษา "ช้างป่า" 2 ตัวบาดเจ็บ

สิ่งแวดล้อม
16 ก.พ. 60
16:36
574
Logo Thai PBS
 ทีมสัตวแพทย์อุทยาน วางแผนรักษา "ช้างป่า" 2 ตัวบาดเจ็บ
"หมอล็อต" สัตวแพทย์ กรมอุทยานแห่งชาติ เข้าพื้นที่แก่งหางแมว จันทบุรี ประเมินลูกช้างบาดเจ็บ 2 ตัว เพื่อเตรียมวางแผนรักษา เบื้องต้นพบลูกช้างขาบวม คาดอาจถูกบ่วงรัด ส่วนอีกตัวมีรอยแผลที่หน้า คาดเจอสารเคมี

ความคืบหน้าหลังชาวบ้านในพื้นที่อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ได้นำภาพคลิปวิดีโอที่ถ่ายช้างป่า ในพื้นที่แก่งหางแมวได้รับบาดเจ็บ 2 ตัวเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย พร้อมทั้งประสานเจ้าหน้าที่เพื่อขอให้มาติดตามอาการ 

วันนี้ (16 ก.พ.60) นายสมบูรณ์ ธีรบัญฑิต ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ศรีราชา จ.ชลบุรี กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เร่งติดตาม ค้นหาช้างป่าที่ได้รับบาดเจ็บ 2 ตัว โดยพบว่าตัวหนึ่ง มีบาดแผลที่หน้าคล้ายถูกสารเคมี และอีกตัวเป็นลูกช้างป่า มีขาบวมด้านซ้าย โดยสั่งการให้ทีมสัตวแพทย์ ติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ที่ได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่

 


นายสมบูรณ์ บอกว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไม่ได้ละเลย เพราะการติดตามดูอาการช้างป่าที่ได้รับบาดเจ็บ อาจต้องเฝ้าดูอยู่ห่างๆ โดยใช้วิธีการสังเกตพฤติกรรมช้างที่บาดเจ็บ ซึ่งจากที่ชาวบ้านได้ร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ละเลย อาจจะเป็นการเข้าใจผิดและยังไม่เข้าใจวิธีการรักษาสัตว์ป่า

นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ กรมอุทยานฯ กล่าวว่า จากที่ได้ติดตามสังเกตอาการช้างป่าทั้ง 2 ตัว พบว่า ช้างตัวที่บาดเจ็บได้เข้ารวมฝูง กับช้างโขลงใหญ่ไปแล้ว เบื้องต้นอาการของช้างป่า ไม่น่าเป็นห่วง โดยช้างป่าที่มีแผลที่หน้า และคอจากการถูกสารเคมีอาจต้องหาวิธีการรักษาโดยล้างแผล และใส่ยาป้องกันการติดเชื้อ


ส่วนลูกช้างที่มีอาการขาซ้ายบวม จะทำการรักษาระยะไกล โดยจะยิงยาปฏิชีวนะชนิดแรงรักษาอาการในเบื้องต้น ซึ่งลักษณะนี้ลูกช้างอาจถูกบ่วงลัดที่ขาจนทำให้ขาผิดรูปได้ หรือ หากมีบาดแผลที่ขา การให้ยาปฏิชีวนะก็สามารถช่วยได้ในเบื้องต้น


“จากการสังเกตพฤติกรรมช้างป่าทั้ง 2 ตัว สามารถกลับเข้าร่วมฝูงและใช้ชีวิตร่วมกับช้างตัวอื่นได้ แสดงว่าอาการช้างป่าที่พบไม่น่าเป็นห่วงมากนัก การรักษาช้างป่าอาจต้องอยู่ในระยะที่คนต้องปลอดภัยด้วย แผนช่วยเหลือช้างป่าครั้งนี้จะเน้นการรักษาระยะไกล เนื่องจากช้างป่ารวมฝูงแล้ว มีความเสี่ยงเกิดอันตรายกับเจ้าหน้าที่ได้” นายสัตวแพทย์ภัทรพล ระบุ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง