ชงนายกฯ สั่งห้ามขาย "เหล้า-เบียร์" งานอีเว้นท์-คอนเสิร์ตสงกรานต์

สังคม
23 มี.ค. 60
14:39
950
Logo Thai PBS
ชงนายกฯ สั่งห้ามขาย "เหล้า-เบียร์" งานอีเว้นท์-คอนเสิร์ตสงกรานต์
เครือข่ายต่อต้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสนอนายกฯ ออกมาตรการคุมน้ำเมารับมือสงกรานต์ ห้ามขายในงานอีเวนท์ หรือคอนเสิร์ตช่วง 7 วันอันตราย ลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ พร้อมปรับบทลงโทษเมาแล้วขับ ปริมาณแอลกอฮอล์ต้องไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

วันนี้ (23 มี.ค.2560) เวลา 10.00 น.ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา (Alcohol Watch) พร้อมด้วยเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต 50 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ออกมาตรการเข้มรับมือช่วงสงกรานต์ ปรับบทลงโทษเมาแล้วขับ รวมถึงห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานคอนเสิร์ตและงานอีเว้นท์ต่างๆ ช่วง 7 วันอันตราย เนื่องจากทำให้เกิดอุบัติเหตุจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ได้ร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ชุด “จัดการสุราปัญหาลดชัวร์” เพื่อสะท้อนถึงผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นายคำรณ กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาลทุกเทศกาล สะท้อนจากข้อมูล 7 วันอันตรายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 พบว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นสูงถึง 3,447 ครั้ง ทำให้เสียชีวิต 442 คน บาดเจ็บ 3,656 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ สาเหตุอันดับหนึ่งคือการเมาสุรา รองลงมาขับรถเร็วเกินกำหนด

จากที่เครือข่ายฯ ได้เฝ้าระวังและรวบรวมข้อมูล พบว่าในช่วงสงกรานต์ของทุกๆ ปี จะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดงานอีเว้นท์ต่างๆ งานคอนเสิร์ต 1,000 จุดทั่วประเทศ มีคนเข้าร่วมงานในแต่ละงานตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่นคน ที่สำคัญมีการขายเหล้าเบียร์ รวมทั้งส่งเสริมการขายโดยไม่สนใจกฎหมาย และจากการติดตามแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาของรัฐบาลจะพบว่ามีหลายมาตรการ แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นมาตรการเดิม ยังไม่จัดการกับปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง ผู้ดื่มจึงกลายเป็นเป้า ส่วนผู้ผลิต ผู้ขายกลับลอยตัว และกอบโกยบนความสูญเสีย จึงกังวลว่าในปีนี้จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้น หากยังไม่ใช้ยาแรงจัดการที่ต้นทางปัญหา คือน้ำเมา

ทั้งได้มีข้อเสนอไปยังต่อรัฐบาล ดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาล คสช.ออกมาตรการห้ามจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกิจกรรมคอนเสิร์ต และอีเว้นท์ต่างๆ ของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 7 วันอันตราย 2.ขอให้ยกเลิกการออกใบอนุญาตขายสุรา ประเภทชั่วคราวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และยกเลิกตลอดไป เนื่องจากเป็นปัญหาที่ยากต่อการควบคุม 3.ขอให้ทบทวนความผิดฐานเมาแล้วขับ ให้ปริมาณแอลกอฮอล์ลดลงจาก 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เหลือที่ 20 หรือ 30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และเรียกร้องให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งผู้ผลิตและจำหน่าย ร่วมมือกับภาครัฐในการจัดกิจกรรมที่ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุอันมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง