พิชิตความเครียด "คงศักดิ์ นิมิตรเกษม" พ่อที่ต้องเลี้ยงลูกพิการ

สังคม
28 เม.ย. 60
12:56
7,645
Logo Thai PBS
พิชิตความเครียด "คงศักดิ์ นิมิตรเกษม" พ่อที่ต้องเลี้ยงลูกพิการ
เปิดใจพ่อชาวอุดรธานี ดูแลลูกชาย "น้องอิคคิว" วัย 9 ปีที่ป่วยติดเตียงมานานกว่า 4 ปี เขาเคยเครียดจนเกือบรับปัญหาไม่ไหว แต่สุดท้ายสามารถผ่านช่วงเวลาวิกฤตมาได้ ด้วยการปรับทัศนคติตัวเองว่าเป็นอีกหน้าที่ของคำว่า "พ่อ"

ทีมข่าวไทยพีบีเอส สำรวจวิธีจัดการความเครียดของครอบครัวที่ต้องดูแลลูกที่พิการ โดยเฉพาะการที่พ่อหรือแม่ต้องลาออกจากงานมาเลี้ยงดูลูกที่พิการ อาจต้องเผชิญกับภาวะความเครียดและความกดดันจนอาจนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงได้ ไม่เว้นแม้แต่ครอบครัวของน้องอิคคิวที่คนในโซเชียลรู้จักกันดี

เกือบ 4 ปี ที่นายคงศักดิ์ นิมิตรเกษม ชาวจังหวัดอุดรธานี ต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแลลูกชายวัย 9 ปี ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เนื่องจากอาหารติดคอจนทำให้หยุดหายใจ แม้หมอจะปั๊มหัวใจให้ฟื้นมาได้แต่ก็ต้องกลายเป็นเจ้าชายนิทรา


คงศักดิ์ ต้องดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ทั้งป้อนยา อาหาร และน้ำดื่ม รวมทั้งดูแลไม่ให้เสมหะติดคอ และคอยบีบนวดพลิกตัวไม่ให้เกิดแผลกดทับ และสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องคอยพูดคุยกับลูกอย่างอารมณ์ดี แต่กว่าจะทำได้อย่างทุกวันนี้ เขายอมรับว่าต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดันจากการปรับตัวในช่วงปีแรก

 

 

“ต้องเข้าใจว่าคนที่ใช้ชีวิตปกติและต้องมาดูแลคนป่วยระยะเวลานานๆ จะมีความเครียดสะสม จะมีอารมณ์ดีใจ โมโห เสียใจ และวันหนึ่งถ้าร่างกายไม่ไหว ไม่ได้นอนมาหลายคืน พอลูกหลับเราจะน็อค แต่ผมถามตัวเองว่าทำไมลูกสุขภาพไม่ดีขึ้น ป๊าผิดตรงไหนทำไมลูกยังไม่ดีขึ้น ” คงศักดิ์ เล่าประสบการณ์ 

การที่พ่อหรือแม่ต้องลาออกจากงานมาเลี้ยงดูลูกที่พิการเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับหลายครอบครัว คงศักดิ์มองว่านี่ไม่ใช่ความโชคร้ายของเขาหรือความผิดของลูก แต่เป็นความรับผิดชอบของพ่อแม่ที่ต้องเรียนรู้วิธีการดูแลลูกแบบใหม่ โดยสังเกตจากการตอบรับของลูก เมื่อเขามีสภาพจิตใจที่ดี สุขภาพร่างกายก็จะดีตามไปด้วย

"ไม่ใช่ความผิดของน้อง แต่เราต้องปรับปรุงตัวเองให้ได้ แทนที่จะรู้สึกเสียใจเราก็ปรับใหม่ หลังจาก 1 ปีที่คิดว่าอะไรมืด ปรับที่ตัวเอง มีรอยยิ้ม มองมุมเล็กๆ คิดว่าถึงน้องเขาป่วย แต่ไม่หายไปไหน แต่ก่อนหอมกันแค่วันละไม่กี่รอบ แต่ตอนนี้อยู่กับน้องตลอด หอมเขาได้วันละพันครั้งก็ได้" คงศักดิ์ บอก

ประสบการณ์เลี้ยงดูลูกที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มาเกือบ 4 ปี ทำให้คงศักดิ์กลายเป็นที่ปรึกษาของผู้ปกครองซึ่งต้องเลี้ยงดูลูกที่พิการ โดยเขาจะเน้นย้ำกับพ่อแม่คนอื่นๆ เสมอว่า การดูแลเด็กที่ดี ต้องเริ่มต้นจากความรักของคนในครอบครัว และผู้ที่เลี้ยงดูเด็กเองก็ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ให้มีกำลังใจเพื่อจัดการกับความเครียด มองปัญหาในมุมบวก จึงสามารถแก้ไขได้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการใช้ความรุนแรง ซึ่งส่งผลเสียกับทั้งตัวเด็กเองและทุกคนในครอบครัว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง