ไต้หวัน "ลดเค็ม ลดหวาน งดของแถม" เพื่อให้ทุกคนสุขภาพดี

ต่างประเทศ
22 พ.ค. 60
15:50
631
Logo Thai PBS
ไต้หวัน "ลดเค็ม ลดหวาน งดของแถม" เพื่อให้ทุกคนสุขภาพดี
ไต้หวันเป็นจุดหมายหนึ่งที่นักชิมทั่วโลก มุ่งหน้าไปลิ้มรสชาติอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่หวานและเค็ม จัดส่งผลดีต่อสุขภาพผู้บริโภค ทำให้จำนวนคนที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนลดน้อยลงเรื่อยๆ

ไต้หวันเป็นสวรรค์ของนักชิม วัฒนธรรมการกินผสมผสานรสชาติอาหารญี่ปุ่นที่เคยปกครองและอาหารของชาวจีนแคะ หรือ ฮากกา จนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของไต้หวัน ความเลื่องชื่อของอาหารไต้หวัน นอกจากใช้วัตถุดิบสดใหม่และความละเมียดละไมในการปรุงแล้ว ยังดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคด้วย เพราะรสชาติกลมกล่อมไม่หวานและเค็มจนเกินไป

ก่อนหน้าที่รัฐบาลรณรงค์ให้ลดปริมาณน้ำตาลและเกลือในอาหาร ชาวไต้หวันนิยมรับประทานอาหารที่มีรสหวานและเค็ม ส่งผลให้เป็นโรคอ้วนและน้ำหนักเกิน เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง รวมทั้งโรคเรื้อรังต่างๆ แต่หลังจากส่งเสริมให้ประชาชนปฏิบัติตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก ถึงการบริโภคน้ำตาลในผู้ใหญ่และเด็ก ปี 2558 ที่ระบุว่าควรบริโภคน้ำตาลน้อยกว่าร้อยละ 10 ของพลังงานที่ได้รับในแต่ละวัน ปรากฎว่าได้รับความร่วมมือจากประชาชนและร้านอาหารเป็นอย่างดี

 

อาหารและเครื่องดื่มที่ขายในไต้หวันและนำเข้า จะต้องติดฉลากโภชนาการตามระเบียบของรัฐบาล โดยเริ่มติดฉลากระบุปริมาณเกลือ ตั้งแต่ปี 2545 และเพิ่มข้อมูลปริมาณน้ำตาลในฉลากเมื่อปี 2558

ทั้งนี้ ร้านกาแฟที่ไต้หวันจะมีการควบคุมปริมาณน้ำตาลเช่นเดียวกับร้านอาหารทั่วไป ถ้าสั่งกาแฟ 1 แก้ว จะมีเมนูบอกว่ามีปริมาณคาเฟอีนเท่าไหร่ ปริมาณน้ำตาลเท่าไหร่ และให้พลังงานกี่แคลลอรี่

ส่วนเด็กๆ จะได้รับความรู้ให้เลือกรับประทานอาหาร และโรงเรียนจะต้องปฏิบัติตามระบียบของกระทรวงสาธารณสุข ที่ห้ามไม่ให้ขายอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพในระยะยาว

หลิน ลี่-หลู อธิบดีกองสาธารณสุขชุมชน สำนักส่งเสริมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ ระบุว่าเด็กประถมและมัธยมต้นในไต้หวัน เป็นโรคอ้วนและน้ำหนักเกินร้อยละ15 ซึ่งจำนวนเด็กกลุ่มนี้กำลังลดลงเรื่อยๆ

“ร้านค้าในโรงเรียน ห้ามขายน้ำอัดลม ทั้งโรงเรียนประถมและมัธยม เด็กๆจะเลือกรับประทานเครื่องดื่มสุขภาพ เช่น นม และโยเกิร์ตน้ำตาลน้อย” หลิน ลี่-หลู กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ส่งเสริมให้เด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี ให้รู้จักรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากกว่าอาหารฟาสต์ฟู้ดซึ่งมักจูงใจเด็กๆ ด้วยของแถม  

 

สวี่ ฉาว-ข่าย รองอธิบดีกองความปลอดภัยอาหาร สำนักอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข บอกว่าหลายปีก่อน ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดขายอาหารชุดให้เด็กๆ โดยใช้ของแถมเป็นเครื่องล่อใจ

ตั้งแต่ปี 2559 เริ่มออกกฎระเบียบไม่ให้โฆษณาอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีของเล่นเป็นของแถมมากับชุดแฮปปี้ มีล ดังนั้นร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดจึงเปลี่ยนกลยุทธการตลาดมาเป็นชุดอาหารสุขภาพสำหรับเด็กๆ แทน

อย่างไรก็ตาม อาหารที่อุดมไปด้วยแป้งและเนื้อสัตว์ก็เปลี่ยนเป็นสลัด ส่วนของแถมก็เปลี่ยนจากของเล่นมาเป็นหนังสือ ทำให้ผู้ปกครองมีความสุขมากขึ้นและเด็กๆ มีสุขภาพดีขึ้น

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง