ผวจ.ภูเก็ตชี้ "ปลาสาก"กัดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นไม่ใช่ "ฉลาม"

ภูมิภาค
18 ส.ค. 60
07:14
1,279
Logo Thai PBS
ผวจ.ภูเก็ตชี้ "ปลาสาก"กัดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นไม่ใช่ "ฉลาม"
ผู้ว่าฯภูเก็ต ยืนยันการตรวจสอบเหตุนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ถูกสัตว์กัดที่หาดกมลา ขณะเล่นเซิร์ฟบอร์ด ไม่ใช่ฉลาม แต่เป็นปลาสาก พร้อมสั่งดูแลความปลอดภัยเพิ่มป้องกันเหตุซ้ำ ส่วนดร.ธรณ์ เชื่อเป็นฉลามขนาดเล็ก ชี้ไม่ได้น่ากลัวถ้าเทียบกับพิษของแมงกระพรุนกล่อง

 วานนี้(17ส.ค.2560) กรณีนักท่องเที่ยวชายชาวญี่ปุ่น มีบาดแผลฉีกขาดขนาดใหญ่บริเวณส้นเท้า และข้างเท้าซ้าย คล้ายถูกของมีคมบาด หรือฟันของสัตว์กัด เป็นแนวยาวขนานกัน 3 แผล ซึ่งมีการระบุเบื้องต้นว่าเป็นรอยฟันฉลาม โดยเกิดขึ้นระหว่างเล่นเซิร์ฟบอร์ด หาดกมลา จ.ภูเก็ต ก่อนจะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฐมพยาบาลและนำส่งโรงพยาบาล เบื้องต้นอาการปลอดภัยแล้ว และแพทย์นัดตรวจแผลอีกครั้งวันนี้

ด้านนายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต บอกว่า จากการตรวจสอบกับทั้งนักวิชาการด้านประมง จากบาดแผลที่เท้าของนักท่องเที่ยว เชื่อว่าเป็น ปลาบาราคูด้า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ปลาสาก" ไม่ใช่ปลาฉลามหูดำ ตามที่มีกระแสข่าว

โดย ปลาสากเป็นปลาที่มีลักษณะตัวยาว ในพื้นที่นำทมาทำลูกชิ้น และเป็นปลาที่มีฟันที่แหลมคมมาก และชอบกินลูกปลาที่บริเวณผิวน้ำ และนักวิชาการ บอกว่าเวลานักท่องเที่ยวเล่นเซิร์ฟบอร์ด จะมีคลื่น ปลาสาก คิดว่าน่าจะเป็นลูกปลาเลยกัดจังหวะนั้นพอดี" นายนรภัทร บอก

และจากการสอบถามกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ยืนยันตรงกันว่า รอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยพบปลาดุร้าย อย่างฉลาม บริเวณหาดกมลา พร้อมย้ำว่า นักท่องเที่ยวและประชาชน สามารถเล่นน้ำได้ตามปกติ และได้ให้หน่วยกู้ชีพและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประกอบการ เฝ้าระวังดูแลความปลอดภัย เตือนนักท่องเที่ยว ไม่ออกไปเล่นน้ำห่างจากฝั่งมากจนเกินไป โดยเฉพาะระยะนี้ เป็นช่วงฤดูมรสุม

 "ธรณ์"วอนอย่าเกลียดฉลาม-ชี้แมงกระพรุนกล่องอันตราย

ขณะที่ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความทางเฟชบุ๊ก Thon Thamrongnawasawatโดยระบุว่า จากประสบการณ์ของผม คิดว่าน่าจะเป็นฉลามขนาดเล็กมากกว่าปลาสาก ซึ่งเป็นกรณีกับที่แหม่มสาวเคยโดนกัดเมื่อเดือนกันยา ปี 58 ในบริเวณใกล้กัน

ความคิดเห็นของผมตรงกับดร.ก้องเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญจากกรมทะเล และผมให้สัมภาษณ์ไปเช่นนั้นฉลามในที่นี้ อาจเป็นฉลามหูดำขนาดเล็ก ที่พบได้ทั่วไปในชายฝั่งของประเทศไทย โดยเฉพาะชายฝั่งภูเก็ต หรืออาจเป็นลูกฉลามขนาดใหญ่ชนิดอื่นที่เข้ามาเป็นครั้งคราว

 

 

การระบุให้ชัดเจนว่าเป็นปลาประเภทใด อาจต้องอาศัยการวิเคราะห์กันต่อไป แต่ที่ไม่ต้องวิเคราะห์คือ “กรุณาอย่าเกลียดฉลาม” และไม่คิดว่าคนไทยต้องกลัวฉลาม โดยมีข้อมูลยืนยัน 2 ประการ อันดับแรก ปริมาณฉลามในน่านน้ำไทยลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด หลายชนิดเข้าขั้นวิกฤต บางชนิด เช่น ฉลามหัวค้อน ลดลงกว่า 90% ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี ข้อมูลอย่างเป็นทางการชี้เช่นนั้น ข้อมูลจากเหล่านักดำน้ำที่เคยเห็นฉลามในทะเลไทยมากมาย ก็บอกตรงกัน เดี๋ยวนี้หาฉลามดูยากเหลือเกิน

ระบุคนโดนฉลามทำร้าย 1 ต่อ 200 ล้านครั้ง 

นักวิชาการ ตั้งข้อสังเกตว่า แล้วทำไมยังมากัดนักท่องเที่ยวได้ ? นั่นคือคำตอบอันดับสองในปี 60 เราคาดการณ์ว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 25 ล้านคนไปทะเล นักท่องเที่ยว 34 ล้านคนต่อปี ไปทะเล 75.5% ข้อมูลกระทรวงท่องเที่ยว ยังไม่นับคนไทยอีกมหาศาลที่ไปเที่ยวทะเล  แต่ละปี มีคนไทยคนต่างชาติเล่นน้ำในทะเลไทยนับร้อยล้านครั้ง  แต่ข่าวที่นักท่องเที่ยวโดนฉลามกัดบาดเจ็บ ไม่ได้สาหัส เกิดขึ้น 2 ปีครั้ง หมายถึงอัตราส่วนที่คนโดนฉลามทำร้าย อาจมีในหลัก 1 ต่อ 200 ล้าน น้อยกว่าหมากัด ผึ้งต่อย ยังน้อยกว่าอัตราที่คนโดนแมงกะพรุนกล่องหลายเท่า

เมื่อคุณนักข่าวถามว่าควรทำอย่างไร ? คำตอบของผมเป็นเช่นนี้ เราไม่ควรเกลียดฉลาม ไม่ควรคิดทำร้ายเธอ ไม่ต้องกลัวเธอ เพราะลักษณะการกัด ฉลามไม่ได้คิดทำร้ายด้วยซ้ำ เป็นแค่สงสัยว่าเป็นเหยื่อหรือเปล่า เมื่อไม่ใช่ก็จากไป ไม่ใช่พยายามกินคนให้ได้เหมือนในหนัง ในทางกลับกัน เราควรหาทางอนุรักษ์ ดูแลฉลาม ผลักดันให้ฉลามบางชนิดเป็นสัตว์คุ้มครอง โดยเฉพาะฉลามหัวค้อน และควรเลิกกินหูฉลามเพราะฉลามสำคัญต่อระบบนิเวศ ในฐานะผู้ล่าสูงสุด

 

และฉลาม สำคัญต่อการท่องเที่ยวในแนวปะการัง เพราะโลกนี้มีคนอยากเห็นฉลามตามธรรมชาติ และมีมากขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศประเมินมูลค่าฉลามต่อการท่องเที่ยวดำน้ำ ตลอดชีวิตฉลาม อาจสร้างรายได้นับหมื่นเหรียญหรือกว่านั้น ขึ้นกับค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศ

และฉลามคือความสง่างามของท้องทะเลทะเลที่ไม่มีฉลาม ก็ไม่ควรเรียกว่าทะเล สำหรับผม แมงกะพรุนกล่องเป็นสัตว์ที่ควรต้องระวัง ต้องหาทางป้องกัน  ขณะที่ฉลามเป็นสัตว์ที่เราควรเข้าใจ และหาทางรักษาพวกเธอไว้ครับ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง