หั่นงบ สปสช.กระทบสิทธิรักษา 30 บาททุกโรค

สังคม
17 ก.พ. 60
11:53
6,424
Logo Thai PBS
หั่นงบ สปสช.กระทบสิทธิรักษา 30 บาททุกโรค
บอร์ด สปสช.ภาคประชาชน กังวลสำนักงบประมาณตัดงบเหมาจ่ายรายหัวเหลือแค่ 3,100 บาทต่อราย อาจส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการในโรงพยาบาลรัฐที่มีผู้ใช้สิทธิ์ถึง 48 ล้านคนในระบบนี้

จากกรณีที่สำนักงบประมาณ ตัดงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2561 เหลือ 3,100 บาทจากที่เสนอไป 3,374.70 บาท ทำให้บอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภาคประชาชน เห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการและสิทธิประโยชน์บางรายการกับประชาชนกว่า 48 ล้านคนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปรับลดงบดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบกับประชาชนที่เข้ารับบริการตามโรงพยาบาลต่างๆ เนื่องจากงบประมาณเหมาจ่ายค่าหัวในปี 2561 ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถูกสำนักงบประมาณปรับลดลง จาก 141,916 ล้านบาท เหลือเพียง 128,533 ล้านบาท ลดลงกว่า 13,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 274 บาทต่อหัวประชากร

 


วันนี้ (17 ก.พ.2560) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ยืนยันว่า งบประมาณที่เสนอเป็นการคำนวณจากต้นทุนการบริการภายใต้สิทธิประโยชน์กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมการดูแลประชาชนผู้มีสิทธิ์กว่า 48 ล้านคน ซึ่งหากไม่ได้รับงบประมาณตามที่ขอ คือ 3,374.70 บาทต่อรายหัว ก็จำเป็นต้องปรับลดสิทธิประโยชน์ และส่งผลให้การเข้าถึงบริการของกลุ่มเป้าหมายลดลงตามไปด้วย

การเสนองบประมาณเหมาจ่ายรายหัวของ สปสช. ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า สปสช. ไม่เคยได้รับงบประมาณเต็มตามจำนวนที่เสนอขอ ทั้งยังถูกแช่แข็งงบประมาณติดกันในปี 2555-2556 และ 2557-2558 เนื่องจากมาจากภาวะเศรษฐกิจ

 


ขณะที่การปรับลดงบประมาณในปี 2561 มากกว่า 13,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเกินไป อาจไม่เพียงพอ จึงนำมาซึ่งผลการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สปสช.และสำนักงบประมาณเพื่อขอเพิ่มงบฯ แม้ท้ายที่สุดจะได้เพิ่มมาอีก 500 ล้านบาทในกลุ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ 3 รายการ ได้แก่ การคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงอายุ 50 ปีขึ้นไป วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก และค่าบริการสาธารณสุขกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล บอร์ดสปสช. ภาคประชาชน กังวลว่าการปรับลดงบประมาณอาจกระทบต่อภาระงาน และต้นทุนการบริการ ทั้งจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัย การเพิ่มของอัตราเงินเฟ้ และเกิดภาระผูกพันระยะยาว

 

 

นอกจากนี้ บอร์ด สปสช. ภาคประชาชนยังเสนอว่า รัฐบาลควรจัดลำดับความสำคัญการใช้งบประมาณประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด และสนับสนุนนโยบายด้านสุขภาพเพื่อให้ประ ชาชนได้รับสวัสดิทางสังคม ซึ่งเป็นการลงทุนมนุษย์ที่คุ้มค่าและยั่งยืน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง