ทส.-กฟผ.ชี้ ศึกษา EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 3 ปี

สิ่งแวดล้อม
30 ส.ค. 60
14:17
1,112
Logo Thai PBS
ทส.-กฟผ.ชี้ ศึกษา EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 3 ปี
ปลัดทส.ประสานเสียง กฟผ.ยืนยันโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา มีการส่งรายงานอีเอชไอเอ เข้าพิจารณาในคณะกรรมการผู้ชำนาญการ 6 ครั้งและมีการรับฟังเสียงประชาชน โดยใช้กระบวนการถึง 3 ปี ขณะนี้ยังรอส่งรายงานฉบับสมบูรณ์เข้าพิจารณาอีกครั้ง

วันนี้ (30 ส.ค.2560) นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือทส. พร้อมด้วยนางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือสผ.นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. แถลงชี้แจงโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นครั้งแรก

โดยนายสหรัฐ  บอกว่า โครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (2558-2579) เพื่อแก้ปัญหาความไม่มั่นคงระบบไฟฟ้าในภาคใต้ ที่ยังต้องพึ่งพาการส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง โดยมี กฟผ. เป็นผู้รับผิดชอบศึกษาโครงการตามที่ ครม. มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2555 กฟผ. จึงได้เสนอรายงาน อีเอชไอเอ ให้สผ. เมื่อ 30 ต.ค. 2558 และได้มีการประชุมพิจารณารายงานดังกล่าว รวมทั้งหมด 6 ครั้ง

 

 

ซึ่งในกระบวนการจัดทำและพิจารณาอีเอชไอเอ ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นตลอดทุกขั้นตอน โดยมีการรับฟังความคิดเห็นของประชา ชนอย่างน้อย 3 ครั้ง คือ ในขั้นตอนการกำหนดขอบเขตและแนวทางการศึกษาผลกระทบ ขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงาน รวมถึงขั้นตอนการร่างรายงาน และมาตรการต่างๆ เพื่อประกอบศึกษาข้อมูลและจัดทำมาตรการให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ขณะที่ นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่า โรงไฟฟ้าเทพา จะเป็นจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินบิทูมินัส ที่มีคุณภาพมากกว่าถ่านหินลิกไนต์ ที่ใช้ในโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวก็จะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ แต่หากระยะเวลาต่อจากนี้ก็ยังคงเปิดให้ประชาชนสามารถเสนอปัญหาหรือคัดค้านได้เนื่องจากเป็นสิทธิของประชาชนตามกฎหมาย

 

 

นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไป กฟผ. จะใช้เวลาในการศึกษาและจัดทำรายงาน อีเอชไอเอ ประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นคณะกรรมการผู้ชำนาญการจะใช้เวลาในการพิจารณารายงาน อีเอชไอเอ อย่างรอบคอบอีก 1 ปี 10 เดือนรวมเป็นระยะเวลาทั้งหมด 3 ปี ทั้งนี้หลังจากรายงานฉบับสมบูรณ์ได้เสนอต่อคชก. ก่อนจะนำไปเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อประกอบ การพิจารณาของ ครม. ตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเทพา  เป็นโครงการภายใต้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 หรือพีดีพี 2015 เพื่อแก้ปัญหาความไม่มั่นคงระบบไฟฟ้าในภาคใต้ ที่ขณะนี้ยังต้องพึ่งพาการส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง โดยมี กฟผ. เป็นผู้รับผิดชอบศึกษาโครงการตามที่ครม. มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2555 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง