วิเคราะห์ความเสี่ยง "น้ำท่วม" ปี 2560

ภัยพิบัติ
19 พ.ค. 60
11:25
12,046
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ความเสี่ยง "น้ำท่วม" ปี 2560
นักวิชาการด้านภัยพิบัติ คาดการณ์ปริมาณฝนปีนี้มากกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะช่วงพ.ค.-มิ.ย.นี้ ขณะที่กรมชลประทาน มั่นใจเขื่อนขนาดใหญ่ ยังรองรับปริมาณน้ำได้มาก เชื่อปัญหาน้ำหลาก น้ำท่วมไม่รุนแรงเทียบปี 2554

วันนี้ (19 พ.ค.2560) กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ว่าภาคเหนือ และภาคกลาง จะมีฝนลดน้อยลง แต่ภาคอีสานโดยเฉพาะตอนบนของภาคและภาคตะวันออก โดยเฉพาะชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ยังจะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง จึงยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมขังต่อไปอีกระยะในหลายพื้นที่

นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค และผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติ กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำฝนที่ตกในประเทศไทย มีมากพอๆ กับปริมาณน้ำฝนที่ตกในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2554 จึงทำให้เกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น พื้น ที่เมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดที่ผ่านมาก็เกิดจากฝนตกหนักตลอดทั้งคืน จนทำให้เมืองระบายน้ำไม่ทัน แต่ระดับแม่น้ำปิงยังอยู่ในภาวะปกติ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ ยังคงเกิดขึ้นได้กับหลายพื้นที่ตลอดฤดูฝน

แต่การคาดการณ์ของศูนย์ภูมิอากาศเอเปค แสดงให้เห็นว่า ตลอดเดือนพ.ค.นี้จะมีฝนชุกเกือบทุกภาคของประเทศไทย และบางพื้นที่จะมากกว่าค่าเฉลี่ยต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิ.ย. ที่ยังคงมีฝนมากเดือนก.ค.ฝนจะเบาบางลง ส่วนเดือนส.ค-ก.ย.นี้ยังคงมีฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ย และฝนจะเริ่มเบาบางลงในเดือนต.ค. ซึ่งแตกต่างจากปี 2554 ที่มีฝนตกหนักมากเกือบตลอดทั้งปี จึงเชื่อว่าน้ำท่วมในปีนี้จะยังไม่รุนแรงเท่ากับปี 2554

ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า ต้นทุนน้ำในเขื่อนใหญ่ปีนี้มีมากกว่าปีที่แล้ว จะเห็นได้ว่าต้นปี 2559 น้ำในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีเพียง 3,018 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปีนี้มีมากถึง 7,674 ล้านลูกบาศก์เมตร และแม้ขณะนี้ จะมีฝนตกหนักในภาคเหนือหลายพื้นที่ แต่พื้นที่รองรับน้ำหลากในเขื่อนใหญ่ ก็ยังคงสามารถรับน้ำได้มากกว่าครึ่งเขื่อน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมภาคกลางในปีนี้ลงไปได้

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้ปรับเปลี่ยนการส่งน้ำเพื่อการเกษตร โดยสนับสนุนให้ชาวนาในพื้นที่ลุ่มทั้งหมดเร่งปลูกข้าวหนีน้ำท่วมทั้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่างและเร่งเก็บเกี่ยวให้ทันเวลาเพื่อปล่อยให้ผืนนาเป็นแก้มลิงรับน้ำท่วมในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางปีนี้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง