ภาคีเครือข่ายต้านทุจริตฯ ยื่น ป.ป.ช.สอบ รมว.ศึกษาฯ บังคับครูทั่วประเทศเข้าคอร์สอบรม

สังคม
27 ก.ค. 60
13:35
1,408
Logo Thai PBS
ภาคีเครือข่ายต้านทุจริตฯ ยื่น ป.ป.ช.สอบ รมว.ศึกษาฯ บังคับครูทั่วประเทศเข้าคอร์สอบรม
ภาคีเครือข่ายต้านทุจริตฯ ยื่น ป.ป.ช.สอบ รมว.ศึกษาฯ และหน่วยงานเกี่ยวข้องบังคับครูทั่วประเทศเข้าคอร์สอบรม 10,000 บาท เพื่อใช้เปิดทางเลื่อนขั้นวิทยฐานะ หลังจากครูระดมร้องเรียนว่าไม่เป็นธรรม สร้างความลำบาก และเอื้อประโยชน์บริษัทจัดคอร์สอบรม

วันนี้ (27 ก.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่กระทรวงศึกษาธิการใช้หลักเกณฑ์การจัดอบรมด้วยการบังคับให้ครู ต้องจ่ายเงินคนละ 10,000 บาท เพื่อเข้าคอร์สอบรม จึงจะนำมาพิจารณาเลื่อนขั้นได้ ทำให้เกิดการร้องเรียนและนำไปสู่การตรวจสอบโดยกลุ่มภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของชาติ ได้ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ นำโดยนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการภาคีฯ และคณะเดินทางมายื่นหนังสือถึงประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีจัดทำโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ด้วยการออกระเบียบบังคับอบรมครูทั่วประเทศประมาณ 500,000 คน โดยใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยครูต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง เพื่อนำมาพิจารณาการเลื่อนขั้นวิทยฐานะและครูต้องผ่านการอบรมโครงการนี้ เป็นเวลา 5 ปี

 

 

ทั้งนี้ กลุ่มภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก ครู, รองผู้อำนวยการสถานศึกษา, ผู้อำนวยการสถานศึกษา, รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถม-มัธยม, ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถม-มัธยมจำนวนมากว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศการใช้หลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะและการพัฒนาข้าราชการครูแนวใหม่ โดยจัดหลักสูตรอบรมให้ครูสามารถเลือกได้ตามความต้องการ (บังคับอบรมเพราะการเลื่อนวิทยฐานะต้องผ่านคอร์สอบรมพัฒนาที่ได้รับรองมาตรฐานตามระดับวิทยฐานะในสาขาวิชานั้นๆ และชั่วโมงการเรียนการสอนแบบ Professional Learning Community (PLC) ไม่น้อยกว่า 50 ชั่วโมง ซึ่งภายใน 5 ปี น่าจะมีชั่วโมงรวม 250 ชั่วโมง ถึงจะได้เลื่อนวิทยฐานะได้ 1 ระดับ ใช้กับครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาทุกคน

 

สำหรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติ เพิ่มภาระรายจ่ายค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่ากินอยู่ให้ครูกว่า 500,000 คน คนละเฉลี่ยกว่า 50,000 บาท/คน/ 1 หลักสูตรอบรม (50 ชั่วโมง ใช้ 10 วันอบรม วันราชการ-เสาร์-อาทิตย์ ต้องอบรมหลายรอบ ไม่ต่อเนื่อง) เป็นการเพิ่มภาระรวมกว่า 30,000 ล้านบาท/ปี ใช้เงินรัฐบวกเงินส่วนตัวครูกว่าคนละ 300,000 บาท/คน/ 5ปี/ 1 ช่วงวิทยฐานะ ใช้เงินรวมกว่า 150,000 ล้านบาท/ 5 ปี แต่ถ้าเป็นการทำวิทยฐานะแบบทำผลงานที่ผ่านมาเฉลี่ยเสียค่าใช้จ่ายต่อคนแค่ 30,000-50,000 บาท/1 ช่วงวิทยฐานะ ซึ่งถูกกว่ามากและได้ประโยชน์ อีกทั้งเงินดังกล่าวเป็นเงินงบประมาณเดิมที่ใช้กับตัวนักเรียน-โรงเรียน สำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา-มัธยมศึกษาโดยตรง เมื่อนำเงินดังกล่าวมาอบรมครูทั้งหมด เปรียบเสมือนอาจจะเป็นการนำเงินที่กับโครงการของนักเรียนไปเป็นรายได้ให้กับเอกชน-ผู้อยู่เบื้องหลัง มหาวิทยาลัยผู้รับจัดอบรม

สำหรับต้นทุนการอบรมในโครงการ ได้แก่ 1. ค่าหอประชุมในโรงเรียน 25,000 บาทต่อ 10 วัน, 2. ค่าเอกสารที่ให้ผู้เข้าร่วมอบรมประมาณชุดละ 40,000 บาทต่อ 200 คน, 3. ค่าวิทยากร จำนวน 50 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 1,200 บาท รวม 60,000 บาท, 4. ค่าเดินทาง-ค่าที่พักวิทยากร 33,000 บาท, 5. ค่าความคิด 25,000 บาท, 6.ค่าอาหาร จำนวน 204 คน 10 มื้อกลางวัน คนละ 100 บาท/มื้อ รวม 204,000 บาท รวม 1 ศูนย์ 387,000 บาท จำนวน 200 คน

 

 

นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า ได้ยื่นข้อเสียของโครงการ 10 ข้อให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบด้วย ดังนี้ 1.เป็นการเพิ่มภาระให้ รัฐบาลและครู ต้องจ่ายค่าอบรมคนละ 10,000 บาท/คน/ปี ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณกว่าปีละ 5,000 ล้านบาท/ปี(รัฐออก) ใช้กับครูและผู้บริหารสถานศึกษาทุกคน ทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติ เพิ่มภาระรายจ่ายอย่างมากทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่ากินอยู่ ให้ครูกว่า 500,000 คน คนละเฉลี่ยกว่า 50,000 บาท/คน/ 1 หลักสูตรอบรม (อย่างน้อย 50 ชั่วโมง ใช้ 10 วันอบรม เฉพาะ เสาร์-อาทิตย์ อบรมไม่ต่อเนื่อง) เป็นการเพิ่มภาระรวมกว่า 30,000 ล้านบาท/ปี

2. อาจเป็นการทุจริตเชิงนโยบายเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจการจ้างอบรม ธุรกิจโรงแรม ซึ่งสามารถเช็คยอดรายรับจากยอดจำนวนผู้เข้าอบรม ซึ่งมีเงินหมุนเวียนกว่าปีละ 30,000 ล้านบาท/ปี, 3. เป็นการเพิ่มภาระรายจ่ายมหาศาลให้กับคุณครูเป็นรายบุคคล โดยใช้ข้อกำหนดการเลื่อนวิทยฐานะจะต้องอบรมติดต่อกัน 5 ปี แต่ละช่วงวิทยฐานะ เป็นการบีบครูให้ต้องอบรมทุกคน, 4. คุณครูต้องเดินทางข้ามภาคไปอบรมระยะไกล เสียค่าเดินทาง ค่าที่พัก เสียเวลาหลายรอบ รวมเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากกว่าจะได้วิทยฐานะแบบอัตโนมัติ เพื่อความสะดวกของบริษัทหรือมหาวิทยาลัย รับจ้างจัดอบรม

5. วิทยากรที่ฝึกอบรมอาจจะไม่ใช้ความต้องการของผู้เข้ารับการอบรม, 6. ปัจจุบัน สพฐ.มีงบประมาณไม่เพียงพอให้กับคุณครูไปจ่ายค่าอบรมคนละ 10,000 บาท โดยให้คุณครูออกเองไปก่อนแล้วเบิกคืนภายหลัง และไม่รู้จะได้คืนเมื่อใด เพราะงบโรงเรียนไม่มี ส่วนรายจ่ายอื่นๆต้องออกเองทั้งหมด, 7. รมว.ศึกษาฯสั่งการให้เลขาธิการ สพฐ. ยกเลิกโครงการประจำที่จำเป็นของนักเรียน โรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษา-มัธยมศึกษา ที่ใช้งบดำเนินงาน-งบลงทุน เพื่อพัฒนาการศึกษา จากงบประมาณปี 2560-2561 ไปใช้ในโครงการอบรมครูทั้งหมด แทนที่ จะไปเป็น ค่าไฟฟ้า-น้ำ(ค้างจ่ายกว่า 1,000 ล้านบาท ค้างจ่ายในแต่ละโรงเรียน กำลังถูกฟ้องต่อศาล) อีกทั้งยังไปเป็นงบประมาณซ่อมแซมโรงเรียนปกติและที่เกิดจากอุทกภัยจำนวนมากในหลายจังหวัด ถ้าเหลือจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็นก็ควรไปจัดซื้อวัสดุการศึกษา ครุภัณฑ์ทางการศึกษา อื่นๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาทางการศึกษา

 



8. หลักสูตรดังกล่าวส่วนมากยังไม่เคยพิสูจน์มายืนยันว่าได้ประสิทธิภาพจริงและใช้เวลาอนุมัติอันสั้น กรรมการพิจารณาไม่ชัดเจน, 9. ระบบการจองหลักสูตรก็จองได้เฉพาะบางหลักสูตรบางบริษัทหรือบางมหาวิทยาลัยซึ่งอาจจะเป็นการล็อคสเป็คระบบลงทะเบียนหรือไม่ และ 10. การออกหลักเกณฑ์ในการเลื่อนวิทยฐานะนึกจะยกเลิกระบบเดิม บังคับอบรมระบบใหม่ ก็ไม่ผ่านการประชาพิจารณ์จากครูทั่วประเทศ

สำหรับโครงการจัดอบรมครู เริ่มต้นเมื่อต้นปี 2560 เป็นแนวทางของกระทรวงศึกษาธอการ โดยช่วงเช้าวันนี้ก่อนมา ป.ป.ช.ทางภาคเครือข่ายได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน เพื่อขอให้ตรวจสอบเช่นกัน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง