นักวิชาการแนะเพิ่มมูลค่ารับซื้อ "ปลาหมอสีคางดำ" นำไปกำจัดด้วยการทำเป็นอาหารสัตว์

สิ่งแวดล้อม
7 ก.ค. 60
18:29
3,715
Logo Thai PBS
นักวิชาการแนะเพิ่มมูลค่ารับซื้อ "ปลาหมอสีคางดำ" นำไปกำจัดด้วยการทำเป็นอาหารสัตว์
นักวิชาการประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสนอแนวทางกำจัดและแก้ปัญหาปลาหมอสีคางดำ "เอเลียนสปีชีส์" ที่กำลังระบาดหนักใน อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดยเพิ่มมูลค่าให้กับการรับซื้อเพื่อนำไปทำเป็นอาหารสัตว์

วันนี้ (7 ก.ค.2560) นายสหภพ ดอกแก้ว นักวิชาการประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงปัญหาปลาหมอสีคางดำ ซึ่งเป็นปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ชนิดหนึ่ง ได้ขยายพันธุ์เป็นจำนวนมากในบ่อเลี้ยงกุ้งของชาวบ้านใน ต.แพรกหนามแดง และ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ว่า เสนอแนวทางการแก้ปัญหาโดยการเพิ่มมูลค่าให้กับการรับซื้อเพื่อไปทำอาหารสัตว์ ซึ่งปัจจุบันมีการรับซื้อที่กิโลกรัมละ 4.50 บาท หากเพิ่มมูลค่าในการรับซื้อ จะช่วยแก้ปัญหาปลาหมอสีคางดำให้สามารถจัดการได้ง่ายขึ้น

สำหรับแนวทางสำคัญในการป้องกันไม่ให้ปลาหมอสีคางดำขยายพันธุ์สู่แม่น้ำสาธารณะ คือการปลูกจิตสำนึก และสร้างความเข้าใจต่อผู้เพาะเลี้ยง และชื่นชอบเลี้ยงปลาสวยงาม ไม่ให้นำปลาสวยงามไปปล่อยลงแม่น้ำสาธารณะ หากไม่ต้องการเลี้ยงต่อ

ทั้งนี้ ด้วยสีสันที่สวยงาม สามารถเลี้ยงได้ในพื้นที่จำกัด ปลาสวยงาม จึงกลายเป็นที่นิยมในประเทศไทย ช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้เลี้ยงปลาสวยงามในประเทศประมาณ 350,000 คน ในส่วนของร้านค้าปลาสวยงามทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 500 ร้าน ซึ่งร้อยละ 50 อยู่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่เหลือกระจายอยู่ใน จ.ราชบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา ขอนแก่น และอุดรธานี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง