เปิดรั้ว "เรือนจำต้นแบบ" เพื่อผู้ต้องขังหญิง "สร้างอาชีพ" คืนคนดีสู่สังคม

สังคม
18 ส.ค. 60
14:29
5,702
Logo Thai PBS
เปิดรั้ว "เรือนจำต้นแบบ" เพื่อผู้ต้องขังหญิง "สร้างอาชีพ" คืนคนดีสู่สังคม
สถิติรอบ 10 ปี ชี้ ผู้ต้องขังหญิงไทยเพิ่มขึ้นเท่าตัว ปี 60 กว่า 30,000 คน สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก สาเหตุหลักจากปัญหายาเสพติด พร้อมร่วมมือ TIJ ผลักดัน "ข้อกำหนดกรุงเทพฯ" ยกระดับมาตรฐานเรือนจำต้นแบบ หวังสร้างชีวิตที่ดีขึ้นของ “ผู้ต้องขังหญิง”
บริเวณรั้วภายในเรือนจำก่อนเข้าสู่ประตูห้องขัง

บริเวณรั้วภายในเรือนจำก่อนเข้าสู่ประตูห้องขัง

บริเวณรั้วภายในเรือนจำก่อนเข้าสู่ประตูห้องขัง

แอน ผู้ต้องขังหญิงวัย 32 ปี ต้องโทษคดีค้ายาเสพติด บอกถึงการใช้ชีวิตภายใต้เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาร่วมกับเพื่อนหญิงคนอื่นอีก 500 ชีวิตว่า แม้จะต้องสูญเสียอิสรภาพและห่างไกลจากคนที่ตนรัก รวมถึงลูกชายวัย 5 ขวบ แต่เธอก็พยายามปรับตัวโดยร่วมทำกิจกรรมที่ทางเรือนจำจัดขึ้นเป็นประจำ โดยรับหน้าที่สำคัญเป็นผู้ช่วยพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังหญิงและผู้สูงอายุ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวช่วยให้เวลาในการใช้ชีวิตที่นี่ผ่านไปเร็วขึ้น

แอน วัย 32 ปี ผู้ต้องขังหญิง ต้องโทษคดีค้ายาเสพติด

แอน วัย 32 ปี ผู้ต้องขังหญิง ต้องโทษคดีค้ายาเสพติด

แอน วัย 32 ปี ผู้ต้องขังหญิง ต้องโทษคดีค้ายาเสพติด

“การอยู่ในเรือนจำแม้ว่าจะขาดอิสรภาพ แต่ก็ไม่ได้ลำบากมากนัก ซึ่งกระทบต่อสภาพจิตใจอยู่บ้าง แต่ด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่เรือนจำได้สอนทั้งฝึกอบรมอาชีพ และกิจกรรมอื่นเช่น โยคะ สวดมนต์ อ่านหนังสือ วาดภาพ เต้นรำ ก็ช่วยให้ผ่อนคลายมากขึ้น และช่วยให้วันเวลาในเรือนจำผ่านไปเร็วมากขึ้น" แอน กล่าว

นอกจากนี้ แอน ยังเล่าว่า เธอยังได้ใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมในช่วงเวลาที่ว่าง เนื่องจากภายในเรือนจำมีห้องสมุดที่เธอสามารถเข้ามาอ่านเพื่อค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมได้ 

สอดคล้องกับ "ป้านวล" ผู้ต้องขังหญิงวัย 50 ปี ต้องโทษคดีค้ายาเสพติด ระบุว่า ตนเองเข้าฝึกอาชีพนวดแผนปัจจุบัน ทำให้รู้สึกกระปรี้กระเป่า ได้พบปะพูดคุยกับผู้ต้องขังที่มาใช้บริการ ซึ่งถือว่าเป็นการออกกำลังกายไปด้วยในตัว ซึ่งรู้สึกชอบทีเรือนจำจัดกิจกรรมที่หลากหลายให้ผู้ต้องขังได้เลือกทำ และการอบรมนี้จะสามารถนำไปประกอบอาชีพต่อไปได้ 

สภาพภายในเรือนจำหญิง

สภาพภายในเรือนจำหญิง

สภาพภายในเรือนจำหญิง

นางเตชิตา จงจิตต์ ผู้คุมเรือนจำ กล่าวว่า ผู้ต้องขังที่อยู่ภายในเรือนจำมีความกังวลว่า เมื่อพ้นโทษออกไปแล้วจะไมไ่ด้รับการยอมรับจากสังคม เพราะยังมีทัศนคติต่อผู้คนกลุ่มนี้ยังไม่ได้นัก แต่การที่อยู่ในนี้หลายคนสามารถพัฒนาตนเอง เรียนรู้อาชีพ เพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองเมื่อพ้นโทษ ซึ่งส่วนใหญ่ทำได้ดีขึ้น และขอเพียงให้สังคมให้โอกาส

"สังคมอยากให้ผู้ต้องขังพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น มีความประพฤติที่ดี แต่เมื่อออกไปก็กลับไม่ให้โอกาสในการกลับสู่สังคมต่อคนเหล่านี้ ก็ขอให้สังคมให้โอกาสคนเหล่านี้บ้าง" นางเตชิตา กล่าวว่า 

ด้านนายอดิศักดิ์ ภานุพงษ์ ที่ปรึกษาพิเศษเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถือเป็นต้นแบบที่มีการวางแผนการปฎิบัติ และประสบความสำเร็จตามข้อกำหนดกรุงเทพ (The Bangkok Rules) โดยเริ่มจากการผลักดันของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงเล็งเห็นถึงเงื่อนไขความต้องการของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ โดยคำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศ ว่าผู้ต้องขังหญิงมีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องเพศสภาพและกายภาพ การปฎิบัติดูแลมีความแตกต่างจากผู้ต้องขังชาย ผู้ต้องขังหญิงจึงควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ แต่ไม่ได้หมายความว่าได้รับสิทธิพิเศษกว่าผู้ต้องขังชาย ทุกสิ่งเป็นไปตามกฎระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ทุกอย่างคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนที่ผู้ต้องขังหญิงควรจะได้รับ

 

นายนัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และรองผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ต้องขังหญิงไทยปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดและเป็นผู้ค้ารายย่อยมากที่สุด ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความแออัดในที่คุมขัง ขาดทักษะในการประกอบอาชีพ เมื่อพ้นโทษแล้วสังคมก็ยังไม่ยอมรับ อาจนำไปสู้ปัญหาอื่นๆ ตามมาอีก

ที่ผ่านมาทีไอเจได้พยายามผลักดันให้เรือนจำทั่วประเทศนำข้อกำหนดกรุงเทพฯ ไปปฎิบัติเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู และพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ ควบคู่ไปกับการยกระดับจิตใจ ทำให้ผู้ต้องขังเป็นคนที่ดีขึ้น เมื่อพ้นโทษแล้วสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้

ผู้ต้องขังร่วมกลุ่มทำกิจกรรม วาดรูปเพื่อความผ่อนคลาย

ผู้ต้องขังร่วมกลุ่มทำกิจกรรม วาดรูปเพื่อความผ่อนคลาย

ผู้ต้องขังร่วมกลุ่มทำกิจกรรม วาดรูปเพื่อความผ่อนคลาย

“การนำเอาข้อกำหนดกรุงเทพฯ มาใช้ทำให้เจ้าหน้าที่จะสามารถทำงานได้อย่างเป็นระบบ และมีมาตรฐานในการทำงาน ซึ่งดูแลครอบคลุมทั้งผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ โดยในปี 2558 เรือนจำ 3 แห่ง คือ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเรือนจำจังหวัดอุทัยธานี ได้เริ่มนำเอาข้อกำหนดกรุงเทพฯ มาใช้ และในปีต่อมา อีก 3 แห่ง คือ ทัณฑ์สถานหญิงชลบุรี เรือนจำกลางสมุทรสงคราม และทัณฑสถานหญิงจังหวัด ปทุมธานี” นายนัทธี กล่าว

เรือนจำโฉมใหม่สำหรับผู้หญิง

ศูนย์ฝึกอาชีพภายในเรือนจำหญิง

ศูนย์ฝึกอาชีพภายในเรือนจำหญิง

ศูนย์ฝึกอาชีพภายในเรือนจำหญิง

นายนัทธี อธิบายถึงเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ ว่า  เรือนจำดังกล่าวเป็นไปตามข้อกำหนดที่ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามมาตรฐาน ตั้งแต่การรับตัวผู้ต้องขัง การตรวจค้นจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมไปถึงการจัดทำทะเบียนการจำแนกผู้ต้องขัง ซึ่งในเรือนจำเจ้าหน้าที่จะรู้จักผู้ต้องขังทุกคน การจำแนกผู้ต้องขังทำให้สามารถทำความรู้จักกับผู้ต้องขังเป็นรายบุคคล เป็นใครมาจากไหน ซึ่งจะทำให้สามารถวางแผนดูแลผู้ต้องขังแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม

เรือนจำถูกออกแบบมาเพื่อผู้ชาย เพราะสมัยก่อนผู้ต้องขังหญิงมีน้อย ก่อนที่จะมีการดัดแปลงมาเป็นเรือนจำหญิง ทำให้การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงเหมือนกับผู้ชาย เมื่อนำข้อกำหนดกรุงเทพฯ มาใช้จึงได้มีการปรับปลี่ยนสถานที่ การดูแลต่างๆ ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมและเป็นมาตรฐานนายนัทธี กล่าว 

กิจกรรมฝึกอาชีพช่างตัดผม โดยจัดอบรมในทุกสัปดาห์

กิจกรรมฝึกอาชีพช่างตัดผม โดยจัดอบรมในทุกสัปดาห์

กิจกรรมฝึกอาชีพช่างตัดผม โดยจัดอบรมในทุกสัปดาห์

ผู้ต้องขังจะต้องผ่านการอบรมวิชาชีพ อย่างน้อย 3 วิชาชีพภายในเรือนจำ และได้รับการอบรมการไปประกอบอาชีพ หรือ SME เปลี่ยนชีวิต ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งพัฒนาผู้ต้องขัง ให้สามารถประกอบอาชีพอิสระได้ภายหลังพ้นโทษ อีกอย่างที่สำคัญคือการปรับสภาพอารมณ์และจิตใจทางเรือนจำก็มี ห้องเปลี่ยนชีวิต Happy center หรือ ศูนย์สร้างแรงบันดาลใจ เป็นที่แรกที่เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนที่จะขยายการดำเนินการไปยังเรือนจำอื่นๆ อีก 9 แห่ง เน้นการบ่มเพาะแรงบันดาลใจ ปรับเปลี่ยนชีวิต เสริมสร้างภูมิต้านทานเมื่อพ้นโทษ ซึ่งถือเป็นการปฎิบัติอย่างครบวงจรตามเรือนจำต้นแบบ

นายนัทธี กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีจำนวนผู้ต้องขังหญิงเพิ่มขึ้นมาก สาเหตุหลักคือยาเสพติด และส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้ค้ารายย่อย เข้ามาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพราะมีปัญหาครอบครัว ภาระทางการเงินบีบบังคับให้ต้องกระทำผิด

ผู้ต้องขังหญิงไทยปี 60 ทะลุ 3 หมื่นคน อันดับ 4 โลก

 

สถิติ 10 ปีผู้ต้องขังหญิงเพิ่มเท่าตัว ข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า ในรอบ 10 ปี ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังหญิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีจำนวนผู้ต้องขังกว่า 38,678 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 เกือบเท่าตัว ซึ่งมีจำนวนผู้ต้องขัง 26,321 คน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ต้องขังหญิงเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐฯ จีน รัสเซีย และหากเทียบกับประชากร 100,000 คน ถือว่าประเทศไทยมีอัตราส่วนผู้ต้องขังหญิงเป็นอันดับ 1 ของโลก

นายอดุลย์ ชูสุวรรณ ผู้บังคับการเรือนจำ กล่าวว่า หลังมีข้อกำหนดกรุงเทพฯ เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ศึกษาแนวทาง และเริ่มปรับสถานที่ให้รองรับกับแนวทาง โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน เพื่อเปลียนแปลงชีวิตสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้กับผู้ต้องขัง โดยก่อนที่ผู้ต้องขังทุกคนจะพ้นโทษออกไปทุกคนจะได้ความรู้ ฝึกอาชีพการด้านการศึกษา ฝึกจิตใจ เพื่อเตรียมความพร้อมกลับคืนสู่สังคม

 

เรือนจำพระนครศรีอยุธยาเป็นเรือนจำที่มีทั้งผู้ต้องขังชายและหญิง มีจำนวนผู้ต้องขังรวมทั้งหมด 3,647 คน แบ่งเป็นนักโทษชาย 3,084 คน นักโทษหญิง 563 คน (ข้อมูล เมื่อวันที่ 15 ส.ค.60) ซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่ทั้งหมด 58 ไร่ แดนหญิงจะมีเนื้อที่เพียง 4 ไร่ ส่วนใหญ่ต้องโทษในคดียาเสพติดกว่าร้อยละ 80

ภายในเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพนั้นได้มีการแบ่งส่วนกิจกรรมต่างๆ ให้กับผู้ต้องขังทำกิจกรรมและฝึกอาชีพในระหว่างการคุมขัง หวังให้ผู้ต้องขังได้มีทักษะการใช้ชีวิต ฝึกอาชีพ และมีจิตใจที่ดีขึ้น เช่น มุมสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ เช่น การทำอาหาร เครื่องดื่ม นวด เสริมสวย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมให้ผู้ต้องขังได้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมโยคะ สวดมนต์ และดนตรีบำบัด

"ที่ผ่านมา กว่า 2 ปี ที่ทางเรืองจำได้ปรับมาตรฐานต่างๆ ให้เป็นตามแนวทางของข้อกำหนดกรุงเทพ โดยได้มีการฝึกให้ผู้ต้องหาประกอบอาชีพอย่างจริงจัง การดำเนินการทั้งหมดนี้เห็นได้ชัดว่า ผู้ต้องขังมีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อการใช้ชีวิต เมื่ออกไปก็จะไม่กระทำผิดซ้ำ เพราะเขามีทางเลือกทักษะที่จะใช้ในการประกอบอาชีพ ขอเพียงแต่สังคมให้โอกาสและยอมรับ หาเข้าออกไปสู้สังคมแล้วไม่ได้รับการยอมรับ สังคมควรช่วยกันดูแล" นายอดุลย์ กล่าว

 

น.ส.ยไมพร คงเรือง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง