ร้องสอบจริยธรรมกรณีกรรมการแพทยสภาไล่ผู้แทน WHO ออกจากเวทีประชาพิจารณ์ สสส.

สังคม
5 เม.ย. 60
16:22
373
Logo Thai PBS
ร้องสอบจริยธรรมกรณีกรรมการแพทยสภาไล่ผู้แทน WHO ออกจากเวทีประชาพิจารณ์ สสส.
ภาคประชาชนร้องนายกแพทยสภาตรวจสอบจริยธรรมกรณีกรรมการแพทยสภาไล่ผู้แทน WHO ออกจากเวทีประชาพิจารณ์ พ.ร.บ.สสส.ด้วยถ้อยคำรุนแรง สร้างความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ประเทศ

วันนี้ (5 เม.ย.2560) นายนรินทร์ แป้นประเสริฐ ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพ พร้อมด้วยนายวันชัย พูลช่วย เลขานุการเครือข่ายแอลกอฮอล์วอช และภาคีเครือข่าย 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกแพทยสภา ขอให้ตรวจสอบจริยธรรม พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา และ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล กรรมการแพทยสภา ที่แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ในเวทีสัมมนาประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฉบับที่...พ.ศ....เมื่อวันที่ 31มี.ค.ที่ผ่านมา โดยใช้ถอยคำไม่เหมาะสม กดดันไม่ให้ให้ นพ.แดเนียล เอ.เคอร์แทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องออกจากห้องประชุมไปในที่สุด สร้างความเสื่อมเสียต่อองค์กรแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงภาพลักษณ์ของไทย ทั้งนี้เครือข่ายฯได้นำหลักฐานที่มีมอบไว้ด้วย

นายนรินทร์ กล่าวว่า ในเวทีสัมมนาประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.สสส.ครั้งนี้ที่ประชุมดำเนินการไประยะหนึ่ง ผู้ดำเนินการในที่ประชุม คือนายวราสิทธิ์ กาญจนสูตร ได้อนุญาตให้ นพ.แดเนียล เอ.เคอร์แทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ซึ่งมาร่วมเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่เมื่อ นพ.แดเนียล ได้เริ่มแสดงความเห็นเพียงไม่ถึงหนึ่งนาที พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา และพญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล กรรมการแพทยสภา ได้กดไมโครโฟนโดยไม่รอให้ประธานเรียกให้พูด และไม่ยินยอมให้ผู้แทนองค์การอนามัยโลกได้แสดงความคิดเห็นจบ ทั้งที่ผู้ดำเนินการประชุมแจ้งว่าจะขอให้พูดเพียง 5 นาทีเท่านั้น โดยใช้คำพูดรุนแรงว่า “การทำประชาพิจารณ์มันเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ หรือ WHO ไหม ถามง่ายๆว่า WHO เป็นพ่อเราหรือปล่าวหรือมีเวทีเยอะแยะที่องค์การอนามัยโลกจะไปพูด ไม่จำเป็นต้องมาพูดในเวทีนี้” พญ.เชิดชู กล่าว และมีคำพูดจาก พญ.อรพรรณ ที่กล่าวว่า“ถ้ายอมอ้ายที่ไม่ใช่สัญชาติไทยมาให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ การทำประชาพิจารณ์เรื่องนี้จะโมฆะ จะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือเป็นการแทรกแซงเมืองไทยหรือไม่” ซึ่งที่ประชุมครั้งนี้มีทั้งข้าราชการระดับสูง ตัวแทนแพทย์จากที่ต่างๆ นักวิชาการ ตัวแทนหน่วยงานของรัฐ องค์กรภาคประชาสังคม เข้าร่วมไม่น้อยกว่า100 คน และประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกขององค์การอนามัยโลก​เป็นองค์กรหลักนานาชาติ ทำหน้าที่ดูแลด้านสุขภาพของโลก​ ย่อมเกี่ยวข้องกับงานสุขภาพของทุกประเทศ และในประกาศสำนักนายกฯ เรื่องการรับฟังความคิดเห็น ก็ไม่ได้ห้ามชาวต่างชาติด้วย

“อยากเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ พญ.เชิดชู และ พญ.อรพรรณ์ ในฐานะวิชาชีพแพทย์ ว่าขัดต่อจริยธรรมใน หมวด 2 หลักทั่วไป ข้อ 6 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมไม่ประพฤติหรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ และรวมถึง หมวด 5 การปฏิบัติต่อผู้ร่วมวิชาชีพ ข้อ 30 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมพึงยกย่องให้เกียรติเคารพในศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน รวมทั้งในฐานะกรรมการแพทยสภาว่าเหมาะสมหรือไม่ และเร็วๆ นี้ จะไปยื่นหนังสือถึงกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้พิจารณาเรื่องนี้ เนื่องจากมีการกล่าวอ้างว่าเขามาจากกรรมาธิการนี้ด้วย” นายนรินทร์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง