"นายกรัฐมนตรี" สั่งกรมชลเร่งระบายมวลน้ำ 240 ล้านลบ.ม.ลงโขง

ภัยพิบัติ
2 ส.ค. 60
16:16
474
Logo Thai PBS
"นายกรัฐมนตรี" สั่งกรมชลเร่งระบายมวลน้ำ 240 ล้านลบ.ม.ลงโขง
นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตาม และเยี่ยมชาวบ้านสกลนคร- นครพนมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยติดตามที่ประตูระบายน้ำ ธรณิศนฤมิต จ.นครพนม ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายรอรับมวลน้ำ 240 ล้านลบ.ม.ก่อนออกสู่แม่น้ำโขง ยืนยันให้สำรวจความเสียหายและเยียวยา

วันนี้ (2 ส.ค.2560) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ติดตามและเยี่ยมชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในจ.สกลนคร และนครพนม โดยนายกรัฐมนตรี สั่งการหน่วยงานต่างๆช่วยเหลือเยียวยาประชาชนโดยเร็ว และเร่งสำรวจพื้นที่ความเสียหายให้ชัดเจน

โดยนำเอาประชาคมมามีส่วนร่วม เพื่อป้องกันปัญหาการใช้งบประมาณและการร้องเรียน ขณะเดียวกันขอให้สำรวจอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ทั่วประเทศ บูรณะซ่อมแซมพร้อมใช้งาน และขุดลอกไม่ให้ตื้นเขิน ซึ่งรัฐบาลพร้อมอนุมัติงบประมาณ เพื่อดำเนินการ เพื่อให้แหล่งเก็บน้ำเหล่านี้ใช้สามารถใช้แก้ปัญหาน้ำแล้งในช่วงหน้าแล้งด้วย โดยให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปช่วยดูแล และจะให้ทหาร ไปช่วย

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงาน การลงพื้นที่ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาที่ประตูระบายน้ำ ธรณิศ นฤมิต หรือ ประตูน้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เพื่อติดตามสถานการณ์และเส้นทางการระบายมวลน้ำที่ไหลท่วม จ.สกลนคร เมื่อสัปดาห์ก่อน และพื้นที่จ.นครพนม

โดยสอบถามเกี่ยวกับการระบายน้ำ และขอให้กรมชลประทาน เร่งดำเนินการระบายน้ำเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนโดยเร็ว พร้อมสอบถามถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครพนม  ขณะนี้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ 7 อำเภอ จาก 12 อำเภอ 51 ตำบล 439 หมู่บ้านพื้นที่เกษตรเสียหาย 134,000 ไร่ครัวเรือนกระทบ16,932 ครัวเรือน ประชากรกระทบ 53,138 คน

 



ทั้งนี้เนื่องจากประตูน้ำธรณิศนฤมิต เป็นจุดสุดท้าย ที่ต้องรอรับมวลน้ำกว่า 240 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นมวลน้ำที่ไหลมาจากออกจากหนองหาร จ.สกลนคร ผ่านลงคลองน้ำก่ำ และอีกส่วนหนึ่งเป็นมวลน้ำสะสมจากปริมาณฝนตกหนัก และน้ำป่าไหลหลากไหลลงมารวมกันที่ประตูน้ำแห่งนี้

ขณะที่สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง วันนี้ระดับน้ำลดลง 10 เซนติเมตร และยังมีระดับต่ำกว่าลำน้ำก่ำ 1.70 เมตร โดยเจ้าหน้าที่คาดว่า จะใช้เวลาระบายน้ำจนสถานการณ์เป็นปกติได้ภายใน 6 วัน


นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ติดตามการซ่อมแซมทำนบดินของอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น และขอให้เร่งดำเนินการทำสันเขื่อนใหม่เสริมจากเดิม รวมทั้งให้ปรับปรุงเพิ่มความจุน้ำให้มากขึ้น อีกทั้งยังเน้นย้ำในเรื่องของการสร้างความเข้าใจกับประชาชน ในเรื่องของการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดปัญหาจากประชาชน ซึ่งหากไม่ดำเนินการก็จะเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง