ทีมจักษุแพทย์ มธ.คว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์โลก

Logo Thai PBS
ทีมจักษุแพทย์ มธ.คว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์โลก
ทีมจักษุแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก ผลงาน "DeepEye Application"นวัตกรรมตรวจดวงตาเพื่อป้องกันตาบอดในผู้สูงอายุ และจากโรคเบาหวานขึ้นตาด้วยโปรแกรมมือถือ ที่กรุงเจนิวา สวิตเซอร์แลนด์ เตรียมนำมาใช้งานจริงกลางปีนี้

วันนี้( 1 เม.ย. 2560) รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทย ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือมธ. เผยข่าวดีว่า ภาควิชาจักษุแพทย์ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต และผศ.นพ.ณวพล กาญจนารัณย์ ได้ร่วมกันประดิษฐ์นวัตกรรมตรวจดวงตาเพื่อป้องกันตาบอดในผู้สูงอายุ และจากโรคเบาหวานขึ้นตาด้วยโปรแกรมมือถือ ที่ชื่อว่า DeepEye Application โดยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์ ถ้วยรางวัลเกียรติยศอันดับ 1 ผลงานสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกในงาน 45th International Exhibition of Inventions ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มี.ค.- 2 เม.ย.นี้ การประกวดครั้งนี้ มีนักประดิษฐ์หลากหลายประเทศส่งผลงานเข้าร่วมประกวด จึงถือเป็นถ้วยรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ที่ทีมนักวิจัยไทยเคยได้รับ

หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา ระบุว่า นวัตกรรมกรรมดังกล่าว จะนำมาใช้ในประเทศไทยช่วงกลางปีนี้ หวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาภาวะตาบอดในผู้สูงอายุและผู้ป่วยเบาหวานของประเทศไทยได้ ซึ่งนอกจากช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวแล้วยังช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และสังคมจากความพิการได้อย่างมหาศาล

 

สำหรับโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุและโรคเบาหวานขึ้นตา เป็นสาเหตุตาบอดอันดับต้นๆ ของคนไทยและประชากรทั่วโลก ในสังคมผู้สูงอายุที่มีผู้ป่วยเบาหวานถึง 1 ใน 10 ของประชากรซึ่งทุกคนต้องการการตรวจจอตาทุก 6 เดือน ถึง 1 ปี เพื่อพบรอยโรคระยะเริ่มต้นที่สามารถรักษาไม่ให้ตาบอดได้ ในขณะที่มีจักษุแพทย์เพียง 1 คนต่อประชากรเกือบ 10,000 คนหรือ 100,000 คน

ในบางประเทศทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้มาพบแพทย์เมื่อสายเกินไป ปัจจุบันใช้การถ่ายภาพจอตาแล้วอ่านผลโดยพยาบาลหรือจักษุแพทย์ทั่วไปซึ่งมีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้สูง นวัตกรรมที่ทีมคิดค้นมานั้นจะดึงภาพจอตาของคนกลุ่มเสี่ยงมาให้โปรแกรมแปลผลว่าปกติหรือเริ่มเป็นโรคที่ต้องส่งพบจักษุแพทย์ได้แม่นยำใกล้เคียงกับจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจอตา ซึ่งจะทำให้สามารถป้องกันตาบอดจากโรคจอตาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง