รณรงค์ค้านร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อ

การเมือง
29 เม.ย. 60
16:51
263
Logo Thai PBS
รณรงค์ค้านร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อ
ฮิวแมนไรท์วอตช์ภูมิภาคเอเชีย ออกแถลงการณ์ร่วมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ขณะที่ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ชี้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ เสมือนโซ่ตรวนผูกมัดสื่อมวลชนให้เกิดความกลัวและขาดอิสระในการทำหน้าที่

วันนี้ (29 เม.ย.2560) ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ได้ตั้งวงล้อมหารือและร่างแถลงการณ์สื่อมวลชนประจำรัฐสภา เพื่อเตรียมออกแถลงการณ์คัดค้างร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ในวันพรุ่งนี้ โดยสาระสำคัญคือการเรียกร้องให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกจากวาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 1 พ.ค.นี้ และขอให้ทบทวนเนื้อหาให้รอบด้าน พร้อมกับการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว จะส่งผลให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ รวมไปถึงบุคคลที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ต้องตกอยู่ในสภาวะที่ถูกกำกับควบคุมและมิอาจใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างสมบูรณ์

ขณะที่นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอตช์ภูมิภาคเอเชีย ลงนามบทความ-แถลงการณ์ร่วมคัดค้างร่างกฎหมาย โดยชี้ว่าเนื้อหาสาระเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพและควบคุมสื่อมวลชน โดยเฉพาะการกำหนดให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล เพื่อร่วมกำกับดูแลควบคุมสื่อทุกแขนง รวมถึงการกำหนดโทษที่รุนแรง จึงสร้างความกังวลต่อสื่อมวลชนและน่าจะส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ จึงเห็นควรให้รัฐบาลสั่งถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ทันที

ตลอดทั้งวันนี้ มีผู้สื่อข่าวต่างแขนง ต่างสำนัก ร่วมกันรณรงค์คัดค้านร่างกฎหมายผ่านสังคมออนไลน์ โดยใช้ถ้อยแถลงเดียวกัน คือหยุดตีทะเบียนสื่อ-ครอบงำประชาชน ขณะที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ เปิดรณรงค์ร่วมเข้าชื่อคัดค้านร่างกฎหมาย ผ่าน www.change.org "ยุติการพิจารณาออกฎหมายตีทะเบียนสื่อ-ครอบงำประชาชน" พร้อมข้อความชี้แจงเนื้อหาสาระ ที่ตั้งข้อสงสัย ทั้งกรณีการนิยามคำว่าสื่อมวลชน การขึ้นทะเบียนและจดแจ้งใบอนุญาต การตั้งโทษผู้ฝ่าฝืนทั้งจำคุกและปรับ

อย่างไรก็ตาม สปท. ยังคงกำหนดการการประชุมพิจารณาร่างกฎหมายในวันที่ 1 พ.ค.นี้ โดยร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน จะพิจารณาควบคู่ไปกับร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ และมีผลการศึกษาและข้อเสนอแนะด้านยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ประกอบการพิจารณาร่างกฎหมาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง