สนทนากับ "ดุลยภาค ปรีชารัชช" ว่าด้วย เศรษฐกิจเมียนมาในรอบ 1 ปีกว่าๆ ของรัฐบาลออง ซาน ซู จี

ต่างประเทศ
3 มิ.ย. 60
15:26
4,430
Logo Thai PBS
สนทนากับ "ดุลยภาค ปรีชารัชช" ว่าด้วย เศรษฐกิจเมียนมาในรอบ 1 ปีกว่าๆ ของรัฐบาลออง ซาน ซู จี
ในความเห็นของนักวิชาการที่เกาะติดสถานการณ์เมียนมา ที่นียังคงเป็นสมรภูมิสุดท้ายทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ แต่ยังมีความเปราะบาง ทั้งปัญหาทางการเมือง ความสามารถของรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ตลอดจน "Xenophobia" หรือความรู้สึกหวาดกลัวคนต่างชาติที่ฝังลึกอยู่ในสังคมเมียนมา

เมียนมาได้ชื่อว่าเป็น "สมรภูมิสุดท้ายทางเศรษฐกิจของเอเชีย" เนื่องจากก่อนหน้านี้ยังไม่ได้เปิดประเทศเต็มที่และยังมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายปี 2558 ที่ทำให้ได้รัฐบาลพลเรือนของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศครบรอบ 1 ปี ไปเมื่อเดือนมีนาคม 2559 สมรภูมิสุดท้ายแห่งนี้เปลี่ยนไปอย่างไร ผลงานของรัฐบาลของนางออง ซาน ซู จี น่าพอใจหรือไม่ในสายตาของนักวิชาการที่เกาะติดสถานการณ์เมียนมาอย่างใกล้ชิด

ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศเมียนมาและอยู่ระหว่างการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องรัฐธรรมนูญของเมียนมาให้สัมภาษณ์พิเศษรายการ มีนัดกับณัฏฐา ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2560 ประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจและการเมืองของรัฐบาล NLD ในรอบ 1 ปีกว่าๆ ที่เข้ามาบริหารประเทศว่า เมียนมายังคงเป็นสมรภูมิสุดท้ายทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ แต่ยังมีความเปราะบาง ทั้งปัญหาทางการเมือง การจัดสรรทรัพยากร และความสามารถของรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ

เคยพูดกันว่าเมียนมาเป็น "สมรภูมิสุดท้านทางเศรษฐกิจของเอเชีย" หนึ่งปีผ่านไปหลังจากรัฐบาลของพรรค NLD เข้ามาบริหารประเทศ อาจารย์ยังมองว่าเป็นเมียนมาเป็นสมรภูมิสุดท้ายทางเศรษฐกิจที่ดึงดูดนักลงทุนอยู่หรือไม่

เมียนมายังเป็นสมรภูมิสุดท้ายที่น่าสนใจแต่มีความเปราะบางปรากฏอยู่เป็นระยะ เมียนมาตั้งอยู่ในทำเลทองที่เป็นจุดสมดุลทางภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียที่โดดเด่นที่สุดแล้ว เมียนมาตั้งอยู่ในจุดที่เชื่อมระหว่างชมพูทวีป เอเชียตะวันออก กับอุษาคเนย์ ยังไม่นับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากมายมหาศาล เมียนมาจึงเป็น The Last Frontier ที่สำคัญ แต่เมียนมาก็มีปัญหาทางการเมืองและการจัดสรรทรัพยากรเพื่อรองรับนักลงทุนที่เปราะบาง เหมือนกับว่าเป็นตัวทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมาหยุดชะงักเป็นระยะๆ ด้วยซ้ำ

ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร เป็นปัญหาที่คลาสสิกมาสำหรับเมียนมา โดยเฉพาะในบริเวณชายแดนและเขตภูเขาที่เต็มไปด้วยกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งยังไม่มีการแบ่งอาณาเขตหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและทรัพยากรอย่างชัดเจน เมียนมาจึงยังอยู่ในกระบวนการทำให้เป็นอธิปไตย เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ นักลงทุนที่จะเข้าไปในเมียนมา ก็ต้องคิดสูตรการจัดสรรทรัพยากรไปสู่กลุ่มต่างๆ เช่น กองกำลังติดอาวุธ รัฐบาลเมียนมา และกองทัพเมียนมา

ประเมินผลงานของรัฐบาล NLD อย่างไร

เราต้องเข้าใจเงื่อนไขการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาล NLD ก่อนว่า ชัยชนะในการเลือกตั้งที่ยิ่งใหญ่ของนางออง ซาน ซู จี อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2008 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการอำนาจนิยมหรือกึ่งประชาธิปไตย ทำให้ผู้ชนะในสมรภูมิการเลือกตั้งต้องเข้าไปเจรจาต่อรองกับผู้มีอำนาจในระบอบเก่า นั่นก็คือ ทั้งชนชั้นนำในรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และกองทัพเมียนมา นี่คือสัมพันธภาพที่จะเกิดขึ้นใหม่ ภายใต้การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากเต็ง เส่ง ไปสู่รัฐบาลของประธานาธิบดี ติน จ่อ-ออง ซาน ซู จี แต่ตอนนี้มีสัญญาณที่น่าจับตามอง คือ สัมพันธภาพระหว่างคู่ปฏิปักษ์เก่า คือ สัมพันธภาพระหว่าง ซู จี กับ กองทัพเมียนมา กล่าวคือ ถึงแม้ว่า สส.ของ NLD จะเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภา ที่เหลือเป็นคนของกองทัพอยู่ 25 เปอร์เซนต์ แต่ก็มีอะไรหลายๆ อย่างที่ทำให้คนของกองทัพคานอำนาจในประเด็นสำคัญๆ ได้ เช่น ไม่ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญที่กระทบกับโครงสร้างมากจนเกินไป แต่ถึงอย่างนั้นก็ทำให้ สส.จากการเลือกตั้ง และตัวแทนของกองทัพในสภาได้แลกเปลี่ยน เจรจา และเรียนรู้กันมากขึ้น นี่คือสัญญาณที่ดีในระดับหนึ่ง

ส่วนผลงานทางการเมือง หากประเมินทางรัฐศาสตร์ มีความท้าทายที่น่าจับตามอง คือ
1.สัมพันธภาพระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพและระบอบเก่า ซึ่งยังคงมีความขัดแย้ง แต่ก็มีพัฒนาการพอสมควร
2.เรื่อง state machine หรือกลไกของความเป็นรัฐ สิ่งที่รัฐบาลของนางซู จี ต้องเรียนรู้คือ บุคคลในรัฐบาลมาจากฝ่ายค้านหรือนักต่อสู้ทางการเมืองที่ไม่เคยบริหารประเทศมาก่อน พอเข้ามาทำงานก็อาจทำให้การบริหารงานมีปัญหา เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนการคลัง และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถูกตั้งคำถามเรื่องคุณสมบัติและความสามารถทั้งสิ้น
3.Peace process รัฐบาล NLD บอกว่ากระบวนการสันติภาพเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ต้องทำให้ลงตัวก่อนถึงได้มีสนธิสัญญาปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 แต่กระนั้นก็ดี ด้วยการที่การเจรจาสันติภาพมีกลไกหลากหลายและละเอียดอ่อนมาก รัฐบาล NLD ก็ใช้เวลานานพอสมควรในการเรียนรู้กลไกต่างๆ ตอนนี้ก็มีปัญหาเพราะยังมีปัญหาการสู้รบอยู่ประปราย รวมทั้งปัญหาที่ซู จี เผชิญ คือเรื่องโรฮิงญา ทำให้ซูจีต้องหาทางแก้เกม
4.เรื่องเศรษฐกิจ ผมคิดว่ารัฐบาลนี้ความเฉื่อยชาในการปฏิรูปทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับรัฐบาลเต็ง เส่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเทคโนแครตที่รัฐบาล NLD ดึงมาทำงานอาจจะไม่ใช่มืออาชีพ สัดส่วนคนที่เป็นมืออาชีพในรัฐบาลยังมีน้อย ส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์ด้านการบริหาร บางคนเป็นนักต่อสู้ทางการเมืองมาก่อน เป็นจุดบอดอย่างหนึ่ง 

ช่วยวิเคราะห์อนาคตเศรษฐกิจเมียนมาในวาระที่เหลือของรัฐบาลชุดปัจจุบัน 

ด้วยศักยภาพทางทรัพยาการและภูมิรัฐศาสตร์ของเมียนมา ถึงอย่างไรเมียนมาก็ยังมีพลังอยู่ในการทำให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนหลากหลายรูปแบบ รัฐบาลซู จีก็สามารถประคับประคองสถานการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจตรงนี้ได้ เพียงแต่อาจจะไม่หวือหวา ไม่เปรี้ยงปร้างเหมือนรัฐบาลชุดก่อน สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ 12 ข้อที่รัฐบาลเมียนมาออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ซึ่งมีใจความสำคัญคือ
1.นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล NLD มักจะใส่เรื่องธรรมาภิบาลเข้าไปด้วย กฎระเบียบการลงทุนต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องใช้เวลาในการขับเคลื่อนยาวนานหน่อย ทำให้ความเร็วในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจช้าลง
2.รัฐบาลมีชุดนโยบายทางเศรษฐกิจที่เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทางและเขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งหลายอย่างลอกโมเดลมาจากรัฐบาลเต็ง เส่ง ซึ่งก็ใช้โมเดลมาจากรัฐบาลทหารอีกทีหนึ่งที่มักจะชอบสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สร้างถนน สร้างเมืองใหม่ และรัฐบาลซูจีก็รับตรงนี้มาไว้ด้วย
3.รัฐบาลซู จีให้ความสำคัญกับภาคประชาสังคม ซึ่งเมื่อพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจก็ต้องพูดถึงการพัฒนาสังคมควบคู่กันไปด้วย เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น ตรงนี้เมื่อนักลงทุนต่างชาติเข้ามาจะลงทุนแบบเดิมๆ ที่เคยทำไม่ได้อีกแล้ว แต่ต้องคิดใหม่แล้ว

การบรรจุเรื่องความโปร่งใสหรือธรรมาภิบาลไว้ในนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่ไม่ทันใจนักลงทุน

ถูกครับ จริงๆ แล้วรัฐบาลเต็ง เส่งก็พูดเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ไม่ได้เป็นวาระที่รัฐจะต้องเข้าไปควบคุมมากเหมือนรัฐบาล NLD สมัยรัฐบาลเต็ง เส่ง การลงทุนจึงมีความคล่องตัว รวดเร็ว และอลุ้มอล่วยมากกว่า แต่ต้องเข้าใจว่าในช่วงรัฐบาลเต็ง เส่ง เป็นการเปิดประเทศหลังจากเป็นเผด็จการมานานนับ 10 ปี จึงเย้ายวนให้นักลงทุนมาลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจจึงเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก แต่เมื่อมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันก็อาจจะมีความเฉื่อยมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลใหม่เข้ามาภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2008 จึงต้องมีการประสานประโยชน์ เจรจาต่อรอง ทำให้เราเห็น "ความหนืด" ของรัฐบาล NLD

นักลงทุนไทยควรตัดสินใจอย่างไรต่อการเข้าไปลงทุนในเมียนมาตอนนี้

ผมคิดว่าเราต้องเข้าไป เพราะถ้าไม่เข้าไปก็เสียโอกาส เพราะคนอื่นจะเข้าไป และเราเป็นรัฐเพื่อนบ้านที่ติดกับเมียนมา รัฐบาลก็ต้องการขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจมาทางบ้านเรา เมียนมากับไทยต้องไปด้วยกัน แต่สิ่งสำคัญก็คือ ขณะที่ทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดกัน แต่ประเทศอื่นๆ ที่กระโดดเข้ามา กลับอุดช่องว่างระหว่างประเทศเขากับเมียนมาได้โดยทุ่มเม็ดเงินเข้ามากขึ้นพร้อมกับสร้าง know-how ที่มีคุณภาพสูงมาก อย่างเช่น ญี่ปุ่นที่ให้ความรู้ทางเทคโนโลยีกับเมียนมา แต่สิ่งหนึ่งที่ไทยจะมีบทบาทได้ก็คือ การสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีปัญหากับรัฐบาลเมียนมาส่วนใหญ่อยู่บริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมา และเอาเข้าจริงแล้วในเรื่องการลงทุน ถ้าไทยไม่ขยับ เมียนมาก็ไม่ง้อ เพราะเมื่อเมียนมาเปิดประเทศขึ้นมาอย่างรวดเร็วในระบอบเสรีนิยมโลกาภิวัฒน์ ก็มีความเนื้อหอม ทุกคนก็เข้ามาลงทุนในเมียนมาหมด ทั้งเกาหลี สิงคโปร์ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี ฯลฯ

ถ้ามองจากมุมของชาวเมียนมา การที่ต่างชาติแห่เข้าไปลงทุน ส่งผลกระทบต่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจของเมียนมาอย่างไร

ขณะนี้มีกระแสชาตินิยมทรัพยากรเกิดขึ้นในบางส่วนของรัฐบาล NLD และภาคประชาสังคมเมียนมาบางส่วน ซึ่งผมคิดว่าต้องระวังให้ดีทีเดียว เช่น การต่อต้านการทำเหมืองทองแดง หรือการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำอิระวดี หากนักลงทุนไม่เข้าใจพลังชาตินิยมตัวนี้ก็อาจจะส่งผลต่อการทำธุรกิจในเมียนมา นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังในการเข้าไปลงทุนในเมียนมา อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจก็คือ มิติการพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมามี 2 สิ่งที่ซ้อนทับกันอยู่คือ 1.เมียนมามีความใฝ่ฝันที่จะเป็นหมายเลขหนึ่งในหลายมิติของเอเชีย 2.เมียนมามีความหวาดระแวงต่างชาติ (Xenophobia) อยู่ในกลุ่มผู้นำของเมียนมา ซึ่งเป็นผลมาจากความรู้สึกในอดีตที่ว่าเจ้าอาณานิคมก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรในประเทศ ทำให้เมียนมาตกเป็นทาสของต่างชาติในหลายมิติ นี่คือความเปราะบางที่ลึกมากของเมียนมา คือ เขามองว่าเพื่อนบ้านหรือต่างชาติจะแอบเข้ามาฮุบทรัพยากรที่สมบูรณ์ของเมียนมาถ้าเมียนมาเผลอหรือไม่มีการจัดการที่ดี เมื่อ 2 ภาพนี้มาซ้อนทับกัน คือ มีทั้งความฝันที่อยากให้เมียนมาก้าวหน้า แต่ขณะเดียวกันก็มีความหวาดระแวง การเข้าไปลงทุนก็ต้องคิดถึง 2 ภาพนี้ด้วย

กุลธิดา สามะพุทธิ: สัมภาษณ์และเรียบเรียง

ชมย้อนหลังรายการมีนัดกับณัฏฐา - นัดนี้ที่เมียนมา: จับชีพจรเศรษฐกิจยุคเปลี่ยนผ่าน (2 มิ.ย.2560)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง