"แลปนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า" แห่งแรก ไขปริศนาคดีอาชญากรรม

สิ่งแวดล้อม
1 มี.ค. 60
17:10
5,610
Logo Thai PBS
"แลปนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า" แห่งแรก ไขปริศนาคดีอาชญากรรม
เปิดห้องแลปวิทยาศาสตร์ กรมอุทยานแห่งชาติ พิสูจน์อัตลักษณ์สัตว์ป่า ไขปมช้างป่าสวมตั๋วรูปพรรณ โดยใช้เครื่องหมายสนิปส์แห่งแรกในการสร้างประวัติช้างบ้านกว่า 3,500 เชือก

นี่เป็นหลอดบรรจุตัวอย่างเลือด ของช้างพลายทีจี พลายเกาะพยาเพ็ชร์ และพังน้ำหวาน ซึ่งเป็นเพียง 3 ตัวอย่าง จากเลือดและขนของช้างบ้าน ทั่วประเทศราว 3,500 เชือกที่ถูกเก็บและทยอยส่งเข้ามาตรวจยังหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

โดยมีเป้าหมายในการทำฐานข้อมูลช้างเลี้ยงครั้งแรกในรอบหลายปี ภายใต้คำสั่งมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการแก้ปัญหาการสวมสิทธิ์ช้างป่าเป็นช้างบ้าน

“ภารกิจของทีมนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า เทียบเท่ากับทีมนิติวิทยาศาสตร์ ของกระทรวงยุติธรรม ที่ช่วยไขคดีของคน แต่ทีมของเราจะช่วยไขปริศนาเกี่ยวกับสัตว์ป่า หมายความว่าการตรวจสอบอัตลักษณ์จากตัวอย่างสัตว์ป่าที่ส่งมา ทั้งเลือดช้าง เลือดเสือ ชิ้นเนื้อสัตว์ป่า งาช้าง นอแรด เมื่อพิสูจน์แล้ว คำตอบจะถูกนำไปใช้คดีกระทำผิดด้านสัตว์ป่า อาชญากรรมที่กำลังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ” ดร.กนิตา อุ่ยถาวร หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดบทสนทนา

เธอบอกว่า งานนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า เริ่มต้นขึ้นในปี 2553 ในช่วงแรกที่พบการกระทำผิดอาชญากรรมด้านสัตว์ป่าเริ่มมีมากขึ้น กรมอุทยานฯ จึงตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมารองรับจากเดิมที่ต้องส่งตัวอย่างไปตรวจตามมหาวิทยาลัย และใช้เวลานาน จากทีมงาน 12 คน และมีตัวอย่างสัตว์ป่ามาตรวจสอบอัตลักษณ์ เพียง 500 ตัวอย่างต่อปี ในระยะ1-2 ปีนี้กระโดดขึ้นเป็น 1,000 -3,000 ตัวอย่าง โดยเฉพาะกรณีปัญหาการค้างาช้างข้ามชาติ และคดีที่คนไทยไปล่าแรดในแอฟริกา หน่วยนิติวิทยาศาสตร์ก็ได้เข้าไปทำงานนี้

โดยเฉพาะปี 2560 หน่วยต้องทำงานหนักใน 2 คดีใหญ่ คือกรณีพิสูจน์เสือของกลางวัดป่าหลวงตาบัวญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี กว่า 150 ตัวอย่างเสือที่ยังมีชีวิต และลูกกรอกเสืออีก 40 ซาก และกรณีการเจาะเลือดช้างบ้าน 3,500 เชือก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ใช้เจาะเลือดเพื่อตรวจรหัสพันธุกรรมช้างพร้อมกันทั่วประเทศ โดยการทำเครื่องหมายสนิปส์ และตรวจเอกลักษณ์ ทำระเบียนช้างอย่างเป็นระบบครั้งแรก ซึ่งกรณีนี้จะนำไปสู่การวางมาตรการในการตรวจสอบและควบคุมเส้นทางการสวมตั๋วรูปพรรณช้าง

สลายปมกังขาขั้นตอนตรวจ "ดีเอ็นเอ" ช้างบ้าน

หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า ยกตัวอย่างกรณีความกังขาเกี่ยวกับผลตรวจดีเอ็นเอช้าง 2 เชือกคือพลายทีจี และ เกาะพยาเพ็ชร์ ที่เป็นประเด็นใน ตอนนี้ ว่า ไม่ได้สร้างความกังวลต่อการทำงาน เพราะเชื่อว่าการตรวจมีความแม่นยำสูง และมีความรัดกุมโปร่งใสในทุกขั้นตอน แน่นอนว่า เป็นความท้าทายงาน นิติวิทยาศาสตร์ การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทุกสาขามาประยุกต์ใช้ช่วยกระบวนการสืบสวนสอบสวน เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงและนำเอาผู้กระทำผิดในคดีความมาลงโทษตาม กฎหมาย วัตถุพยานจึงมีความสำคัญ

เธอบอกว่า การทำงานตั้งแต่เก็บตัวอย่างเลือดช้างทุกตัวพร้อมกับทีมสัตวแพทย์ มีคณะกรรมการ 3 ส่วนคือกรมอุทยานแห่งชาติ กรมปศุสัตว์ และกรมการปกครอง ในการเก็บ และเซ็นต์ชื่อกำกับบนหลอดที่เก็บเลือด และในถุงที่บรรจุในถุงส่งตัวอย่างเลือดช้างบนเทปกาวที่ผนึก หากถุงที่ปิดผนึกถุงใด มีความผิดปกติหรือรอยแกะเพียงเล็กน้อยจะไม่รับมา


ขั้นตอนการนำวัตถุพยานมาถึงกรมอุทยาน จะต้องมีใบรับมอบ-ส่งมอบ ตามรหัสของช้างแต่ละเชือกทุกครั้ง จะสอดคล้องกับตัวอย่างที่นำส่ง ร่วมกับข้อมูลของกรมการปกครองประจำตัวช้างแต่ละเชือกว่ามีรหัสเลข ช. ช้าง และเลขไมโครชิพหมายเลขอะไร และจากนั้นจะนำข้อมูลใส่ในฐานข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะประกอบด้วยชื่อช้าง อายุ เพศ หมายเลขไมโครชิพ เจ้าของ สถานที่ช้าง เป็นต้น

“ในการนำตัวอย่างมาตรวจ เพื่อความโปร่งใสในขั้นตอนการทำงานของแล็ป ก่อนจะเปิดวัตถุพยาน ต้องมีเจ้าหน้าที่ 2 คนคอยกำกับ จึงไม่ต้องห่วงว่าจะมีข้อผิดพลาด ซึ่งแต่ละครั้งที่มีการตรวจสอบ ดีเอ็นเอช้างจะนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกันทุกครั้งในระบบคอมพิวเตอร์ โดยช้าง 1 เชือกใช้เวลาตรวจดีเอ็นเอ ประมาณ 2 สัปดาห์”

เครื่องหมาย “สนิปส์” ระบุอัตลักษณ์ช้างครั้งแรก

ดร.กนิตา บอกว่า กระบวนการตรวจ ซึ่งเป้าหมายหาอัตลักษณ์ของช้างแต่ละตัวหรือการระบุพันธุกรรมของช้างแต่ละตัว ยกเว้นบางกรณีที่สงสัยว่าช้างเหล่านี้ จะมีความสัมพันธุ์พ่อแม่ลูกกันหรือไม่ ขั้นตอนนี้จะทำเครื่องหมายไมโครแซทเทิลไลน์ เพื่อระบุตัวตน และหาความสัมพันธ์พ่อแม่ลูกต่อไป

ส่วนการตรวจเพื่อระบุอัตลักษณ์ช้างแต่ละตัวด้วยการหาเครื่องหมาย สนิปส์ช้าง ซึ่งมีจำนวน 16 ตำแหน่ง เมื่อเข้ากระบวนสกัดดีเอ็นเอ เพิ่มปริมาณพีซีอาร์ จะสามารถทราบผลได้ทันทีหลังจากเครื่องรันระบบในเวลา 2 ชั่วโมง

โดยการระบุอัตลักษณ์ด้วยเครื่องหมายสนิปส์ ถือเป็นที่แรกและครั้งแรก และต่อไปก็จะทยอยทำครื่องหมายไมโครแซทเทิลไลน์ จะมีประโยชน์ในการหาความสัมพันธ์พ่อแม่ลูกได้ โดยอ้างอิงจากทีมอาจารย์หาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้รับการตีพิมพ์ และเป็นเครื่องหมาย 13 ตำแหน่งที่ระบุการหาความสัมพันธ์พ่อแม่ลูก เพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกัน และในการเทียบข้อมูลจะได้เชื่อมโยงกันได้

 

ขณะนี้มีตัวอย่างเลือด และขนของช้างบ้านมาแล้วประมาณร้อยละ 99 หรือประมาณ 3,500 เชือก ตรวจและคัดแยกดีเอ็นเอไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่ง และ คาดว่า ตรวจอัตลักษณ์ช้างบ้านแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ ตามคำสั่งมาตรา 44 ของ คสช.

เธอ บอกว่า หากจะมีการตรวจดีเอ็นเอช้างใหม่อีกครั้ง เพื่อคลายความสงสัยขึ้นอยู่กับภาครัฐ แต่ในเบื้องต้นกรมอุทยานฯดำเนินการตรวจสอบมาแล้ว 3 ครั้ง ถือว่ามีความแม่นยำของผลตรวจดีเอ็นเอ และเราไม่มีความกังวลเพราะผลออกมาอย่างไรต้องยอมรับตามนั้น ยืนยันว่าทุกอย่างรัดกุม แม่นยำ เพราะผลตรวจพันธุกรรม ถึงแม้จะต่างเวลา ต่างวาระ ถ้าช้างเป็นตัวเดียวกัน ต่อให้ตรวจห่างกัน 10 ปี ผลพันธุกรรมจะไม่เปลี่ยน

อาชญากรรมสัตว์ป่า วันนี้แม้จะมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป แต่คงไม่หนีนิติวิทยาศาสตร์ที่จะมาช่วยไขปมคดี...

จันทร์จิรา พงษ์ราย ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง