คมนาคมจ้างบริษัทศึกษาปัญหาอูเบอร์ คาดได้ข้อสรุป ไม่เกิน 1 ปี

เศรษฐกิจ
20 มี.ค. 60
20:13
300
Logo Thai PBS
คมนาคมจ้างบริษัทศึกษาปัญหาอูเบอร์ คาดได้ข้อสรุป ไม่เกิน 1 ปี
กระทรวงคมนาคม จ้างบริษัทศึกษาปัญหาการให้บริการอูเบอร์ในประเทศไทย คาดใช้เวลาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี จึงจะได้ข้อสรุป

วันนี้ (20 มี.ค.2560) นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่า จะจ้างบริษัททำการศึกษาเเนวทางการให้บริการรถยนต์ป้ายดำ ผ่านแอพพลิเคชั่น โดยศึกษาตั้งแต่ มาตรฐานยานพาหนะ การกำกับดูแลคนขับ คนใช้บริการ การเสียภาษี เป็นต้น โดยเทียบเคียงกับประเทศอื่น ที่มีการให้บริการอูเบอร์เเล้ว อย่าง มาเลเซีย หรือ สิงคโปร์ โดยจะใช้เวลา ประมาณ 6-12 เดือน เพื่อพิจารณาว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมาย หรือ อาจออกเป็นรูปแบบการให้บริการรถโดยสารแบบใหม่หรือไม่ โดยระหว่างนี้ได้ขอความร่วมมือจากอูเบอร์ ยุติการให้บริการก่อน

 

ขณะที่ เอมี่ กุลโรจน์ปัญญา ผู้อำนวยการ สื่อสารองค์กรและนโยบายเอเชียแปซิฟิ อูเบอร์ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยพิจารณากฎระเบียบใหม่ที่รองรับ Ridesharing ในประเทศไทย และจะไม่ยุติให้บริการ ตามที่กระทรวงคมนาคมขอความร่วมมือ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง

ขณะที่นายวิทูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในกรุงเทพ เรียกร้องให้กระทรวงคมนาคม ดำเนินการตามกฎหมายและกวดขันอย่างเคร่งครัด หรือหากแก้กฎหมายเพื่อให้ผู้ให้บริการรถป้ายดำผ่านแอพพลิเคชั่นอูเบอร์ ให้บริการได้ กลุ่มแท็กซี่ปัจจุบันก็จะปรับเปลี่ยนจากรถป้ายเหลือง เช่นกัน ซึ่งช่วยให้มีต้นทุนที่ถูกลง ขณะนี้แท็กซี่ได้ปรับตัวและพร้อมให้บริการผ่านแอพพลิเคชั้น ชื่อว่า Smart Taxi ซึ่งคาดว่าจะทำให้การปฏิเสธผู้โดยสารลดลง

 

 

แม้ผู้ให้บริการแท็กซี่จะเริ่มปรับตัวนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ แต่หากดูจากข้อร้องเรียนจากผู้โดยสาร ผ่านทาง 1584 พบว่า 5 เดือน ล่าสุด มีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะ กว่า 20,000 ราย เป็นเเท็กซี่กว่า 16,000 เรื่อง สามอันดับการร้องเรียนสูงสุด 1.ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร 2.ไม่ใช้มาตรค่าโดยสาร 3.มาตรค่าโดยสารผิดปกติ ขณะที่ Uber เปิดให้ประชาชนร่วมสนับสนุนให้รัฐบาลรองรับบริการร่วมเดินทางผ่านทางเว็บไซต์ ผ่านมา 11 วัน ล่าสุดมีกว่า 43,000 คน

 

 

ด้าน พ.อ.ญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช.ระบุว่า คสช.จะเข้ามาจัดระเบียบการให้บริการรถยนต์สาธารณะผ่านแอปพลิเคชั่น Uber ร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง พิจารณาแนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนได้ใช้รถบริการสาธารณะในรูปแบบต่างๆ ที่มีความสะดวกปลอดภัย และถูกต้องตามกฎหมาย

 

 

จากนี้ไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน จะเป็นอีกก้าวหนึ่งของหน่วยงานไทย ที่จะร่วมกันพิจารณาและหาคำตอบว่า ระบบขนส่งมวลชนของไทย ถึงเวลาที่จะต้องปรับเปลี่ยนแล้วหรือ ไม่ หลังจากกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้รถยนต์คือ กฎหมายที่บังคับใช้ เมื่อ 38 ปีที่แล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง