สปท.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.สื่อฯ 1 พ.ค.นี้

การเมือง
27 เม.ย. 60
20:00
199
Logo Thai PBS
สปท.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.สื่อฯ 1 พ.ค.นี้
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเตรียมถกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อมวลชน 1 พ.ค.นี้ กำหนดให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เป็นองค์กรกลางกำกับดูแลกันเอง

วันนี้ ( 27 เม.ย.2560 ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณีสปท.เตรียมพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ว่า ไม่ได้มีเจตนาริดรอนหรือครอบงำการทำหน้าที่สื่อฯ แต่หลักการเพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อฯ

ส่วนที่กำหนดให้ผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อมวลชนต้องขอใบอนุญาตนั้น เฉพาะสื่อที่ต้องทำหน้าที่เป็นปกติสม่ำเสมอ และได้ค่าตอบแทนเป็นประจำจากเจ้าของสื่อ หรือมีรายได้จากการงานที่กระทำนั้น ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมจึงไม่กระทบกับประชาชนทั่วไปแต่หากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อไม่ดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท

ขณะที่ นายมงคล บางประภา เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุว่า การให้ 2 ปลัดกระทรวงเป็นกรรมการสภาวิชาชีพสื่อฯ และมีหน้าที่ออกใบอนุญาต อาจส่งผลต่อเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อ โดยเฉพาะการตรวสอบฝ่ายบริหาร สิ่งที่สื่อต้องการคือการตรวจสอบดูแลกันเอง มากกว่าการกำหนดกฎหมายพิเศษขึ้นมาควบคุม

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่ขอตอบว่าเห็นด้วยกับร่างนี้หรือไม่ เพราะยังไม่เห็นรายละเอียดทั้งหมด แต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาสื่อไม่สามารถดูแลกันเองได้สื่อต้องร่วมหาทางออกเรื่องนี้

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ผู้ผลักดันกฎหมายนี้ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมต้องมีการออกใบอนุญาตสื่อฯ แม้ส่วนตัวจะมองว่า ไม่ใช่เรื่องการครอบงำสื่อก็ตาม เพราะแม้จะมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพก็ไม่ได้มีการตรวจสอบอาชีพนั้นโดยตลอด รัฐธรรมนูญจึงเขียนว่าถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรมีใบอนุญาต แต่ไม่ขอตอบว่าสื่อมวลชนควรมีใบอนุญาตหรือไม่

นายมีชัย ระบุอีกว่า หากสื่อมวลชนไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ก็ควรรวมตัวกันเพื่อชี้แจงถึงเหตุผลว่าทำไมไม่ควรมีใบอนุญาต ส่วนองค์ประกอบในสภาวิชาชีพ แม้จะมีสัดส่วนจากภาครัฐ 2 คน แต่ก็เป็นเสียงข้องน้อยไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลสำหรับสื่อมวลชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง