"กรมสุขภาพจิต" ห่วงเลียนแบบไลฟ์สดปลิดชีวิตออนไลน์

สังคม
25 เม.ย. 60
14:34
233
Logo Thai PBS
"กรมสุขภาพจิต" ห่วงเลียนแบบไลฟ์สดปลิดชีวิตออนไลน์
กรมสุขภาพจิต เตือนอย่าชม อย่าแชร์ ไลฟ์สดฆ่าตัวตาย หวั่นพฤติกรรมเลียนแบบ และชี้นำ กลุ่มเด็กเสี่ยงมากสุด เผยแนวโน้มสถิติปี 2558 พุ่ง 350 คนต่อเดือน พบผู้ชายเพิ่ม 4 เท่าของผู้หญิง

วันนี้ (25 เม.ย.2560) นาวาอากาศตรี นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้เกิดปรากฎการณ์ไลฟ์สดการฆ่าตัวตายผ่านสังคมออนไลน์ เฉลี่ยเดือนละ 1-2 ราย ซึ่งการถ่ายทอดสดลักษณะนี้ ไม่สามารถที่จะตัดต่อได้ หรือเซ็นเซอร์ได้ ในขณะออกอา กาศ หากมีผู้ติดตามจำนวนมาก ย่อมส่งผลให้เกิดการฆ่าตัวตายเลียนแบบ หรือชี้นำให้เกิดการฆ่าตัวตาย ตามด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นทางออกของปัญหา โดยเฉพาะกับผู้ที่มีสภาพจิตใจเปราะบางอยู่แล้ว หรืออาจเคยมีความคิดอยากตาย หรือมีปัญหาทุกข์ใจ

โดยเฉพาะหากผู้รับชมเป็นเด็ก และเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ไม่ระมัดระวังในการรับสื่อ อาจเข้าใจผิดคิดว่า การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ง่าย หากได้รับการตอบรับจากผู้ชมจำนวนมาก ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ง่ายยิ่งขึ้น หากพบเห็นภาพเหล่านี้ ต้องรีบยับยั้ง อย่าแชร์ หรือบอกต่อ และไม่ติดตามการถ่ายทอดสดจนจบ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจตนเองในอนาคต เช่น เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ เก็บไปเป็นความเครียดฝังใจ ครุ่นคิด จนนอนไม่หลับ เป็นภาพติดตาซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิต

อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า การฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายด้วยอารมณ์ชั่ววูบ มักจะส่งสัญญาณเตือนมาก่อน ทั้งคำพูด การเขียนจดหมาย การส่งข้อความสั้น การไลน์ หรือการโพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งคนที่อยากฆ่าตัวตายหรือ ทำร้ายตัวเองมักจะมีความลังเล พะวักพะวง การช่วยเหลือในระยะนี้ จึงมีความสำคัญและเป็นการป้องกันการฆ่าตัวตายที่ดีที่สุด จากคนใกล้ชิด 

สถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทย จากฐานข้อมูลโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น ราชนครินทร์ พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น ล่าสุดปี 2558 คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยเดือนละ 350 คนหรือทุกๆ 2 ชั่วโมง คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่า 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง