แรงงานข้ามชาติ ทะลักกลับบ้าน

สังคม
1 ก.ค. 60
12:30
3,939
Logo Thai PBS
 แรงงานข้ามชาติ ทะลักกลับบ้าน
"ชาวกัมพูชา” ทะลักด่านคลองลึก จ.สระแก้ว หลังนายจ้างลอยแพเพราะไม่มีใบอนุญาตทำงาน ผู้ประกอบการสะท้อนปัญหากระทบหนักอาจตองปิดโรงงาน ขณะที่ด่านแม่สาย จ.เชียงราย ภาพรวมยังปกติไม่คึกคักเหมือนจุดผ่านแดนแห่งอื่น

วันนี้ (1ก.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกระทรวงแรงงานมีการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่เพิ่งบังคับใช้ โดยเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา บรรยากาศที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ตลอดวานนี้ (30มิ.ย.) มีแรงงานชาวกัมพูชากว่า 1,000 คนที่เข้ามาทำงานผิดกฎหมาย เดินทางมารวมตัวกันเพื่อติดต่อขอเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ ที่บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองสระแก้ว เพื่อให้ทางการไทยผลักดันส่งกลับประเทศตามกฏหมาย และสามารถกลับไปยื่นเรื่องขอทำพาสปอร์ตใหม่ สำหรับการกลับมาทำงานใหม่อีกครั้ง ภายหลัง พรก.แรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ 

แรงงานชาวกัมพูชาบางคนบอกว่า ถูกนายจ้างลอยแพ เนื่องจากบทลงโทษที่กฏหมายใหม่กำหนดไว้ สำหรับนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมีโทษรุนแรงมาก และค่าปรับสูงมากถึง 4-8 แสนบาท จึงทำให้นายจ้างเกิดความกลัว และสั่งยกเลิกการจ้างแรงงานกัมพูชา กะทันหันทันที และส่วนใหญ่จะให้แรงงานกัมพูชารีบเดินทางกลับประเทศ ทำให้แรงงานกัมพูชาบางส่วนได้รับความเดือดร้อน

ด้านหน่วยงานที่รับผิดชอบด่านชายแดนได้เตรียมเจ้าหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย และอำนวยความสะดวกแก่ชาวกัมพูชาที่จะเดินทางกลับประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าอาจจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในวันนี้ 

"ด่านแม่สาย"เชียงราย ไม่คึกคัก

ส่วนบรรยากาศที่จุดผ่านแดนถาวร อ.แม่สาย จ.เชียงราย และในพื้นที่ ยังคงเป็นไปตามปกติ ไม่มีกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดก ฎหมาย รวมตัวกันเพื่อเดินทางทางประเทศ

พ.ต.อ.เอกกร บุษบาบดินทร์ ผู้กํากับตรวจคนเข้าเมือง จจ.เชียงราย บอกว่าพรก.ไม่ส่งผลกระทบกับการเคลื่อนไหลของแรงงานในพื้นที่ และกลุ่มที่ข้ามมาทำงานฝั่งไทยก็มีเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำเอกสาร ขออนุญาต ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยจะทำบอเดอร์พาสแรงงาน หรือหนังสือเดินทางทำงานท้องถิ่น ครั้งละ 30 วัน ขณะที่สถิติคนเดินทางเข้าออก ตั้งแต่พรก. ประกาศใช้ พบว่าที่ผ่านมาพบตัวเลขยังคงปกติเช่นเดียวกับในพื้นที่อำเภอเชียงของซึ่งจะเป็นกลุ่มแรงงานชาวลาวแค่จำนวนหนึ่ง และยังไม่พบว่าส่งผลกระ ทบ ความเป็นบ้านพี่เมืองน้อง มีความใกล้ชิดทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรม การเคลื่อนไหลของแรงงานจำนวนหนึ่ง จะใช้เส้นทางธรรมชาติในการเดินทางไปกลับในพื้นที่


เช่นเดียวกับการไปมาหาสู่กัน ของคนสองฝั่ง ศูนย์ข้อมูลแรงงาน สำนักงานแรงงานจังหวัดเชียงราย ไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ระบุว่า จังหวัดเชียงรายมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั้งหมด 24,209 คน ซึ่งผ่านการพิสูจน์สัญชาติเมียนมาลาว กัมพูชา จำนวน 7,743 คน ส่วนใหญ่จะรับจ้างทั่วไป รองลงมาคือรับจ้างก่อสร้างทำการเกษตรและปศุสัตว์


"แรงงานเมียนมา" ทยอยกลับประเทศที่ด่านแม่สอด

ขณะที่บรรยากาศที่ด่านแม่สอด จ.ตาก หลังพรก.การบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการ และนายจ้าง ไม่กล้าจ้างแรงงานต่อ เพราะเกรงผิดกฎหมาย เนื่องจากมีโทษที่รุนแรงทั้งจำคุกและ ปรับเงินจำนวนมาก

นายหม่องจ่อ แรงงานชาวเมียนมาบอกว่า ที่ผ่านมาต้องจ่ายเงินค่านายหน้าเพื่อหางานทำ 3 พันบาทแต่พอไปถึงโรงงาน นายจ้างไม่กล้ารับ เพราะกลัวถูกจับ จึงให้เดินทางกลับเมียนมา แม้จะไม่มีแม้กระทั่งค่าเดินทาง

 


ผู้ประกอบการและนายจ้างในจังหวัดตาก ต่างระบุว่า การบังคับใช้ พรก.ฉบับนี้ ไม่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการค้า การลงทุนของไทย อีกทั้งยังสวนทางกับนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก โดยเฉพาะค่าใบอนุญาตที่สูงถึง ฉบับละ 2 หมื่นบาท และหากจ้างแรงงานผิดกฎหมายจะมีโทษจำคุก และ ปรับเงินสูงถึง 8 แสนบาท และอาจเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐทุจริต รวมทั้งเชื่อว่า โรงงานหลายแห่งจะต้องปิดตัวในเร็วๆนี้


ขณะที่พ.ต.อ.ภาสกร กลั่นหวาน ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแม่สอด สั่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีแกนนำกลุ่มองค์กรช่วยเหลือแรงงานเมียนมา เผยแพร่คลิปภาพที่อ้างว่า เป็นภาพตำรวจตั้งด่านลอยตรวจเอกสารแรงงานชาวเมียนมา ที่สถานีขนส่งแม่สอด และ เรียกรับเงินจากแรงงานที่กำลังเดินทางกลับประเทศเมียนมา เนื่องจากมีเอกสารไม่ครบ และ ขาดต่อวีซ่าแม้การตรวจสอบเบื้องต้น จะพบว่า เป็นการตรวจตามปกติ


 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง