“แพทย์” ขอแยกคุมบริหารบุคลากรสาธารณสุขออกจาก กพ.

สังคม
23 พ.ค. 60
14:59
1,065
Logo Thai PBS
“แพทย์” ขอแยกคุมบริหารบุคลากรสาธารณสุขออกจาก กพ.
“แพทย์-บุคลากรสาธารณสุข” เรียกร้องปฏิรูประบบสาธารณสุข-หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ลดภาระแพทย์ทำงานหนัก เสนอตั้งกองทุนทดแทนให้บุคลากรที่เจ็บป่วย-เสียชีวิตจากการทำงาน

วันนี้ ( 23 พ.ค.2560 ) พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา เปิดเผยว่า ปัญหาภาระงานของแพทย์ พยาบาล ทำงานหนักมีมานาน โดยสัดส่วนของแพทย์ทำงานจริงมีไม่ถึงครึ่งเพราะส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารและอีกส่วนหนึ่งเป็นแพทย์ที่ต้องศึกษาต่อ ทำให้เหลือบุคลากรทำงานน้อยมาก แพทย์โรงพยาบาลชุมชน หรือ โรงพยาบาลศูนย์ ต้องทำงานหนักมากถึง 80-120 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ แบกรับภาระงานดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะรับรู้และเข้าใจปัญหา แต่ยังติดอยู่กับอัตรากำลังของสำนักงานคณะกรรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ไม่สามารถที่จะเพิ่มอัตราข้าราชการได้ เนื่องจากติดเรื่องงบประมาณที่อยู่ภายใต้การดูแลของ สปสช.ที่ได้รับงบประมาณจริงจากค่ารักษาพยาบาลเพียงร้อยละ 50-70 ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และยังติดกับดักมาตรฐานการรักษา ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน และแพทย์ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกการรักษาที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วยของตัวเอง

พญ.เชิดชู กล่าวว่า ประชาชนมีอิสระเสรีภาพมากในการไปโรงพยาบาล บางส่วนเข้าไปเรียกร้องสิทธิ์เกินความจำเป็น ทำให้โรงพยาบาลต้องสูญเสียงบประมาณส่วนนี้ไป ซึ่งปัจจุบันมีผู้มีสิทธิในบัตร 30 บาท อยู่ราว 48 ล้านคน กว่า 20 ล้านคนไม่ไปใช้สิทธิ เพราะไม่เชื่อมั่นมาตรฐานการรักษา แต่งบประมาณก็ยังไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ เรียกร้องให้ปฏิรูประบบการให้บริการสาธาณะด้านสาธารณสุข และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้มีเงินใช้ในระบบอย่างเพียงพอ โดยสามารถที่จะรักษาได้ตามมาตรฐาน เพื่อรักษาคุณภาพการรักษาให้ก้าวหน้าไปย่างต่อเนื่อง รวมทั้งออกกฎหมายการทำงานและเวลาการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขให้เท่าเทียมกับการทำงานในวิชาชีพอื่น

นอกจากนี้ ควรมีการจัดตั้งกองทุนทดแทนให้บุคลากรที่ทำงานแล้วได้รับผลกระทบจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำงานที่ชัดเจนไม่แตกต่างจากประกันสังคม

การปฎิรูปประเทศให้ไปถึง 4.0 โครงสร้างพื้นฐานต้องทั่วถึงทุกตำบล อำเภอ หมู่บ้าน ไม่ใช่มีเพียงแค่โรงพยาบาลอำเภอ แล้วมีแค่หมอ 1 คน ที่ต้องรับมือกับคนไข้ตลอด 24 ชั่วโมง หมอก็เป็นมนุษย์ พยาบาลก็เป็นมนุษย์ ต้องการเวลาพักผ่อน ต้องการมีชีวิตที่มีคุณภาพ” พญ.เชิดชู

ขณะที่ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล นายกสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามหลักการหากผู้ใดประสบอันตรายจากการทำงาน จะต้องได้รับค่าทดแทน ไม่ใช่ค่าตอบแทน ซึ่งประเทศไทยมีกองทุนเงินทดแทนเฉพาะแรงงานที่ทำงานอยู่ในโรงงาน หรืออยู่ในภาคเอกชนเท่านั้น ขณะที่บุคลากรอย่างแพทย์ พยาบาล กลับไม่ได้รับการดูแลในเรื่องงบประมาณและกฎหมายจากทุกรัฐบาลที่ผ่านมา

ทั้งนี้ พญ.อรพรรณ์ เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดการทำงานของแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้มีมาตรฐานเดียวกับ พ.ร.บ.แรงงานและตามเกณฑ์ขั้นต่ำขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โดยกำหนดภาระงานให้เหมาะสมกับการทำงานของบุคคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลชีวิตผู้ป่วย โดยให้มีระบบบริหารบุคคลเฉพาะ พร้อมตั้งคณะกรรมการข้าราชการและบุคลากรสาธารณสุข (ก.สธ.) แยกการบริหารบุคคลออกจาก กพ.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง