เด็กสาธิตจุฬาฯคว้า 8 รางวัลนวัตกรรมที่เกาหลี

Logo Thai PBS
เด็กสาธิตจุฬาฯคว้า 8 รางวัลนวัตกรรมที่เกาหลี
สาธิตจุฬาฯ ปลื้มเด็กเก่งคว้า 8 รางวัล เหรียญทอง เหรียญเงินในแวทีนวัตกรรมระดับนานาชาติที่ประเทศเกาหลี คิดผลงานใกล้ตัวแก้ปัญหาได้จริง ทั้งไม้เท้าช่วยพยุงเดิน ผลวน SMART WHEELCHAISMART สำหรับผู้พิการทางขา ชี้หนุนเด็กเก่งและกล้าคิด

วันนี้ (1 ก.ย.2560) นายจีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์ ประธานศูนย์นวัตกรรมโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมศึกษา เปิดเผยว่า  ถือเป็นความภาคภูมิใจของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ที่เด็กนักเรียน สามารถคว้ารางวัลจากผลงานนวัตกรรมการประกวดและจัดแสดงนิทรรศการในเวทีระดับนานา ชาติ ประจำปี 2560 “2017 Korea International Youth Olympiad 4I” (Idea, Invention, Innovation, Intellectual Property) ณ สาธารณรัฐเกาหลี รวมทั้งสิ้นจำนวน 8 รางวัลประกอบด้วย

ด.ช.ณัฐพัชร์ ทรัพย์สมพล ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากผลงาน อุปกรณ์ช่วยในการเปิดประตูสำหรับผู้พิการทางขา ด.ช.ณัฏฐดนัย ปิณฑานนท์ ด.ช.ปัณณธร พินิจวงศ์วิทยา ด.ช.ณฤชล ชินวัฒนกุล และด.ช.จีรทีปต์ โฆษะวิสุทธิ์ ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากผลงาน SMART WHEELCHAIR สำหรับผู้พิการทางขา ,ด.ช.มัชฌิมา สุวิชชโสภณ ด.ช.สิรวิชญ์ พิพิธธนาบรรพ์ ด.ญ.อันนา นววิธวัฒนา และด.ช.กร เหมรัญช์โรจน์ได้รับรางวัลเหรียญเงิน จากผลงาน ไม้เท้าช่วยพยุงเดินเพื่อเสริมกำลังใจให้ผู้พิการ 

ด.ญ.ณิชมน สุภัทรเกียรติ ด.ญ.ไอริณรยา โสตางกูร ด.ช.ศุภวิชญ์ วรรณดิลก และด.ช.สุภชีพ สหกิจรุ่งเรืองได้รับรางวัลเหรียญเงิน จากผลงาน อุปกรณ์เสริมพัฒนาการสำหรับผู้พิการทางสมอง และด.ญ. มาวิตรา เตชพลกุล ด.ญ.บุญญาดา แสงมณี และด.ญ.ชุติญา จิตบุญทวีสุข ได้รับรางวัลเหรียญทอง แดง จากผลงานไม้เท้า Hi-tech สำหรับผู้พิการทางสายตา

นายจีระศักดิ์ กล่าวว่า  การแข่งขันในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันจากทั้งยุโรปและเอเชียถึง 12 ประเทศ มีการกำหนดหัวข้อที่ชัดเจน คือ นวัตกรรมเพื่อคนพิการ เราจึงให้เด็กๆ เริ่มต้นคิดจากปัญหา ลงพื้นที่ สอบถามข้อมูลจริง แล้วนำมาคิดและสร้างสรรค์โดยมีอาจารย์ ผู้ปกครอง ทีมงานจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้ามามีส่วนช่วยในการผลิตผลงานออกมาเป็นรูปธรรม

เด็กป.5 คิดนวัตกรรมไม้เท้าช่วยอาม่า 

ด.ช.ณัฐพัชร์ ทรัพย์สมพล เจ้าของผลงานอุปกรณ์ช่วยในการเปิดประตูสำหรับผู้พิการทางขา บอกว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ เพราะใช้เวลาสร้างสรรค์ผลงานกว่า 3 เดือน โดยมีแนวคิดจากปัญหาของอาม่า เนื่องจากต้องนั่งวีลแชร์ จึงไม่สะดวกในการเปิด-ปิดประตู ทำให้อยากช่วยเหลืออาม่า ด้วยการสร้างอุปกรณ์ช่วยในการเปิดประตูสำหรับคนพิการทางขา โดยสามารถใช้กับประตูแบบผลัก-ดึง และเลื่อน เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ได้นำไปให้อาม่าทดลองใช้แล้วได้ผล จึงนำไปพัฒนาเพิ่มแล้วส่งประกวด ลักษณะเด่นของนวัตกรรมชิ้นนี้คือมีลักษณะเหมือนไม้เท้า ความยาวประมาณ 1 เมตรจับและพกพาคล่องตัว เหมาะสำหรับอาม่าใช้เป็นอุปกรณ์เสริมดันประตู เข้าออกได้ง่ายและสามารถเปลี่ยนปลายด้ามเป็นไม้เท้าช่วยพยุงตัวได้อีกด้วย

ด้าน นายชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์ ผู้ปกครอง ด.ช.จีระทีปต์ โฆษะวิสุทธิ์ ผู้ได้รับรางวัลเหรียญทอง ประเภททีม จากผลงาน SMART WHEELCHAIR กล่าวว่า ความแตกต่างของผลงานชิ้นนี้กับวีลแชร์อื่นคือเก้าอี้สามารถเลื่อนลงได้จนติดพื้น ช่วยให้ผู้พิการทางขาขึ้นวีลแชร์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้นและไม่เสี่ยงต่อการเอียงหรือล้มของตัวรถวีลแชร์ นอกจากนี้ยังใช้ระบบไฟฟ้าในการเคลื่อนที่เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้งาน

 


“ดีใจที่ลูกชายประสบความสำเร็จ เนื่องจากได้มีการสอนกระบวนการคิดจากปัญหาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา จนเกิดเป็นการสร้างนวัตกรรมขึ้น ทั้งยังสอนวิธีการใช้เครื่องมือต่าง ๆ จากความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์ที่เรียนมา พยายามหาอุปกรณ์สิ่งของที่ใช้ประโยชน์ได้ อย่างเก้าอี้เครื่องบิน และอุปกรณ์หลายอย่างจากซากเครื่องบินที่ใช้แล้วแต่ยังอยู่ในสภาพดี นำมาปรับใช้กับผลงานเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราสอนเขาอยู่เสมอว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่เหรียญรางวัลใด ๆ แต่เป็นรอยยิ้มของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ คือรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด”

สาธิตจุฬาฯหนุนเด็กกล้าคิดผลงานสู่เวทีโลก 


ด้านนายทินกร บัวพูล ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมศึกษา กล่าวว่า ทางโรงเรียนได้สนับสนุนให้เด็กทุกคนกล้าคิด กล้าแสดงความสามารถ “นับได้ว่าโรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนนำร่อง ด้านการสนับสนุนนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาเข้าร่วมการประกวดนวัตกรรมบนเวทีระดับสากล โดยทางโรงเรียนมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนนักเรียนเข้าร่วมการประกวดต่อไปในอนาคตและมีการวางแผนจดสิทธิบัตรเพื่อให้ผลงานเป็นชื่อของนักเรียนเจ้าของผลงาน สามารถนำไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อนได้จริง ช่วงนี้ภาครัฐและเอกชนก็เริ่มให้ความสนใจและมีการเข้ามาเจรจาพูดคุยเพื่อพัฒนาต่อไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางโรงเรียนสาธิตจุฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมศึกษา ได้มีพิธีมอบนวัตกรรม SMART WHEELCHAIR ให้กับทางนายบรรพต ลายสุวรรณ ผู้ปกครองนักเรียนหญิง อายุ 15 ปี จาก อ.บ้านนา จ.นครนายก ที่ได้รับอุบัติเหตุจากการแพ้ขาจนถูกตัดขา 2 ข้าง

ซึ่งบรรพต บอกว่า “รู้สึกดีใจที่ทางโรงเรียนได้มอบวีลแชร์ให้ น้องก็จะพึ่งพาตัวเองได้ เดินทางสะดวกมากขึ้น แม้ตอนนี้น้องยังอยู่ที่โรงพยาบาลเพื่อฝึกการใช้ขาเทียม แต่การนั่งวีลแชร์นี้สะดวกกว่าเพราะไม่ต้องออกแรงมาก ทำให้น้องไม่เหนื่อยและไม่อันตราย”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง