"กรมชล” สั่งพร่องน้ำ 11 เขื่อนใหญ่รับปริมาณฝนพายุ"เซินกา"

ภัยพิบัติ
25 ก.ค. 60
10:40
2,035
Logo Thai PBS
"กรมชล” สั่งพร่องน้ำ 11 เขื่อนใหญ่รับปริมาณฝนพายุ"เซินกา"
กรมชลประทาน สั่งพร่องน้ำ 11 เขื่อนใหญ่ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน เตรียมรองรับปริมาณฝนจากอิทธิพลของพายุเซินกา ที่จะส่งผลให้มีฝนตกหนัก ยืนยันเขื่อนขนาดใหญ่ยัง รองรับน้ำได้อีก 30,800 ล้านลูกบาศก์เมตร

วันนี้ (25ก.ค.2560)  นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ได้กำชับให้โครงการชลประทาน ที่รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์มาก บริหารจัดการน้ำ ด้วยการลดระดับน้ำในอ่างเก็บ ให้อยู่ในเกณฑ์การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลเข้ามากกว่าความจุของอ่าง รวมไปถึงอ่างเก็บน้ำที่มีพื้นที่รับน้ำฝนขนาดใหญ่ ที่เมื่อฝนตกหนักจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะต้องติดตามเป็นพิเศษ

 

 

ขณะนี้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั้งประเทศของวานนี้(24 ก.ค.) มีปริมาณน้ำรวมกัน 44,394 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างรวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 10,229 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 30,800 ล้านลูกบาศก์เมตร

แต่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมน้ำสูงสุด 11 แห่ง คือ เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษษณุโลก เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น  เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี และเขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี 

นอกจากนี้กรมชลประทานได้ให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมเครื่องสูบน้ำและเจ้าหน้าที่ให้พร้อมที่จะปฏิบัติงานตลอดเวลา หากพื้นที่ใดมีแนวโน้มที่จะเกิดสภาวะวิกฤติ ให้รีบชี้แจงผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

 



สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา นายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 ชัยนาท กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำล่าสุด ประเทศไทยจะเริ่มได้รับอิทธิพลจากพายุเซินกาในวันนี้ ซึ่งจะมีฝนตกหนักทางภาคเหนือ ดังนั้นมวลน้ำก้อนใหม่ จะไหลหลากลงสู่ที่ราบลุ่มเจ้าพระยาในสัปดาห์หน้า เขื่อนเจ้าพระยาจึงพิจารณาพร่องน้ำเพิ่มขึ้นปรับเพิ่มการระบายน้ำ อาจส่งผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มต่ำในเขต จ.อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา จะมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น 15-25 ซม. ขอให้ผู้ที่อาศัยในพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งเฝ้าระวังด้วย

วันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องเฝ้าระวังอิทธิพลจากพายุโซนร้อนเซินกา ประกอบกับอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่ปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ที่มีแนวโน้มแรงขึ้น ดังนั้นระยะนี้จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประกาศให้ 43 จังหวัดตอนบนของประเทศ เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ขณะเดียวกัน ทางกรมอุตุนิยาวิทยา ก็ได้ออกประกาศเกี่ยวกับพายุโซนร้อนเซินกาฉบับที่ 8 เมื่อเวลา8.00 น. ว่าพายุเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ และคาดจะขึ้นฝั่งเวียดนามในวันนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง