ผู้เสียหาย "ทรูฟิตเนส" ร้อง ปปง. ตรวจสอบเส้นทางเงิน "กลุ่มทรูปรุ๊ป"

สังคม
16 มิ.ย. 60
20:12
493
Logo Thai PBS
ผู้เสียหาย "ทรูฟิตเนส" ร้อง ปปง. ตรวจสอบเส้นทางเงิน "กลุ่มทรูปรุ๊ป"
กลุ่มผู้เสียหายทรูฟิตเนส ทรูสปา และทรูเอส ร้อง ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงิน กลุ่มทรูกรุ๊ป หวั่นซ้ำรอย แคลิฟอร์เนีย ว้าว

วันนี้ (16 มิ.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้เสียหายจากการใช้บริการของบริษัท ทรูฟิตเนส จำกัด บริษัท ทรูสปา จำกัด และ ทรูเอสคลินิกเวชกรรม จำนวน 30 คน พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินบริษัทในกลุ่มทรูกรุ๊ป ต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

ร.ต.อ.ไพรัตน์ เทศพาณิช เลขานุการกรม เป็นผู้แทนรับหนังสือร้องเรียน กล่าวว่า จะดำเนินการตรวจสอบหากพบว่าบริษัททรูฟิตเนสและบริษัทที่เกี่ยวข้องกระทำความผิดก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

น.ส.ประภารัตน์ พิริยะอนันตกุล แกนนำผู้เสียหายกล่าวว่า ผู้เสียหายที่มายื่นเรื่องนั้นมีทั้งรับบริการออกกำลังกายและบริการสปา ได้จ่ายค่าสมาชิกล่วงหน้าไปแล้วมูลค่าความเสียหายกว่า 20 ล้านบาท

“อยากให้ ปปง.ตรวจสอบการเงินและหากมีทรัพย์สินที่จะสามารถอายัดไว้ก่อน อยากให้มีการดำเนินการอายัดและชดใช้ให้กับสมาชิกที่เสียหายก่อนบางส่วน เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้กับผู้เสียหายในกลุ่ม” น.ส.ประภารัตน์ กล่าว

ด้าน น.ส.นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การนำผู้เสียหายเข้ายื่นหนังสือที่ ปปง.วันนี้เพราะกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกรณีบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากทราบว่ากรรมการบางท่านที่อยู่ในทรูฟิตเนส เคยเป็นหนึ่งในกรรมการบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน)

“มีผู้บริโภคเข้าร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจำนวน 72 ราย มูลค่าความเสียหาย 3 ล้านบาท หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีบทบาทตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินของบริษัทฯ เพื่อผู้บริโภคจะได้ทราบว่าเงินค่าสมาชิกถูกนำไปใช้ในส่วนใดบ้าง หรือถูกโอนถ่ายเงินไปต่างประเทศ เช่น กรณีแคลิฟอร์เนียว้าว ที่ตรวจพบว่ามีการโอนเงินไปต่างประเทศแล้วและอยากให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายเข้าร้องเรียน ซึ่งสามารถร้องเรียนได้ ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าว

ทั้งนี้จากการสอบถามกลุ่มผู้เสียหายพบว่า สาเหตุที่สมัครสมาชิกเพราะทางตัวแทนขายได้เสนอแพ็คเกจ 3 ปี แถมบริการอีก 6 เดือน และยังพบว่าผู้เสียหายบางรายสมัครแพ็คเก็จตั้งแต่ปี 2015 มูลค่ากว่า 400,000 กว่าบาท และเพิ่งจะสมัครเพิ่มเมื่อพฤษภาคม ปี 60 จำนวน 20,000 บาท และยังไม่ได้ใช้บริการ และยังมีอีกหลายรายที่เจอเหตุการณ์เดียวกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง