"change.org" รณรงค์ขอรายชื่อปล่อยจระเข้น้ำเค็ม “เลพัง”

สิ่งแวดล้อม
5 ก.ย. 60
08:58
1,225
Logo Thai PBS
"change.org" รณรงค์ขอรายชื่อปล่อยจระเข้น้ำเค็ม “เลพัง”
สื่อสังคมออนไลน์ change.org ล่ารายชื่อเพื่อขอเสียงสนับสนุนยื่นเสนอต่อกรมประมง เพื่อปล่อยจระเข้น้ำเค็ม “เลพัง” เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าภายใต้บัญชี 1 ไซเตส และสามารถจัดการให้สัตว์หายากอยู่ร่วมกับคนได้

วันนี้ (5 ก.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ change.org ได้ออกแคมเปญขอรายชื่อประชาชน เพื่อนำไปยื่นข้อเสนอต่อกรมประมง ปล่อยจระเข้น้ำเค็มคืนสู่ธรรมชาติ พร้อมตั้งชื่อจระเข้ว่า “เลพัง” หลังจากเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ชุดไกรทองลุ่มแม่น้ำตาปี ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดภาคใต้ สุราษฎร์ธานี เจ้าหน้าที่ภูเก็ตค๊อกโคไดส์เวิลด์ และชาวประมงพื้นบ้านคลองปากบาง ป่าตอง อ.กะทู้ จับจระเข้น้ำเค็มตัวผู้ ความยาวประมาณ 3 เมตรบริเวณขุมเหมืองใกล้กับหาดเลพัง อ.ถลาง จ.ภูเก็ตและนำมาไว้ในบ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเพาะเลี้ยงประมงชายฝั่ง แต่เกิดกระแสของกลุ่มอนุรักษ์เรียกร้องว่าควรปล่อยให้มันกลับคืนสู่ธรรมชาติ เนื่องจากจระเข้น้ำเค็มเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองและหายาก

 

 

ทั้งนี้หลังจาก นายเกริกไกร ทรัพย์รุ่งเรือง ผู้ใช้สื่อออนไลน์ได้รณรงค์ผ่านเว็บไซต์ change.org โดยใช้หัวข้อว่า "ปล่อยเข้เลพัง Please Release Crocodile"จนถึงเวลา 9.00น.วันนี้มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้ว 2,140 คน

ทั้งนี้ภายใต้ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือ CITES นี้ ได้กำหนดให้จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย จระเข้น้ำเค็ม และตะโขง ทั้ง 3 ชนิดที่พบในประเทศไทยเป็นสัตว์ที่มีรายชื่ออยู่ใน CITES Appendix 1 ห้ามไม่ให้ทำการค้าระหว่างประเทศโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการเท่านั้น

 


ด้านนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า ควรย้ายจระเข้น้ำเค็มไปยังพื้นที่รองรับทางธรรมชาติที่เหมาะสมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ควรทำงานร่วมกับกรมประมง เพื่อดูแลรักษาและปล่อยคืนพื้นที่ธรรมชาติ รวมถึงการศึกษาวิจัยเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสม

รวมทั้งเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับจระเข้น้ำเค็ม นอกจากจะช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศแล้ว ยังมีโอกาสส่งเสริมเรื่องของการท่องเที่ยว เอื้อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของมนุษย์กับสัตว์ป่า ซึ่งมีตัวอย่างในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง